×

การยื้ออำนาจของนายพลมิน อ่อง หล่าย, วิกฤตฝิ่นในอัฟกานิสถาน และการเปลี่ยนทิศทางกลยุทธ์การลงทุนของปู่บัฟเฟตต์: สรุปเหตุการณ์สำคัญปี 2023 ผ่านเลนส์ Nikkei Asia

28.12.2023
  • LOADING...
วิกฤตฝิ่นในอัฟกานิสถาน

ในทุกๆ ช่วงเวลาก่อนสิ้นปี Nikkei Asia จะรวบรวมเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นและได้รับความสนใจจากผู้คนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของปีนั้นๆ

 

สำหรับปี 2023 ประเด็นที่ผู้คนค่อนข้างให้ความสนใจมีตั้งแต่การยื้ออำนาจของนายพลมิน อ่อง หล่าย, วิกฤตฝิ่นในอัฟกานิสถาน ไปจนถึงการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ และอื่นๆ

 

บทความชิ้นนี้เป็นการสรุปจากผลงานบทความฉบับเต็ม 6 ชิ้นที่ถูกตีพิมพ์ลงบนเว็บไซต์ Nikkei Asia เป็นการฉายภาพสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นรอบโลกของปี 2023

 

มิน อ่อง หล่าย กับการยื้ออำนาจที่ตนไม่อยากให้หลุดมือ (1 กุมภาพันธ์)

 

ข้อมูลเกี่ยวกับตัวของ พล.อ. มิน อ่อง หล่าย นั้นมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับระดับอำนาจที่อยู่ในกำมือเขา ในฐานะหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองของภูมิภาคเอเชียนับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2021

 

Nikkei Asia มีความพยายามที่จะค้นหาและทำความเข้าใจถึงแรงจูงใจ รวมถึงลักษณะนิสัยของนายพลคนนี้ผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรงและความสุดโต่งหลังจากที่ตนได้ทำรัฐประหารสำเร็จ

 

Min Aung Hlaing

 

หากจะสรุปสั้นๆ ถึงผลงานความสำเร็จของ มิน อ่อง หล่าย มันคือการนำพาประเทศถอยหลังกลับไปสู่การปกครองโดยรัฐบาลทหาร และลบล้างความพยายามของผู้คนในประเทศตลอด 20 ปีที่ต้องการปฏิรูประบอบการปกครอง โดยการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ชื่อเสียง ‘คนนอกคอก’ ของประเทศเมียนมาหวนกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากมันเป็นการแบ่งแยกความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในอาเซียน และยังทำให้องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาถึงกับเอือมระอา

 

สิ่งที่ทำให้นายพลมิน อ่อง หล่าย แตกต่างคือ ความสามารถในการควบรวมอำนาจโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกที่ให้การสนับสนุนเลย

 

เนื้อหาเกี่ยวกับมิน อ่อง หล่าย เป็นบทความในซีรีส์ ‘Big Story’ ที่ผู้คนอ่านเยอะมากที่สุดบนเว็บไซต์ Nikkei Asia ซึ่งสื่อถึงสัญญาณว่าอย่างน้อยมีผู้ที่สนใจว่า ‘เมียนมา’ ดินแดนที่มีสงครามมายาวนานกว่าช่วงชีวิตของใครหลายคน จะมีหนทางอย่างไรเพื่อพาประเทศไปสู่ความสงบสุข

 

การปฏิวัติความเท่าเทียมทางเพศในวงการภาพยนตร์บอลลีวูด (8 มีนาคม)

 

ประเด็นเรื่องการแบ่งแยกทางเพศภายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดอย่างบอลลีวูด (Bollywood) เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ทำให้ Nikkei Asia ตัดสินใจนำเสนอเรื่องราวนี้เนื่องในวันสตรีสากล (International Women’s Day) เพื่อชี้ถึงที่มาที่ไปและพัฒนาการของความพยายามในการลดปัญหาความไม่เท่าเทียมนี้

 

ผลการสำรวจเผยว่า ความเท่าเทียมทางเพศในอินเดียกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงอาจจะค่อนข้างช้าก็ตาม แต่ก็ถือว่าอินเดียกำลังเดินหน้าไปบนเส้นทางที่ถูกต้องสำหรับประเทศที่มีอัตราแรงงานผู้หญิงที่ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

 

1 ใน 4 ของภาพยนตร์ค่าย Bollywood ในปัจจุบันมีนักแสดงนำที่เป็นผู้หญิงแล้ว เพิ่มจาก 2 ทศวรรษก่อนที่มีเพียงแค่ 1 ใน 10 และสัดส่วนของนักแสดงผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปเริ่มมีบทบาทหลักในภาพยนตร์เพิ่มขึ้นเป็น 33% จากเพียง 3% ในกรอบเวลาเดียวกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวละครผู้หญิงส่วนใหญ่ในภาพยนตร์กลับถูกกำหนดให้รับบทเป็นบุคคลที่ ‘ไม่มีอาชีพ’

 

หลังจากที่บทความนี้เผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ คนในวงการบอลลีวูดต่างพูดว่า ผู้สนับสนุนเงินทุน ผู้กำกับ ผู้เผยแพร่ และสตูดิโอต่างๆ ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่า พวกเขาจะพยายามผลักดันและสนับสนุนเงินทุนในโปรเจกต์ภาพยนตร์ที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมมากขึ้น

 

การเปลี่ยนทิศทางกลยุทธ์การลงทุนของปู่บัฟเฟตต์ (24 พฤษภาคม)

 

วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือปู่บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดังที่เป็นที่รู้จักกันมาอย่างยาวนานถึงแนวทางการลงทุนของคุณปู่ที่เน้นไปที่ตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก แต่ทว่าในช่วงเร็วๆ นี้ของปี 2023 ปู่บัฟเฟตต์ได้ปรับความสนใจและกล้าที่จะโยกเงินลงทุนมาสู่ 5 บริษัทในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมากขึ้น จากผลประโยชน์ดอกเบี้ยที่ต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนทางการเงินในฝั่งสหรัฐฯ

 

นับตั้งแต่ที่สาธารณะได้ทราบข่าวการเข้าลงทุนของ Berkshire Hathaway ในตลาดญี่ปุ่น ดัชนี Nikkei ก็พุ่งขึ้นกว่า 40% ไปทำจุดสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ

 

 

อย่างไรก็ตาม บัฟเฟตต์ได้ถอนเงินลงทุนจากบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจีน BYD อย่างต่อเนื่อง พร้อมให้เหตุผลว่า การขายเป็นไปเนื่องจากทางบริษัทมองเห็นโอกาสอื่นที่น่าลงทุนกว่า แต่บางฝ่ายก็มองว่าความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ในจีนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงของอนาคตอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลของการถอนทุน

 

วิกฤต ‘ฝิ่น’ สร้างความวุ่นวายให้กับประชาชน หลังมีคำสั่งห้ามปลูกจากกลุ่มตาลีบัน (21 มิถุนายน)

 

หนึ่งในนักข่าวของ Nikkei Asia ได้ลงพื้นที่ไปยังประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อสำรวจผลกระทบของการสั่งห้ามปลูกฝิ่นที่ออกโดยกลุ่มกองกำลังตาลีบันเมื่อเดือนเมษายน ปี 2022 ซึ่งอัฟกานิสถานเคยเป็นประเทศที่มีการปลูกฝิ่นปริมาณมากที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในผลผลิตและการจ้างงานหลักของประเทศ แต่หลังจากที่การประกาศสั่งห้าม ผลผลิตฝิ่นลดลงไปกว่า 95%

 

นักข่าวคนนี้พบว่า ปัญหาเสพติดฝิ่นนั้นอยู่ในขั้นวิกฤตทั้งเด็กและสตรี เขาได้พูดคุยกับมาร์วาและครอบครัวชาวอัฟกานิสถานที่ได้ต่อสู้กับการเสพติด จนสามารถตัดขาดจากยาตัวนี้ได้ แต่ทว่าปัญหาที่ใหญ่กว่าการติดยาคือปัญหาเรื่องปากท้อง “ลูกชายของฉันทำงานกลางแจ้งทั้งวันเพื่อแลกกับเงินประมาณ 50-100 บาทต่อวัน ในขณะที่ฉัน สามี และลูกสาว ใช้ชีวิตอยู่บ้าน”

 

เพื่อให้เข้าใจถึงความลำบากของสถานการณ์ นักข่าวถามมาร์วาต่อว่า มีโอกาสหรือไม่ที่พวกเขาจะกลับมาติดการเสพฝิ่นอีกครั้ง สิ่งที่เธอตอบกลับมาคือ “ในตอนนี้กลุ่มตาลีบันทำให้การเข้าถึงยานั้นเป็นไปได้ยากมากๆ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ตอนนี้เราแทบจะไม่มีเงินซื้ออาหารกินแล้ว ฉะนั้นมันก็แทบจะไม่มีเหตุผลที่เราจะคิดถึงเรื่องเสพยาในตอนนี้ ฉันแค่ภาวนาขอให้สามีฉันได้งานทำเสียที” มาร์วากล่าว

 

ถอดภาพฝันศูนย์กลางการผลิตแห่งใหม่ของ Apple ในอินเดีย (2 สิงหาคม)

 

โรงงานผลิตสินค้าของ Apple ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดียตั้งอยู่ที่เจนไน เมืองทางตอนใต้ของประเทศ ในปี 2023 ถือเป็นช่วงเวลาที่คึกคักสำหรับโรงงานแห่งนี้ที่ได้รับคำสั่งจากสำนักงานใหญ่ให้ผลิต iPhone จำนวน 15 ล้านเครื่องในอินเดียภายในปีนี้ อีกทั้งปี 2023 ยังเป็นปีแรกที่การผลิต iPhone ในสเกลที่ใหญ่ของอินเดียใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับจีนทำนำหน้าอยู่เพียงไม่กี่วัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

สาเหตุของการรุกอินเดียเพื่อเตรียมแผนการผลิตนั้นมีผลพวงมาจากความไม่สงบของศูนย์กลางการผลิต iPhone ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเจิ้งโจวเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2022 ที่ผ่านมาจากนโยบาย Zero-Covid 

 

วลีที่ว่า ‘Designed in California, Assembled in China’ กำลังเจอกับแรงกดดันระหว่างสองขั้วมหาอำนาจจีนและสหรัฐอเมริกาที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว

 

ด้วยความไม่มั่นคงนี้ Apple จึงมีความพยายามที่จะลดความเสี่ยงและคว้าโอกาสในตลาดอินเดียที่กำลังเข้าสู่ช่วงเฟื่องฟู โดยทางบริษัทมีเป้าหมายว่าตนจะผลิต iPhone ในประเทศอินเดียเป็นจำนวนอย่างน้อย 20% ของทั้งหมดในอนาคต และมีแผนที่จะโยกย้ายทรัพยากรทีมวิจัยไปที่อินเดีย หมายความว่าอินเดียอาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ขึ้นมาแทนที่จีนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆให้กับ Apple

 

การเตรียมตัวของเมืองชายฝั่งเพื่อรับมือกับน้ำบำบัดจากโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ (9 สิงหาคม)

 

รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัท TEPCO มีประวัติผลงานเกี่ยวกับการรายงานที่ไม่ค่อยดีอยู่หลายครั้งในวิกฤตโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิเมื่อปี 2011 เมื่อเป็นเช่นนั้นการเตรียมปล่อยน้ำบำบัดจากโรงงานจึงเป็นประเด็นที่ผู้คนทั้งในประเทศและประเทศรอบข้างต่างกังวลเป็นอย่างมาก ถึงอันตรายและความปลอดภัยของคุณภาพน้ำจากรังสี

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือความเป็นอยู่ของคนบางกลุ่มที่อาจจะต้องเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการตัดสินใจดังกล่าว

 

 

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม น้ำปริมาณ 23,400 ลูกบาศก์เมตรถูกปล่อยลงสู่ทะเลแปซิฟิกแล้ว ตามมาด้วยการทดสอบน้ำทะเลโดยหน่วยงานทางการของญี่ปุ่นรวมทั้งทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ที่ออกมาระบุว่า น้ำทะเลรวมถึงสิ่งแวดล้อมโดยรอบไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

 

ถึงแม้ว่าสินค้าจากเมืองฟุกุชิมะจะยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติโดยไม่ได้รับแรงกระแทกใดๆ แต่การสั่งห้ามนำเข้าจากฮ่องกงและจีนก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจอาหารทะเลของญี่ปุ่น

 

ในฝั่งของ TEPCO พวกเขาให้เหตุผลว่า การปล่อยน้ำมีความจำเป็นต่อแผนการฟื้นฟู และบริษัทยืนยันว่าจะปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ อย่างเคร่งครัด

 

ส่วนเรื่องที่ว่าคุณภาพของน้ำที่ถูกบำบัดจะไม่สร้างความเสี่ยงหรืออันตรายให้กับสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่นั้น คงมีแต่ ‘เวลา’ ที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงของคำสัญญานี้ได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X