วันนี้ (5 มิถุนายน) ถูกกำหนดให้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก สำหรับปีนี้สภาวะโลกเดือดกลายเป็นปัญหาหลักที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ร่วมกับโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) องค์กร Protection International (PI) ซึ่งประกอบไปด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากหลากหลายเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบและกำลังจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง จึงได้ร่วมกันเปิดปฏิบัติการฟ้องยกเลิกนโยบายเพื่อแก้โลกเดือด
ปัญหาเรื่องเหมืองแร่เป็นตัวการทำให้เกิดสภาวะโลกเดือด
จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กล่าวว่า เราเห็นถึงความจำเป็นจากสถานการณ์เหมืองแร่ในปัจจุบันที่ตอนนี้กลายเป็นปัญหาหลักของประเทศ และเป็นปัญหาที่พี่น้องออกมาเรียกร้องในหลายพื้นที่ และหากเราติดตามการเคลื่อนไหวจะเห็นได้ชัดพอสมควรว่า ส่วนที่เป็นปัญหาคือแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ที่ปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมากกับทุกพื้นที่ ทั้งเรื่องของแนวคิดและการปฏิบัติที่แผนแม่บทตัวนี้มีหลายเรื่องที่ขัดกับ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งสถานการณ์โลกเดือดในขณะนี้ เราก็คิดว่าประเด็นปัญหาเรื่องเหมืองแร่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากๆ ที่เป็นตัวทำลายทรัพยากรจนทำให้เกิดสภาวะโลกเดือดขึ้น
จุฑามาสกล่าวอีกว่า หลายคนจะมองข้ามไปที่แร่ แต่ไม่ได้คิดถึงว่าก่อนที่จะมาเป็นแร่เขาเคยเป็นอะไรมาก่อน เหมืองหินเรามองเห็นแค่เหมือง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นภูเขาทั้งลูกที่มีระบบนิเวศที่สำคัญต่อชุมชน หรือแม้แต่เหมืองถ่านหินหรือเหมืองทองเองก็อยู่ในพื้นที่ที่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คนไม่เคยเห็น และการทำให้เกิดเหมืองแร่ขึ้นต่อไปในประเทศเรื่อยๆ หมายความว่าเรากำลังสูญเสียทรัพยากรเหล่านี้ โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
จุฑามาสกล่าวว่า สำหรับเหมืองแร่ในประเทศไทย ชนิดที่น่าเป็นห่วงมากในตอนนี้อย่างแรกเลยคือเหมืองโพแทชที่มีอยู่มากในภาคอีสาน ที่ตอนนี้กำลังกลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ทำเหมืองแล้วคือผลกระทบที่มันทำลายล้างผืนดิน ชาวบ้านที่อยู่รอบบริเวณเหมืองไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้อีกแล้ว พอมันเกิดขึ้นจึงต้องถูกตั้งคำถามและต้องถูกตรวจสอบก่อนที่จะเปิดขยายเหมืองแร่ชนิดนี้ออกไป ทั้งในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ สกลนคร หรืออุดรธานี ที่เป็นแหล่งแร่ขนาดใหญ่ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกิดขึ้น
จุฑามาสกล่าวอีกว่า เหมืองชนิดที่สองคือเหมืองหิน ที่ตอนนี้กลายเป็นเป้าหมายหลักอีกหนึ่งอย่างของรัฐบาลที่เป็นข้ออ้างในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ต้องใช้หินจำนวนมาก ทั้งหินอุตสาหกรรมก่อสร้างและหินปูน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันทำลายระบบนิเวศหลักของคนในชุมชน คนในท้องถิ่น เพราะภูเขาหินปูนเหล่านั้นคือแหล่งน้ำซับซึมของคนในพื้นที่ เป็นแหล่งรวมอาหาร เป็นศูนย์กลางอะไรหลายๆ อย่างของคนในชุมชน คนในท้องที่ อันนี้เป็นผลกระทบที่สำคัญ
“ดังนั้นเนื่องในวันที่ 5 มิถุนายนนี้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก การมีสิ่งแวดล้อมที่ดีจึงต้องไม่มีเหมืองที่สร้างผลกระทบให้กับคนในพื้นที่ เราเลยจะเปิดปฏิบัติฟ้องยกเลิกนโยบายแร่เพื่อแก้โลกเดือด โดยเราจะฟ้องคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นคนพิจารณาแผนแม่บทแร่ และคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ในฐานะที่เป็นคนจัดการแผนแม่บท ต่อศาลปกครองสูงสุด ให้เพิกถอนเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งขณะนี้เราได้รวบรวมข้อมูลกันแล้ว และพี่น้องในแต่ละพื้นที่ที่จะร่วมฟ้องกับเราจะเริ่มเก็บข้อมูลเพื่อเขียนในคำฟ้อง และในช่วงต้นเดือนกันยายนเราจะยื่นฟ้องกัน” จุฑามาสกล่าว
ย้ำสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมคือสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต้องได้รับ
สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า สิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมคือสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต้องได้รับ เราเห็นว่าทุกคนในรุ่นปัจจุบันควรมีสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอต่อความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีพ โดยไม่ทำให้สิทธิของคนรุ่นถัดไปแย่ลงหรือเสื่อมคุณภาพในการที่จะใช้สิ่งแวดล้อมในอนาคต และเราทุกคนรวมถึงรัฐต้องดำเนินการให้สิทธิที่จะอาศัยอยู่โดยปราศจากมลพิษ ความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมที่ส่งผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่คุกคามต่อชีวิต สุขภาพอนามัย วิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ที่ดี หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน เกิดขึ้นให้ได้
เมื่อการบริหารจัดการแร่ในปัจจุบันไม่เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ ภายใต้ดุลยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน มีเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองที่ได้รับประโยชน์ รวมถึงก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชน และกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยที่รัฐและผู้ก่อมลพิษไม่มีมาตรการในการแก้ไขเยียวยาอย่างเป็นธรรม การใช้สิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดแผนแม่บทในการบริหารจัดการแร่จึงเป็นอีกเส้นทางที่ประชาชนจะก้าวเดิน
โต้นายกรัฐมนตรีแปลงผืนดินให้เป็นสินทรัพย์ของนายทุน
ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection International ระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีแจ้งว่า เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก คณะรัฐมนตรีให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความรู้กับทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการฟื้นฟูที่ดิน การลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้แก้ปัญหาโลกเดือดและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติอยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในผู้ถูกฟ้อง และที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกระทรวงหลักที่ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงอื่นๆ แปลงผืนดินให้เป็นสินทรัพย์ แต่ไม่ใช่สินทรัพย์ของประชาชน เพราะผู้ที่จะได้รายได้เต็มๆ คือเอกชนหรือทุนที่ถือใบประทานบัตรเหมืองแร่ การเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนแร่เป็นสิ่งที่ขัดแย้งและเป็นอุปสรรคกับนโยบายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการบรรลุตามเป้าหมายกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และความตกลงปารีสที่นายกรัฐมนตรีไปประกาศบนเวทีต่างๆ เช่น เวที COP ระบุว่าแผนแม่บทแร่ฯ ฉบับที่ 2 ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ควรจัดทำแผนใหม่
ขณะที่ เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ตัวแทนจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ระบุว่า แผนแม่บทบริหารจัดการแร่จะรวมเรื่องสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง การกำหนดเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ หรือพื้นที่ห้ามทำเหมืองตามมาตรา 17 วรรค 4 ใน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 เช่น พื้นที่แหล่งน้ำซับซึม ซึ่งจะต้องมีเขียนไว้ ดังนั้นรัฐควรจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริงแล้วนำไปบรรจุในแผน แต่ที่ผ่านมาเราพบว่าการเชิญให้รับฟังความคิดเห็นเหมือนจัดเป็นเพียงพิธีกรรมให้มันเสร็จๆ ไปว่าฉันได้จัดเวทีรับฟังแล้ว ถือว่าการรับฟังนี้เสร็จสิ้น และนำไปเสนอตามขั้นตอน แล้วสุดท้าย ครม. ก็ออกมา ก็เท่ากับว่าแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ไม่ได้ยึดโยงเกี่ยวกับประชาชนเลย
นอกจากนี้ ภาคประชาชนก็ได้คัดค้านแผนแม่บทแร่ฯ มาตั้งแต่ฉบับที่ 1 เนื่องจากรัฐใช้ฐานข้อมูลเดิม โดยการยึดเอาพวกคำขอประทานบัตร คำขออาชญาบัตรเดิม และพื้นที่ทำเหมืองแร่เดิม มากำหนดและประเมินพื้นที่ศักยภาพแร่แต่ละจังหวัด โดยไม่ได้กำหนดหรือศึกษาจริงเลยว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสม เขตศักยภาพแร่ควรจะเป็นบริเวณไหน และเป็นพื้นที่แหล่งน้ำซับซึมหรือไม่ กระทั่งแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) ออกมา มันก็มีปัญหากับประชาชนที่อยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง เขาต้องได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ แต่มันไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของเขา
“เราจึงเห็นชอบร่วมกันที่จะมีการฟ้องคดี เพื่อให้สังคมตระหนักรู้ว่าแผนแม่บทแร่ฯ ฉบับที่ 2 ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ควรที่จะมีการจัดทำแผนใหม่” ตัวแทนจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าว
ขณะที่ จงดี มินขุนทด ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า เป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะใช้วันที่ 5 มิถุนายน 2567 วันสิ่งแวดล้อมโลก ในการแสดงออกและยื่นฟ้อง เพื่อให้กฎหมายที่ตอนนี้ถูกใช้ ถูกควบคุมแบบไม่ถูกต้องได้อย่างถูกต้อง คือกฎหมายแร่ตอนนี้เหมือนออกมาเพื่อให้นายทุนใช้ แต่ผลกระทบต่างๆ เวลาเกิดขึ้นชาวบ้านเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด พวกเราอยากแก้ไขให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และอยากจะบอกกับพี่น้องในพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบว่า การเข้ามาของอุตสาหกรรมการทำเหมืองสร้างผลกระทบให้กับคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบชุมชนเยอะมาก สร้างผลกระทบทั้งตอนนี้และในอนาคตที่ยากจะฟื้นฟู เพราะฉะนั้นเวลามีอุตสาหกรรมการทำเหมืองเราต้องศึกษาให้ดีว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง เราจึงจำเป็นมากๆ ที่จะต้องร่วมกันฟ้องนโยบายแร่เพื่อแก้โลกเดือด
ด้าน ปิยะพงษ์ แสนต่างใจ ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์ภูเต่า กรณีเหมืองหินทรายเพื่ออุตสาหกรรม จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า เราจะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ร่วมฟ้องนโยบายแร่เพื่อแก้โลกเดือดในครั้งนี้ด้วย เพราะเราเห็นผลกระทบจากแผนแม่บทที่เขาทำมา โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่เรามีร่องน้ำธรรมชาติที่ทับในพื้นที่ของเราด้วย ทำให้ได้รับผลกระทบ จึงร่วมฟ้องในครั้งนี้ และเราอยากให้คนในชุมชนของเราและชุมชนอื่นๆ ที่อาจยังไม่มีการประกาศเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเล็งเห็นว่า เมื่อมีการทำเหมืองใกล้กับพื้นที่ชุมชนไหน ในชุมชนนั้นย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการขุดเจาะผืนดิน ส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมของโลก เป็นปัจจัยทำให้เกิดสภาวะโลกเดือด และทำให้เกิดฝุ่นใยหินที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างร้ายแรง ส่วนเหมืองที่ใช้การระเบิดก็หนีไม่พ้นปัญหาเรื่องแรงสั่นสะเทือน และปัญหาเสียงที่เกิดขึ้นจากการระเบิดหิน เราอยากให้คนเล็งเห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา จึงเข้ามาร่วมฟ้องนโยบายแร่เพื่อแก้โลกเดือดในครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองและเตรียมยื่นฟ้องในครั้งนี้ประกอบด้วย
- นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองหินปูน
- นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองหินทรายเพื่อการอุตสาหกรรม
- นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ
- กลุ่มรักษ์ดงลาน กรณีเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น
- นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่โพแทช
- นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กรณีเหมืองแร่โพแทช อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
- เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ป่าภูซำผักหนาม กรณีเหมืองหินปูนเพื่ออุตสาหกรรม อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
- กลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรัง ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล กรณีเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหิน
- กลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง กรณีเหมืองถ่านหิน
- กลุ่มอนุรักษ์หินจอก อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง กรณีเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหิน
- กลุ่มรักเขาคอก กรณีเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินบะซอลต์ ตำบลเขาคอก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
- กลุ่มอนุรักษ์ภูเต่า กรณีเหมืองหินทรายเพื่ออุตสาหกรรม จังหวัดมุกดาหาร