×

รถด่วนขบวนสุดท้าย เมื่อหญิงไทยแต่งงานเร็วขึ้น และตะวันตกแต่งงานช้าลง

07.05.2019
  • LOADING...
Millennial Couples Married

HIGHLIGHTS

5 Mins. read
  • จากการสำรวจนับตั้งแต่ปี 2006 จนถึงปี 2010 ในประเทศไทย กลับพบว่า หญิงไทยสมรสโดยเฉลี่ยเร็วขึ้น และมีอายุน้อยลงทุกปี จากอายุเฉลี่ยที่ 23.1 ปี ในปี 2006 เป็น 22.2 ปี ใน 2010
  • ชายโสดในสหราชอาณาจักรเริ่มแต่งงานหลังอายุเข้าเลข 3 นับตั้งแต่ปี 1999 ขณะที่ฝ่ายหญิงเริ่มในปี 2010
  • จากสถิติล่าสุดในปี 2016 ของชายและหญิงที่ชอบเพศตรงข้าม อายุเฉลี่ยของคนที่แต่งงาน (ครั้งแรก) อยู่ที่ 33.4 ปี สำหรับชาย และ 31.5 ปี สำหรับผู้หญิง
  • นิค สไตรป์ หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมจากสถาบันสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร อธิบายว่า การทดลองอยู่ก่อนแต่งอาจช่วยอธิบายได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในวัยของคู่แต่งงานที่เราเห็นทุกวันนี้ เนื่องจากผลสำรวจเผยให้เห็นว่า โดยเกือบ 90% ของคู่รักที่แต่งงานในปี 2016 อยู่ก่อนแต่ง

คนไทยและผู้คนในแถบเอเชียพูดถึง ‘รถด่วนขบวนสุดท้าย’ บนชานชาลาของความโสด เป็นการเตือนใจผู้หญิงในวัยเลข 3 ให้รีบคว้าโอกาสทองในการหาคู่ครอง

 

แต่เมื่อเรามองไปที่ประเทศทางตะวันตกอย่างอังกฤษ ย้อนไปปี 1846 หญิงชาวอังกฤษ ‘ควร’ ที่จะตกล่องปล่องชิ้นก่อนเข้าเบญจเพสในวัย 25 ปี และมักจะแต่งงานกับชายที่วัยไม่ต่างกันนัก และในยุคนั้นอายุเฉลี่ยของการสมรสสำหรับผู้หญิงโสดคือ 24.7 ปี และสำหรับชายโสดอยู่ที่ 25.7 ปี แต่การสมรสที่เราเห็นในวัย 20 กว่าๆ แบบที่เห็นในยุคพีเรียดนั้นจบลงแล้ว โดยเฉพาะในประเทศฝั่งตะวันตก

 

นับตั้งแต่ยุค 70 ผู้คนในสหราชอาณาจักร (และในหลายแห่งทั่วโลก) เริ่มแต่งงานกันช้าลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสถิติจากสถาบันสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ยังรวมถึงคนที่เคยแต่งงานแล้ว ผ่านการหย่าร้าง หรือสูญเสียคู่ชีวิต (ข้อมูลนี้เก็บมาตั้งแต่กลางยุคศตวรรษที่ 19) และโดยเฉลี่ย ชายโสดเริ่มหันมาแต่งงานหลังอายุเข้าเลข 3 นับตั้งแต่ปี 1999 ขณะที่ในฝ่ายหญิงเริ่มในปี 2010

 

Millennial Couples Married

 

จากสถิติล่าสุดในปี 2016 ของชายและหญิงที่ชอบเพศตรงข้ามในสหราชอาณาจักร อายุเฉลี่ยของคนที่แต่งงาน (ครั้งแรก) อยู่ที่ 33.4 ปี สำหรับชาย และ 31.5 ปี สำหรับผู้หญิง เห็นได้ชัดเจนว่า เปลี่ยนไปเมื่อเทียบจากยุค 70

 

ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างคือ อายุโดยเฉลี่ยระหว่างคู่สมรสที่แต่งงานกับเพศเดียวกันกลับสูงกว่าคนที่ชอบเพศตรงข้าม โดยสำหรับผู้ชายอยู่ที่ 40.8 ปี และ 37.4 ปี สำหรับผู้หญิง (ข้อมูลดังกล่าวเก็บตั้งแต่ปี 2014 ที่การสมรสในเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย)

 

ทั้งนี้ ตัวเลขดังที่เห็นสะท้อนถึงค่านิยมการแต่งงานสำหรับในประเทศแถบตะวันตกที่เจริญกว่า ซึ่งคนมักตกล่องปล่องชิ้นกันช้ากว่าในประเทศที่เจริญน้อยกว่า แต่เมื่อมองมาที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรป เกณฑ์อายุของคนที่เข้าพิธีวิวาห์ครั้งแรกนั้นมากกว่าในสหราชอาณาจักร อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน และประเทศอื่นๆ ที่เจริญแล้ว แปลได้ว่า ประเทศที่กล่าวมา ผู้คนแต่งงานกันช้ายิ่งกว่าทางฝั่งสหราชอาณาจักรเสียอีก

 

Millennial Couples Married

 

มาถึงฟากอเมริกากันบ้าง สำนักสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกาประมาณอายุโดยเฉลี่ยของคู่บ่าวสาวชาวมะกันในช่วงยุค 70 อยู่ที่วัย 20 ปี สำหรับผู้หญิง และในปี 2018 อยู่ที่ 27.8 ปี ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ 29.8 ปี

 

“การทดลองอยู่ก่อนแต่งอาจช่วยอธิบายได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในวัยของคู่แต่งงานที่เราเห็นทุกวันนี้” นิค สไตรป์ หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมจากสถาบันสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักรกล่าวในบล็อกที่นำเสนอข้อมูลข้างต้น โดยเกือบ 90% ของคู่รักที่แต่งงานในปี 2016 อยู่ก่อนแต่ง

 

และแน่นอนว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง คู่สมรสก็พร้อมที่จะมีลูก โดยเมื่อปี 2017 เป็นครั้งแรกที่มีจำนวนผู้หญิงวัยเลข 3 ในสหราชอาณาจักรตั้งครรภ์สูงกว่าวัย 20 ซึ่งหากมองย้อนไปในยุค 70 คุณแม่ๆ มักมีลูกคนแรกกันในช่วงอายุต่ำกว่า 24 ปี และตัวเลขอายุก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2017 วัยเฉลี่ยของการมีลูกคนแรกอยู่ที่ 28.8 ปี

 

Millennial Couples Married

Photo: Instagram / @margie_rasri

 

ดูเหมือนว่าทิศทางของการเดินเข้าประตูวิวาห์จะกำลังพุ่งสูงขึ้นในประเทศที่เจริญแล้ว แต่เมื่อหันมองรอบตัว คุณอาจพบว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยค่อยๆ เดินตามกระแสโลกตะวันตก และเริ่มแต่งงานกันช้าลง อาจเป็นเพราะหน้าที่การงานที่มั่นคงมากขึ้นของเพศหญิง ค่านิยมการมีลูกที่ช้าลงเนื่องด้วยเศรษฐกิจและความพร้อม และค่านิยมที่เปิดกว้างขึ้น ฯลฯ

 

แต่ที่น่าสนใจคือ แท้จริงแล้วกลับตรงกันข้าม

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมอนามัย และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันสำรวจอนามัยการเจริญพันธุ์และการดูแลสุขภาพของผู้หญิงไทยในวัยเจริญพันธุ์ทั่วประเทศ ล่าสุดนับตั้งแต่ปี 2006 (พ.ศ. 2549) จนถึงปี 2010 (พ.ศ. 2553) กลับพบว่า ผู้หญิงไทยสมรสโดยเฉลี่ยเร็วขึ้น และมีอายุน้อยลงในทุกปี คือจากอายุเฉลี่ยที่ 23.1 ปี ในปี 2006 เป็น 22.2 ปี ในปี 2010 สถิติดังกล่าวยังพบอีกด้วยว่า ผู้หญิงที่อยู่นอกเขตเทศบาลสมรสเร็วกว่าผู้หญิงที่อยู่ในเขตเทศบาล

 

Millennial Couples Married

Photo: fanpop.com

 

แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยสถิติของไทยล่าสุดในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา แต่นักสังคมวิทยา นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญให้เหตุผลว่า ที่คนแต่งงานกันช้าจนเป็นเรื่องปกตินั้น เป็นเพราะผู้หญิงเริ่มออกไปทำงานนอกบ้านกันมากขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และทั้งหญิงและชายต่างมุ่งความสนใจไปที่ความก้าวหน้าทางการงานก่อนจะตั้งหลักปักฐานสร้างครอบครัว New York Times ยังระบุอีกว่า ผู้เชี่ยวชาญยังเผยอีกว่า คนยุคใหม่กลุ่มมิลเลนเนียลมองหาความมั่นคงในชีวิต ก่อนจะสร้างครอบครัว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหย่าร้าง

 

แต่ทิศทางดังกล่าวจะมาถึงบ้านเราด้วยไหม และเพราะเหตุใดนั้น ยังคงต้องติดตามกันต่อไปจากสถิติของช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่ยังไม่เปิดเผยออกมา

 

อ่านเรื่อง การศึกษาเผย ชีวิตคู่สร้างความเครียดยิ่งกว่าการมีลูกได้ที่นี่

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X