วันนี้ (30 มิถุนายน) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมาตรการช่วยเศรษฐกิจ ‘พลังงานสร้างไทย’ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน
- การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เช่น
1.1 การส่งเสริมสินค้าชุมชนผ่านตลาดนัดออนไลน์ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า
1.2 ด้านการท่องเที่ยว จะช่วยกระตุ้นและจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยว เช่น โครงการท่องเที่ยวเขื่อนของ กฟผ. ทั่วประเทศ
1.3 การพิจารณานำไฟฟ้าส่วนเกินมาใช้ประโยชน์ โดยจัดโครงการห้องเย็นบริเวณสถานีไฟฟ้าย่อย และให้เกษตรกรนำผลผลิตมาเก็บรักษาและคิดค่าบริการ ตั้งเป้าภาคละ 1 แห่ง คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในปี 2563-2564 มูลค่ากว่า 3,700 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 1,000 คน
- ด้านพลังงานทดแทน โครงการไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ดำเนินการใน 3 ส่วน คือ
2.1 โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องขนาดกำลังผลิตแห่งละ 3 เมกะวัตต์ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้หญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิง และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ซังข้าวโพดเป็นเชื้อเพลิง
2.2 โรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบ Quick Win กำลังผลิตรวม 100 เมกะวัตต์ โดยเชิญชวนผู้สนใจลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 2563
2.3 โรงไฟฟ้าชุมชนทั่วไป กำลังผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มประกาศเชิญชวนผู้สนใจภายในปี 2563 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ภายในปี 2564
คาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและเกิดรายได้หมุนเวียนในปี 2563-2564 กว่า 30,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 8,000 คน
- ด้านนวัตกรรมจากโครงการต่างๆ คาดว่าจะก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานที่สร้างมูลค่าการลงทุนในปี 2563-2564 กว่า 470 ล้านบาท คาดว่าเกิดการจ้างงานกว่า 350 คน
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานจะเร่งรัดการลงทุนด้านพลังงานในโครงการสำคัญมูลค่ารวม 200,000 ล้านบาท เช่น การลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม การลงทุนพัฒนาและปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าให้พร้อมรองรับพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization) และศึกษาความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการขายไฟฟ้าในอนาคต คาดว่าจะเกิดการจ้างงานกว่า 10,000 คน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล