×

ค่าจ้างขั้นต่ำปี 63 ปรับขึ้น 5-6 บาท ความท้าทายต่อธุรกิจ SMEs ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

15.12.2019
  • LOADING...

ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 20 มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในปี 2563 อีก 5-6 บาท มาอยู่ในช่วง 313-336 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 321.09 บาทต่อวัน จากอัตรา 308-330 บาทต่อวัน เฉลี่ย 315.97 บาทต่อวัน ในช่วงปี 2561-2562 หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.6% จากปี 2562 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 ต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ GDP ดังต่อไปนี้

 

ผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการในปี 2563: โดยทั่วไปแล้วการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ สูงขึ้นในอัตราที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมนั้นๆ โดยอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-Intensive) และพึ่งพิงแรงงานไร้ฝีมือ หรือลูกจ้างชั่วคราว / ลูกจ้างรายวันที่อ้างอิงตามการจ่ายค่าแรงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น ลูกจ้างในภาคเกษตรกรรม ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก / ร้านสะดวกซื้อ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีเป็นหลักในการผลิตสินค้าและบริการ

 

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี 2560 จะเห็นว่า สถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) มีการจ้างแรงงานในระบบ (รวมแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 82% ของจำนวนลูกจ้างเอกชนทั้งหมด อีกทั้งมีอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ทั้งหมดอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 80 จึงทำให้ SMEs ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าสถานประกอบการขนาดใหญ่ 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 ต่อต้นทุนรวมของสถานประกอบการขนาดต่างๆ พบว่า หากค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้น 1.6% จะทำให้ต้นทุนรวมของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 0.3% ในปี 2563

 

ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563: โดยทั่วไปแล้วการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าในประเทศปรับตัวสูงขึ้นผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ การส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค และกำลังซื้อส่วนเพิ่มของผู้บริโภคจากรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 ยังอยู่ในกรอบที่จำกัด โดยผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีกราว 0.05% จากประมาณการพื้นฐาน

 

ผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2563: แน่นอนว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 1.6 จะส่งผลสุทธิทางลบประมาณร้อยละ 0.01 ต่อจีดีพีไทยในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว การปรับขึ้นราคาสินค้าในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจำต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดไว้เอง ซึ่งอาจจะกระทบขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาผู้ประกอบการ SMEs

 

อย่างไรก็ตาม แม้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 อีก 5-6 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบในระดับมหภาคอย่างไม่มีนัยสำคัญ แต่หากพิจารณาในระดับจุลภาคแล้ว การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ในระดับที่แตกต่างกัน โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ค้าปลีก-ค้าส่ง ก่อสร้าง และภาคเกษตรกรรม

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising