ภาพของควันจากโรงงานค่อยๆ ล่องลอยบดบังก้อนเมฆสีขาวบนท้องฟ้า น้ำเสียปนเปื้อนสารพิษถูกปล่อยปะปนลงสู่น้ำทะเล เทคโนโลยีก้าวหน้าไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนที่หากินบนความทุกข์ทรมานของชาวบ้าน
ภาพยนตร์เรื่อง Minamata มินามาตะ ภาพถ่ายโลกตะลึง อิงมาจากเหตุการณ์จริงอันน่าสะเทือนใจที่เกิดขึ้นกับชุมชนริมฝั่งทะเลเมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อชาวบ้านต้องเผชิญกับผลกระทบของมลพิษที่ถูกปล่อยมาจากโรงงานบริษัทชิสโซะเป็นเวลานาน จนกลายเป็นโรคที่รู้จักกันในชื่อ ‘โรคมินามาตะ’ ที่บริษัทและรัฐบาลพยายามปกปิดความจริงเพื่อปัดความรับผิดชอบ
โดยในปี 1971 ดับเบิลยู ยูจีน สมิธ บุคคลจริงในประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงในฐานะช่างภาพสงคราม และมีผลงานอื่นๆ ที่ทรงอิทธิพลไม่แพ้กัน เขาหยิบกล้องเดินทางไปบันทึกวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองมินามาตะที่ต้องต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม แล้วจึงตีพิมพ์ผลงานเป็น Photo Essay ชิ้นสุดท้ายของเขาออกมาเผยแพร่ให้โลกได้รับรู้ผ่านทางนิตยสาร LIFE
ในภาพยนตร์ได้ดัดแปลงจากเหตุการณ์จริงไปส่วนหนึ่ง โดยเรื่องราวเริ่มต้นเมื่อ ดับเบิลยู ยูจีน สมิธ (รับบทโดย จอห์นนี เดปป์) และ ไอลีน สมิธ (รับบทโดย มินามิ) ภรรยาของยูจีน พวกเขาทั้งคู่พบกันที่อเมริกา ก่อนจะออกเดินทางมายังเมืองมินามาตะตามคำร้องขอความช่วยเหลือของไอลีน
“คนพื้นเมืองอเมริกันเชื่อว่า ภาพถ่ายจะดูดวิญญาณคนที่ถูกถ่ายเข้าไป แต่มันก็ดูดวิญญาณของคนถ่ายได้เหมือนกัน”
ก่อนหน้านี้ยูจีนเคยมาญี่ปุ่นเพื่อเก็บภาพความโหดร้ายในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเหตุการณ์นั้นยังตามหลอกหลอนในฝันร้ายอยู่เนืองๆ ชีวิตการงานของเขาได้ผ่านจุดสูงสุดและมีคนนับถือมากหน้าหลายตา แต่ในแง่ชีวิตส่วนตัว ความสัมพันธ์ของเขากับลูกๆ และเพื่อนร่วมงานกลับไม่ค่อยดีเท่าไรนัก
คาแรกเตอร์ของยูจีนวัย 50 กว่าๆ กลายเป็นชายหมดไฟที่พูดจาขวานผ่าซากบางครั้ง ขณะเดียวกันก็มีสเน่ห์ในแบบที่ทำให้พอยิ้มได้บ้างท่ามกลางความหดหู่ ส่วนหนึ่งเรารู้สึกว่าเป็นเพราะการแสดงของจอห์นนี เดปป์ด้วย ที่ไม่ว่าจะสวมบทบาทแปลงโฉมเป็นใครก็ยังเห็นความแพรวพราวของเขาได้ชัดเจนอยู่เสมอ
โดยเฉพาะฉากคู่กับไอลีน หญิงสาวที่ทุ่มเทให้กับการต่อสู้ครั้งนี้ไม่แพ้กัน เธอเป็นคนคอยแปลภาษา ประสานเรื่องต่างๆ และสอนคนนอกอย่างยูจีนเรื่องมารยาทของคนญี่ปุ่น เช่น การถอดรองเท้าเมื่อเข้าบ้าน การโค้งตัวเวลาขอบคุณหรือขอโทษ ซึ่งเป็นความใส่ใจที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญมากๆ เมื่อเข้าไปอยู่ในที่ที่แตกต่างกันทางวัฒนธรรม
ประเด็นหนึ่งที่หนังเน้นย้ำคือจรรยาบรรณการรักษาความเป็นส่วนตัวผู้ที่ถูกถ่าย แน่นอนว่ายูจีนต้องการถ่ายให้เห็นใบหน้าและแววตาชัดๆ เพื่อสื่อสารเรื่องราวออกมาให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ป่วยที่จะอยากให้ภาพของตัวเองถูกบันทึกเก็บเอาไว้ หลายคนเพียงอยากอยู่เงียบๆ เพราะบอบช้ำจนเหนื่อยแรงจะต่อสู้แล้ว ซึ่งจุดเปลี่ยนคือการที่ยูจีนพูดกับชาวบ้านอย่างจริงใจว่า เขามาที่นี่เพื่ออยากจะช่วยเผยแพร่เรื่องราวออกไปสู่สายตาคนทั้งโลก จนท้ายที่สุดเขาจึงได้รับความไว้วางใจชาวบ้าน
ไม่มีใครอยากจะเป็นจุดสนใจหรือถูกมองด้วยความสงสาร เพียงแต่ว่าพวกเขาไม่เคยได้รับความยุติธรรมจากคนที่สมควรรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที
อีกฉากสำคัญที่เราประทับใจคือฉากการเจรจากับประธานบริษัทชิสโซะ ชายใส่สูทผู้ที่ก่อนหน้านี้พูดด้วยแววตาไม่รู้สึกรู้สาอะไรว่า เขาสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ออกมาตั้งมาก ทำให้เกิดการจ้างงานภายในเมือง และคนที่ป่วยก็เป็นเพียงจำนวนหนึ่งในล้านของภาพรวมทั้งหมด เมื่อถึงเวลาต้องเผชิญหน้ากับผู้คนที่ถูกตีค่าเป็นแค่ตัวเลข ได้เห็นความโกรธแค้นในแววตาผู้ประท้วงที่จ้องมองอย่างไม่ลดละ จึงเป็นตัวประธานและผู้เกี่ยวข้องเองต่างหาก ที่สมควรจะต้องละอายจกับการกระทำอันโหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยการก้มหน้าหลบตาของคนอื่นตลอดไป ไม่ใช่เหยื่อที่ได้รับผลกระทบเลย
และฉากที่ทรงพลังที่สุดเช่นเดียวกับภาพ Tomoko Uemura in Her Bath (หรือ Tomoko and Mother in the Bath) คือตอนที่ครอบครัวชาวญี่ปุ่นยินยอมให้ยูจีนกับไอลีนถ่ายภาพลูกของพวกเขาซึ่งดูดซับสารพิษจากร่างกายของแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ภายในหนึ่งภาพบันทึกเหตุการณ์เพียงเสี้ยววินาที ไร้ซึ่งเสียงและไร้การเคลื่อนไหว เรามองเห็นความโหดร้ายที่เด็กคนหนึ่งได้รับทางกายภาพด้วยสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็มองเห็นความงดงามและความรักอันล้นเหลือของแม่ที่กำลังอาบน้ำให้ลูกอย่างอ่อนโยน
Tomoko Uemura in Her Bath ถ่ายโดย ดับเบิ้ลยู ยูจีน สมิธ ในปี 1972
หนังใช้การตัดสลับไปเป็นภาพขาวดำและสัดส่วนตามแบบกล้องฟิล์มเหมือนที่ยูจีนใช้เป็นระยะๆ จำลองให้ยิ่งรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวจริงทั้งภาพของผู้คนในเมืองหรือการชุมนุมประท้วงต่อบริษัทชิซโซะ น่าเศร้าที่เหตุการณ์นั้นยูจีนเองก็ได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายอย่างสาหัสจนดวงตาข้างหนึ่งสูญเสียการมองเห็นไป
เมื่อผลงาน Photo Essay ได้ถูกตีพิมพ์ออกไปผ่านนิตยสาร LIFE จนกลายเป็นงานทรงอิทธิพลชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สื่อมวลชนทำหน้าที่ช่วยตีแผ่เรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้าน ในภายหลัง ทางบริษัทยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับเหยื่อเต็มจำนวน ถือเป็นชัยชนะของประชาชนที่พยายามเรียกร้องกันมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องความรับผิดชอบจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังดำเนินต่อมาหลังจากนั้นเรื่อยมา เพราะพวกเขาไม่ได้เพียงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง แต่เพื่อลูกหลานในอนาคตและผู้คนอีกจำนวนมากที่ไม่ควรมีใครได้รับบาดแผลทั้งทางกายและทางใจแบบนี้อีกแล้ว
บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง โดยมีการปรับปรุงกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมภายในประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งขยายมาเป็นปัญหาระดับนานาชาติที่หลากหลายประเทศได้ร่วมมือกันจัดทำ ‘อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทฯ’ เพื่อควบคุมการใช้สารปรอทของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยก็ได้ร่วมลงนามแล้วเช่นกัน
รับชมตัวอย่าง Minamata ได้ที่นี่
อ้างอิง: