วันนี้ (14 ก.ค.) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ โชติ โสภณพนิช, ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ อดีต ผอ. NECTEC และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม,ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, ดร.กฤติกา ตันประเสริฐ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ก้องเกียรติ กรสูต ได้ร่วมพบปะหารือกับคณะ ดร.ทาคาฮิโระ ไซโตะ เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่อง Cording, ICT Text Book จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น แต่เป็นการพบปะแลกเปลี่ยนอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนศึกษาประสบการณ์ ซึ่งญี่ปุ่นประกาศใช้เป็นนโยบายเช่นกัน
โดยทาง ดร.ทาคาฮิโระ ไซโตะ กล่าวว่า ในแผนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 5 สู่การเป็นสังคมในอนาคต ญี่ปุ่นควรตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับการศึกษา การเขียนโปรแกรมในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีช่องว่างขนาดใหญ่ของทักษะและความรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมในหมู่นักเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งเกิดจากความแตกต่างในสภาพเศรษฐกิจและสถานะทางสังคม เฉพาะเด็กที่ผู้ปกครองตระหนักถึงความต้องการด้าน ICT และการคิดคำนวณสามารถมีโอกาสพิเศษในการเขียนโปรแกรม
ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา เผยว่า ได้สอบถามถึงการเตรียมตัวสำหรับ ‘การศึกษาโปรแกรม’ ที่กำลังจะมาในญี่ปุ่น อันมีวัตถุประสงค์เพื่อรับความสามารถและทัศนคติที่จะเข้าใจโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน และเพื่อใช้ประโยชน์จากการเขียนโปรแกรม ไม่ใช่เพื่อการเขียนโปรแกรมหลัก (โดยเฉพาะในโรงเรียนประถม) โดยให้ครูและเจ้าหน้าที่หลายคนในคณะกรรมการการศึกษามีส่วนร่วมในกิจกรรมการเขียนโปรแกรม เพื่อเตรียมหลักสูตร เพราะเนื้อหาที่เหลือ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพวกเขาด้วย คณะทั้งหมดใช้เวลาแลกเปลี่ยนกันมากกว่า 2 ชั่วโมง
โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการสรุปต่อไปว่า ประเทศไทยในปัจจุบัน มีคนที่มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์หรือ Coding นำร่องไปก่อนหน้า ซึ่งทำให้สามารถสร้างงานสร้างรายได้ไปส่วนหนึ่งแล้ว
“กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับตัวให้ทันโลกยุคดิจิทัล โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังจะมีการประมูลเทคโนโลยี 5G ภาษาคอมพิวเตอร์จำเป็นอย่างยิ่ง ต้องเป็นภาษาที่ 3 ของการเรียนการสอน แต่ต้องศึกษาว่าจะเริ่มต้นในระดับใด ภายใต้นโยบายที่ว่า ต้องให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมทั่วไทย” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล