วินาทีที่ MILLI หรือ มิลลิ (มินนี่-ดนุภา คณาธีรกุล) กิน #ข้าวเหนียวมะม่วง บนเวที Coachella เทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก กระแสเมนูของหวานที่ขึ้นชื่อของไทยก็เกิดทันที เกิดการต่อแถวที่ร้าน ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว
เพื่อสะท้อนภาพดังกล่าวให้ชัดเจน THE STANDARD WEALTH จึงได้สอบถามไปยังแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรียักษ์ใหญของไทย 2 ราย คือ Robinhood และ GrabFood สำหรับการฉายภาพให้ชัดเจนมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- MILLI ขึ้นเวที Coachella ตะโกน “กูไม่ได้ขี่ช้างโว้ย” กินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์ สร้างปรากฏการณ์ระดับโลก
- จะปังสุดที่ตรงไหน! MILLI ศิลปินไทยคนแรกที่ได้โชว์และกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที Coachella
- 10 ร้านข้าวเหนียวมะม่วงสุดปัง ที่ไม่สั่งไม่ได้แล้วตอนนี้
สีหนาท ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการ Robinhood แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย กล่าวว่า ภายหลังจากที่ MILLI กินข้าวเหนียวมะม่วง ทำให้จำนวนออร์เดอร์บนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า
โดย 50% ของออร์เดอร์ถูกสั่งในช่วงเวลา 13.00-17.00 น. ขณะที่ 30 % ของออร์เดอร์ถูกสั่งในช่วงเวลา 09.00-13.00 น. และ 20% ของออร์เดอร์ถูกสั่งในช่วงเวลา 17.00-23.00 น.
บริเวณที่มีร้านขายข้าวเหนียวมะม่วงมากที่สุด ได้แก่ จตุจักร, บางกะปิ, วังทองหลาง, ดินแดง, สวนหลวง และเมืองนนทบุรี โดยมีจำนวนออร์เดอร์กว่า 25% จากการสั่งข้าวเหนียวมะม่วงที่สั่งจากร้านในพื้นที่ดังกล่าว
ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่ที่สั่งข้าวเหนียวมะม่วงจาก Robinhood อาศัยอยู่ที่จตุจักร, บางกะปิ, เมืองนนทบุรี, วังทองหลาง, ห้วยขวาง และสวนหลวง โดยมีจำนวนออร์เดอร์กว่า 25% จากการสั่งข้าวเหนียวมะม่วงที่สั่งโดยลูกค้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
TOP 10 ร้านขายข้าวเหนียวมะม่วงขายดี ได้แก่
- ข้าวเหนียวมูนแม่มาลัย
- บ้านขนมถ้วย&ข้าวเหนียวมะม่วงสาขาสุขสวัสดิ์
- ข้าวเหนียวมะม่วงลิงน้อย
- ข้าวเหนียวมะม่วงป้าหวาน ตลาดต้นไม้ชายคา
- ป๊อกข้าวเหนียวมะม่วง ขนมหวาน
- ร้านข้าวเหนียวมะม่วงเจ๊เตียง
- ข้าวเหนียวมูน By รดา (มะม่วง อื่นๆ)
- ข้าวเหนียวมะม่วงแม่น้อย G14
- ป้าหยี ข้าวเหนียวมะม่วง
- ข้าวเหนียวมะม่วง เพื่อค่าเทอมลูก
“ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 การสั่งเมนูข้าวเหนียวมะม่วงอยู่ในลำดับที่ 44 และหลังจากกระแสดังกล่าว ข้าวเหนียวมะม่วงได้ขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 15” สีหนาทกล่าว
แม่ทัพ Robinhood ยังได้เสริมว่า กระแสข้าวเหนียวมะม่วงที่เกิดขึ้นถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศ ทั้งในมุมของร้านค้าที่มียอดขายที่เพิ่มขึ้น สร้างงานให้ไรเดอร์ในช่วงสงกรานต์ที่คนส่วนใหญ่มักเดินทางท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยเกษตรกรชาวสวนมะม่วงท่ามกลางราคาผลผลิตที่ตกต่ำได้อีกทาง ที่แม้อาจจะเป็นกระแสในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็นับว่าช่วยสร้างกำลังใจให้ทุกคนมีพลังและมีแรงฮึดอีกครั้งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในยุคโควิดเช่นนี้
ณ วันที่ 17 เมษายน 2565 Robinhood มีจำนวนร้านค้าที่ให้บริการกว่า 225,000 ร้าน มีไรเดอร์กว่า 30,000 คน และมีจำนวนลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้งานแพลตฟอร์มกว่า 2.8 ล้านคน
ทางด้าน จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อํานวยการฝ่ายการตลาดและพันธมิตรทางธุรกิจ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา จำนวนออร์เดอร์และมูลค่าการสั่งซื้อเมนูข้าวเหนียวมะม่วงผ่าน GrabFood เพิ่มขึ้นกว่าระดับปกติ 4 เท่า
พบว่ามีการสั่งซื้อสูงตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เวลา 13.00-19.00 น. ตลอดจนมีการสั่งซื้อสูงในหลายย่านในกรุงเทพฯ เช่น ทองหล่อ เอกมัย และอ่อนนุช และจังหวัดใหญ่ๆ ได้แก่ เชียงใหม่ และขอนแก่น
โดย 5 ร้านที่ขายดีได้แก่ ข้าวเหนียวมะม่วงแม่วารี, แม่เดือนขนมไทย ตลาดร้อยปี, หวานละมุน, ข้าวเหนียวมะม่วงป้าเล็ก-ป้าใหญ่ และ YenlyYours Dessert
“โดยปกติแล้วข้าวเหนียวมะม่วงเป็นของหวานที่มักติดอันดับเมนูขายดี 3 อันดับแรก แต่เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา พุ่งขึ้นเป็นอันดับ 1 ของเมนูประเภทของหวาน” จันต์สุดากล่าว
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับอิทธิพลของการแพร่ระบาดของโรคโควิด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2565 ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 7.9 หมื่นล้านบาท โดยนอกจากจำนวนผู้ใช้บริการสั่งอาหารเดลิเวอรีจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหารก็หันมาให้ความสำคัญกับการปรับตัวทางธุรกิจ โดยเพิ่มช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรีมากขึ้นเช่นกัน
เห็นได้จากจำนวนพาร์ตเนอร์ร้านอาหารของ GrabFood ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 800% (เปรียบเทียบจากช่วงสิ้นปี 2562 จนถึงปี 2564) จนมีจำนวนมากกว่า 200,000 ร้านในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม กระแสข้าวเหนียวมะม่วงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ราคาของมะม่วงกำลังอยู่ในช่วงตกต่ำในรอบ 10 ปี อ้างอิงรายงานของเว็บไซต์ข่าวสดพบว่า มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเกรดส่งออกเหลือเพียง 20-30 บาทต่อกิโลกรัม จากปีที่ผ่านมากิโลกรัมละ 60-70 บาท
ส่วนมะม่วงเกรดบริโภคภายในประเทศเหลือเพียงกิโลกรัมละ 10-15 บาท บางขนาดเหลือกิโลกรัมละ 1 บาท และเมื่อขายไม่ออกก็ต้องเททิ้งกว่า 100 ตันเลยทีเดียว
ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเผยว่า สถานการณ์การส่งออกมะม่วงสดปี 2564 ไทยส่งออกมะม่วงรวม 4,440.30 ล้านบาท แบ่งเป็นมะม่วงสด มูลค่า 2,934.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.25% จากปี 2563 และมะม่วงกระป๋องมูลค่า 1,505.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.12% จากปี 2563
และปี 2565 (มกราคม – กุมภาพันธ์ 2565) มีปริมาณ 10,398 ตัน มูลค่ารวม 403.51 ล้านบาท แบ่งเป็นมะม่วงสด มูลค่า 177.96 ล้านบาท ลดลง 38.13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันจากปี 2564 และมะม่วงกระป๋องมูลค่า 225.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.78% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันจากปี 2564
โดยมีประเทศ 10 อันดับแรกที่เป็นตลาดส่งออกมะม่วงสดสำคัญของไทย ได้แก่ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เมียนมา ลาว สิงคโปร์ รัสเซีย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจีนตามลำดับ
อ้างอิง: