วานนี้ (15 พฤศจิกายน) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 23 ‘ทิศทางการบำบัดยาเสพติดในอนาคต : ประมวลกฎหมายยาเสพติดสู่การปฏิบัติ’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2566 พร้อมมอบรางวัลมินิธัญญารักษ์ คู่มือมินิธัญญารักษ์ และมอบนโยบายด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข ตามแผนปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win)
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยยึดหลักการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดและฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ที่กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการบำบัดและฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ให้ได้รับการดูแลอย่างครบวงจร
รวมถึงประสานกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามช่วยเหลือดูแลผู้ผ่านการบำบัดให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีงานทำ และอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย ไม่กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดให้เรื่องจิตเวชและยาเสพติดเป็นหนึ่งใน Quick Win ที่จะดำเนินการให้เห็นผลใน 100 วัน
โดยมีการตั้งมินิธัญญารักษ์ทุกจังหวัด มีหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง รวมทั้งมีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดครบทุกโรงพยาบาลชุมชน ให้การดูแลทั้งผู้ใช้ ที่มีการใช้ยาเสพติดเป็นครั้งคราว จะเน้นการบำบัดฟื้นฟูโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน, ผู้เสพ ที่มีการใช้ยาบ่อยขึ้นจนมีอาการอยากใช้ยาต่อ และผู้ติดยาเสพติด ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดในสถานพยาบาล โดยจะใช้ระยะเวลาดูแล 4-6 เดือน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีสถาบันบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักในการบำบัดรักษา รวมถึงการวิจัย ถ่ายทอด พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการบำบัดรักษายาเสพติดให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข
เช่น กระทรวงกลาโหม, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงมหาดไทย, ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ได้จัดให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานด้านวิชาการ ทักษะ และเทคนิคในการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานได้จริงถึงร้อยละ 90
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การติดยาและสารเสพติดมักพบร่วมกับปัญหาทางจิตเวชได้บ่อย โดยปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นพบว่าร้อยละ 60 มักเกิดจากผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยยาเสพติดรวมทั่วประเทศไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ กรมการแพทย์โดย สบยช. และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง จึงร่วมกันพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูชื่อ ‘มินิธัญญารักษ์’
เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการในผู้ป่วยติดยาและสารเสพติดให้ได้รับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีความพร้อมและศักยภาพในการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ทั้งระยะเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน การดูแลระยะกลาง และการบำบัดฟื้นฟูระยะยาว ช่วยลดอันตรายจากการใช้ยาและสารเสพติด โดยมีเป้าหมาย 1 จังหวัด 1 มินิธัญญารักษ์ ตามนโยบาย Quick Win 100 วันของรัฐบาล
ด้าน นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการ สบยช. กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2566 มีการบำบัดผู้ติดยาเสพติดทั้งประเทศรวม 186,104 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 168,369 คน เพศหญิง 17,735 คน ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือมากกว่า 39 ปี จำนวน 57,048 คน คิดเป็นร้อยละ 30.65 รองลงมาคือวัยรุ่นอายุ 18-24 ปี จำนวน 31,667 คน คิดเป็นร้อยละ 17.02 และอายุ 25-29 ปี จำนวน 31,581 คน คิดเป็นร้อยละ 16.97 ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ว่างงาน และการเกษตร โดยเป็นการใช้ยาบ้ามากที่สุด ร้อยละ 84.54 ตามด้วยเฮโรอีน ร้อยละ 4.05 และกัญชา ร้อยละ 3.46
แยกเป็นเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ร้อยละ 57.29 ผู้ป่วยในระยะบำบัดด้วยยา ร้อยละ 5.74 ผู้ป่วยในระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ ร้อยละ 0.6 ฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชน ร้อยละ 8.41 และอื่นๆ ร้อยละ 27.96 ทั้งนี้ สบยช. และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพที่มีความยุ่งยากซับซ้อน จำนวน 11,080 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยนอก จำนวน 5,630 คน คิดเป็นร้อยละ 50.81 และผู้ป่วยใน จำนวน 5,424 คน คิดเป็นร้อยละ 49.19