×

‘พาณิชย์’ ชี้จุดต่าง RCEP จากข้อตกลงอาเซียนเดิม ย้ำไทยได้ประโยชน์การค้า-ลงทุน

16.11.2020
  • LOADING...
‘พาณิชย์’ ชี้จุดต่าง RCEP จากข้อตกลงอาเซียนเดิม ย้ำไทยได้ประโยชน์การค้า-ลงทุน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่เพิ่งลงนามไป 15 ประเทศนั้น ยังต้องผ่านขั้นตอนการขอมติจากสภาเพื่อกลับมาให้สัตยาบัน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเห็นผลในช่วงกลางปี 2564 และหวังว่าอินเดียจะกลับมาเข้าร่วมกับ RCEP เช่นกัน

 

ทั้งนี้ RCEP ส่งผลให้กลุ่มสินค้าของไทยจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับ FTA ที่ไทยมีอยู่ เช่น สินค้าประมง, แป้งมันสำปะหลัง, สับปะรด, น้ำมะพร้าว, น้ำส้ม, อาหารแปรรูป, ผักผลไม้แปรรูป, กระดาษ, ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า, พลาสติก, เคมีภัณฑ์, ชิ้นส่วนยานยนต์, เส้นใย, เครื่องแต่งกาย, รถจักรยานยนต์ เป็นต้น

 

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า RCEP มีเป้าหมายที่จะให้สมาชิกลดภาษีสินค้าเฉลี่ย 90-92% ในส่วนของไทยอยู่ที่ 91.3% โดยตัว RCEP เองมีส่วนที่เพิ่มเติมและขยายมาจากข้อตกลงอาเซียนบวกหนึ่งที่เคยมีก่อนหน้านี้ ได้แก่ 

 

  • ทรัพย์สินทางปัญญา มีการเพิ่มเติมเรื่องภาคีการตกลงที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์บนสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเดิมกรมทรัพย์สินทางปัญญามีแผนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่แล้ว เพื่อปรับรูปแบบของกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนไป
  • ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความร่วมมือในเรื่องการใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก
  • การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ โดยเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งลดความกังวลของไทยได้ส่วนหนึ่ง เพราะไม่มีข้อบทให้สมาชิกต้องเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

 

อย่างไรก็ตาม RCEP อาจส่งผลต่อบางอุตสาหกรรมของไทย ดังนั้นทางภาครัฐจะมีการเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรืออาจได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ มาหารือ

 

ทั้งนี้ทางกระทรวงพาณิชย์มีการติดตามสถานการณ์ และหากต้องใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) เพื่อป้องกันการทุ่มตลาด ต้องมีข้อมูลและผล เพื่อพิสูจน์ได้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อธุรกิจภายในประเทศ

 

อย่างไรก็ตามมองว่า RCEP จะเพิ่มโอกาสบริการและการลงทุนของไทย ผ่านการลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคบริการหรือการลงทุนที่ไม่ใช่ภาคบริการ รวมถึงการเปิดตลาดของประเทศสมาชิก สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศภาคี RCEP ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ฯลฯ และไทยจะมีโอกาสต่อยอดเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดเป้าหมายการส่งเสริม อุตสาหกรรม S-Curve ตามนโยบายรัฐบาล 

 

นอกจากนี้จุดเด่นของ RCEP คือการขยายห่วงโซ่อุปทานจากการสะสมถิ่นกำเนิดในภูมิภาค ทำให้เกณฑ์การเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้นจากทั้งในและนอกภาคี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับความตกลงการค้าเสรีอาเซียนและอาเซียน+1 ที่ภาคีสามารถสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าร่วมกันได้เพียง 10-12 ประเทศเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ความตกลง RCEP จะเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ มีประชากรรวมกันเกือบ 2,252 ล้านคน (คิดเป็น 30.2% ของประชากรโลก) มี GDP กว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 30% ของ GDP โลก) มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 326 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 27.4% ของมูลค่าการค้าโลก)

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising