หากมองตามโปรแกรมการแข่งขันแล้ว การพบกันระหว่างลิเวอร์พูล อดีตแชมป์ยุโรปในฤดูกาล 2018-19 และแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาลล่าสุด กับเอฟซี มิดทิลลันด์ แชมป์จากเดนมาร์ก สิ่งที่คนทั่วไปคาดหวังคือความเป็นต่อของสโมสรดังจากอังกฤษที่ต่อให้ขุมกำลังไม่ครบก็ยังดูเหนือกว่าชัดเจน
แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดของการพบกันของสองทีมนี้ คือการเผชิญหน้ากันของ 2 สโมสรที่มีแนวทางในการทำทีมคล้ายกัน
สโมสรที่เชื่อมั่นในเรื่องของตัวเลข สถิติ และข้อมูล
ดังนั้น ในอีกด้านแล้วการพบกันระหว่างลิเวอร์พูล และเอฟซี มิดทิลลันด์ จึงถูกจับตามองในฐานะของ 2 ทีมที่นำศาสตร์เหล่านี้มาใช้ในการปฏิวัติสโมสร และปฏิวัติวงการฟุตบอล หรือบางทีเราอาจจะเรียกขานการพบกันของสองทีมนี้แบบเท่ๆ ได้ว่า ‘The Moneyball Derby’
โดยสิ่งที่หลายคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนคือ เอฟซี มิดทิลลันด์ สโมสรเล็กๆ ในเดนมาร์กที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อ 21 ปีที่แล้ว คือสโมสรที่เป็นต้นแบบของการปฏิวัติวงการฟุตบอลด้วยการใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน หรือที่เรียกกันว่า Data-Driven ที่ทำให้ปัจจุบันเกือบทุกสโมสรจะมีแผนกวิเคราะห์ข้อมูลเป็นของตัวเอง
ด้วยวิธีการนี้ที่ทำให้ทีมเล็กๆ จากแดนโคนมก้าวมาถึงฟุตบอลรายการที่ดีที่สุดในโลกอย่างแชมเปียนส์ลีกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และได้พบกับทีมที่เป็นเหมือนฝาแฝด (แต่รวยกว่า งบเยอะกว่า) อย่างลิเวอร์พูลในคืนนี้
เชื่อว่าน่าจะมีหลายคนที่เริ่มอยากรู้จักเอฟซี มิดทิลลันด์กันบ้างแล้วใช่ไหม
สโมสรฟุตบอลของโคตรเซียน
เมื่อพูดถึงการใช้ ‘ข้อมูล’ และ ‘สถิติ’ ในการขับเคลื่อนทุกอย่างแล้วมันฟังดูเท่มากโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลคือทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่รู้ว่าจะมีใครผิดหวังไหมถ้าหากบอกว่าเจ้าของสโมสรผู้เป็นแรงบันดาลใจของเรื่องทั้งหมดนั้นเป็นโคตรเซียน!
อย่างไรก็ดี คำว่าโคตรเซียนนั้นอยู่ในความหมายถึงการเป็นนักพนันมืออาชีพ (Professional Gambler) มีหลัก มีเกณฑ์ ในการเล่น ไม่ใช่เล่นตามความรู้สึกหรือทึกทักเอาเองว่ามันควรจะเป็นแบบนั้นหรือแบบนี้ และคำว่าเซียนพนันนั้นมีความหมายที่แตกต่างจากคำว่าผีพนัน
โคตรเซียนคนดังกล่าว แมตธิว เบนแฮม นักธุรกิจซึ่งเคยเป็นอดีตนักพนันมืออาชีพที่หันเหเอาวิชาความรู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการพยายามหาทางทำนายผลการแข่งขันกีฬาให้แม่นยำที่สุดด้วยการคิดโมเดลคณิตศาสตร์ และนำไปสู่การก่อตั้งบริษัท Smartodds ของตัวเอง
ก่อนหน้านั้นเบนแฮมได้ซื้อสโมสรฟุตบอลเบรนต์ฟอร์ดในปี 2012 และเปลี่ยนให้กลายเป็นหนึ่งในทีมที่น่าจับตามองมากที่สุดในระดับลีกรองของอังกฤษ (ฤดูกาลที่แล้วเกือบได้ขึ้นชั้นสู่พรีเมียร์ลีก) ก่อนจะมาซื้อเอฟซี มิดทิลลันด์ในปี 2014 ด้วยความตั้งใจที่จะใช้สโมสรฟุตบอลแห่งนี้เพื่อทดลองวิธีและความเชื่อของตัวเอง
วิธีของเบนแฮมคือการนำตัวเลข สถิติ ข้อมูล ทุกสิ่งทุกอย่างที่คนในวงการฟุตบอลบอกเสมอว่า ‘มันไม่ได้ผลหรอก’ ‘มันไม่ได้บอกอะไรทุกอย่าง’ มาเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเลขสถิติต่างๆ เหล่านี้สามารถบอกอะไรได้หลายอย่าง
ขึ้นอยู่กับคนที่เห็นมันว่ามองเห็น ‘คุณค่า’ และที่สำคัญคือสามารถ ‘อ่านค่า’ ของมันออกไหม
และแค่ปีแรกเท่านั้น เอฟซี มิดทิลลันด์สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลเดนิช ซูเปอร์ลีกา ได้สำเร็จทันทีในปี 2015
ในปี 2016 พวกเขาเอาชนะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดได้ 2-1 ในศึกยูโรปาลีก รอบ 16 ทีมุสดท้ายนัดแรก (แม้ว่าจะตกรอบในเวลาต่อมา) ก่อนจะคว้าแชมป์ลีกในประเทศได้อีกในปี 2018 และล่าสุดคือ 2020 โดยในปีนี้เป็นครั้งแรกที่พวกเขาเข้ามาถึงรอบแบ่งกลุ่มแชมเปียนส์ลีกได้สำเร็จ
แน่นอนว่าระหว่างทางย่อมมีความล้มเหลวบ้าง เพราะตัวแปรในเกมฟุตบอลมีมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าวิธีการของเขานั้นใช้ได้ผล
ปัจจุบันนอกจากเอฟซี มิดทิลลันด์ ยังมีอีกหลายสโมสรและหลายลีกทั่วโลกที่เลือกใช้ข้อมูลจาก Smartodds ในการนำมาใช้วิเคราะห์และขับเคลื่อนวงการ
ใช้ข้อมูลนำทางสู่ความสำเร็จ
เมื่อความโดดเด่นของเอฟซี มิดทิลลันด์ คือการใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนสโมสร พูดแบบนี้หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ
ให้เห็นภาพชัดขึ้นขอยกสถิติที่น่าสนใจจากผลงานในฤดูกาล 2019-20 ที่พวกเขาคว้าแชมป์ลีกสมัยที่ 3 ได้ในรอบ 6 ปี ว่าจากจำนวนประตูที่ทีมได้ทั้งหมดนั้น พวกเขาได้ประตูจากลูกเซ็ตพีซมากถึง 49%
เอริก สเวียตเชนโก กัปตันของสโมสรอธิบายเรื่องนี้ว่าทีมวิเคราะห์ของสโมสรได้ทำการศึกษาข้อมูล ลูกสูตร วิธีการเล่นลูกเซ็ตเพลย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเซ็ตพีซ หรือลูกเตะมุม และนำมาสังเคราะห์ออกมาเป็น Playbook หรือตำราสูตรการเล่นที่มีทั้งหมด 20-25 รูปแบบ
มันเป็นวิธีเดียวกับทีมอเมริกันฟุตบอล (ที่เราจะเห็นโค้ชเปิด Playbook ให้ผู้เล่นรู้ว่าจะทำอะไร)
“ทีมอื่นเขาก็ทำ” สเวียตเชนโกกล่าว “แต่ถ้าดูจากข้อมูลแล้ว 49% ของจำนวนประตูที่เราได้ในฤดูกาลที่แล้วมาจากลูกเซ็ตพีซ ซึ่งมันมีบางสิ่งที่สโมสรของเราและเจ้าของทีม แมตธิว เบนแฮม มองเห็นชัดว่านี่คือวิธีการที่จะเอาชนะหรือการเปลี่ยนแปลงเกมได้”
ความสำคัญของข้อมูลอีกประการคือการที่มันทำให้ทีมได้อยู่กับ ‘ความจริง’ ตลอดเวลา
ราสมุส อังเคอร์เซน ประธานสโมสรอธิบายในเรื่องนี้ว่า “ในเกมฟุตบอล เรื่องราวที่เราบอกตัวเองส่วนใหญ่มักจะผิดพลาด ลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ทีมเผชิญกับช่วงที่ผลงานแย่ แฟนๆ และสื่อต่างพยายามหาสิ่งต่างๆ มาใช้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่มันก็ไม่ต่างอะไรจากในช่วงที่ทีมทำผลงานได้ดี
“ยกตัวอย่างในฤดูกาลที่แล้วที่เราคว้าแชมป์ได้โดยทิ้งห่าง 14 คะแนน มีแต่คนบอกว่าเราทำได้อย่างมหัศจรรย์ แต่หากเราใช้ข้อมูลเป็นที่ตั้งแล้วความจริงคือเราไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย เพียงแต่คู่แข่งของเราที่แย่กว่าเดิมเอง”
หรือในระหว่างพักครึ่งเวลา นักวิเคราะห์ยังทำการวิเคราะห์ข้อมูลสดทันทีเพื่อที่จะนำไปให้โค้ชได้พิจารณาประกอบว่าจะมีอะไรที่ควรพูดถึงบ้างในระหว่าง Team-Talk ช่วงพักครึ่งเวลาเพื่อแก้ไขสถานการณ์
“เพราะเราจะรู้สึกในระหว่างที่อยู่สนามหรือในช่วงพักครึ่งว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่สัมพันธ์กับข้อเท็จจริง”
อีแวนเดอร์ เพชรในตมที่มิดทิลลันด์ หามาได้ด้วยข้อมูลของพวกเขา
Justice League และการหาเพชรในตม
ที่เอฟซี มิดทิลลันด์ พวกเขายังชอบใช้ตัวเลขในการพิสูจน์สมมติฐานทางฟุตบอล
ในกรณีของทีม พวกเขามีตารางอันดับคะแนนในลีกที่ผ่านการคำนวณมาแล้วจากตัวเลขสถิติโดย Smartodds ว่าจริงๆ แล้วทีมควรจะอยู่ในอันดับที่เท่าไรกันแน่ ซึ่งจะมีการใช้องค์ประกอบหลายอย่างมาช่วยในการคำนวณด้วย
โดยหนึ่งในตัวแปรคือค่า Expected Goals หรือ xG ที่ใช้คำนวณโอกาสในการเกิดประตูของทีมหรือผู้เล่น ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่เอฟซี มิดทิลลันด์ เป็นสโมสรแรกๆ ของโลกที่นำมาใช้อย่างจริงจัง ในขณะที่ก่อนนี้เราจะดูกันแค่โอกาสในการยิง และการยิงเข้ากรอบ
พวกเขาเรียกตารางอันดับนั้นว่า ‘Justice League’
และแม้ว่า xG จะกลายเป็นของพื้นฐานในเวลานี้ ที่แม้แต่รายการวิเคราะห์ฟุตบอลนำมาใช้กันทั่วไป แต่ที่เอฟซี มิดทิลลันด์ พวกเขามั่นใจว่าพวกเขาสามารถวิเคราะห์ได้ดีและแม่นยำกว่าคนอื่น โดยเฉพาะในการเซ็นสัญญากับนักฟุตบอลที่เป็น ‘เพชรในตม’
วิธีการคร่าวๆ ที่สเวียตเชนโกบอกเล่าคือ “ยกตัวอย่างเช่น การซื้อผู้เล่นจากระดับดิวิชัน 3 ของเยอรมนี ด้วยสถิติข้อมูลการเล่นที่มี นำมาใส่สูตรการคำนวณของเรา มันทำให้เราพบว่านักฟุตบอลคนนี้สามารถเล่นในระดับบุนเดสลีกาได้สบาย เพียงแต่ตอนนั้นเขายังเล่นในระดับดิวิชัน 3 ซึ่งถึงจะเล่นในระดับลีกล่างแต่เราก็อาจจะซื้อตัวเขามาเพราะเรารู้ว่าคุณค่าในตัวของเขามีแค่ไหน และราคาของพวกเขาก็ไม่แพงเหมือนนักเตะในบุนเดสลีกาด้วย”
นักฟุตบอลตัวอย่างคือ ลูกา ไฟเฟอร์ กองหน้าที่เพิ่งซื้อมาจากเวิร์ซเบอร์เกอร์ คิกเกอร์ส สโมสรในระดับดิวิชัน 3 ของเยอรมนีด้วยราคา 1.5 ล้านยูโร ส่วนจะประสบความสำเร็จในระยะยาวไหมตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องให้เวลาพิสูจน์
ตัวอย่างที่อาจจะชัดกว่าคือการไปคว้านักเตะจากลีกที่มีความผันผวนมากที่สุดลีกหนึ่งของโลกอย่างบราซิลมาขัดเกลาจนประสบความสำเร็จได้เช่น เปาลินโญ แบ็กซ้ายที่โดดเด่น หรือ อีแวนเดอร์ ที่มีการพูดถึงว่า “หากเป็นวันของเขานี่คือนักเตะที่เก่งที่สุดในลีกเดนมาร์ก” (หลังจากที่เกือบเสียคนในการเล่นให้วาสโก ดา กามา)
อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้ใช้แค่ตัวเลขอย่างเดียว แต่ยังนำตัวเลขนั้นมารวมกับสายตาจริงๆ จากมุมมองของแมวมองที่ชำนาญการในโลกฟุตบอลแห่งความเป็นจริงด้วย
เรียกว่าลดโอกาสที่จะลงทุนผิดพลาด และเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จด้วยการนำสองศาสตร์มาใช้ด้วยกัน
ปิโอเน ซิสโต ตัวความหวังของทีมที่เคยยิงประตูแมนฯ ยูไนเต็ดมาแล้ว
พิชิต KPI ด้วยหัวใจนักสู้
ถึงจะเป็นแชมป์ลีก 3 จาก 6 สมัยหลังสุด และได้ผ่านเข้ามาเล่นในแชมเปียนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่มแล้ว (และโดนอตาลันตารับน้องไป 4-0 ในเกมแรก) แต่เอฟซี มิดทิลลันด์ ไม่ได้พอใจแค่นี้
ในเชิงของผลงานในสนามพวกเขาก็มี KPI เหมือนองค์กรทั่วไป โดยเป้าหมายของปีนี้ที่ทีมงาน Smartodds ตั้งไว้ คือการทำให้จำนวนตัวเลขประตูเพิ่มขึ้นอีก 0.5 ส่วนวิธีการนั้นก็แล้วแต่คนในทีม
“ด้วยเหตุนี้ทำให้ในหมู่พวกเราเองจึงมีการคุยกันว่าเราจะเพิ่มจำนวนประตูได้ด้วยวิธีไหนบ้าง? มันจะมาจากลูกเซ็ตพีซ? หรือถ้าจะบุก จะบุกในช่วงเวลาไหนของเกม?”
ผลลัพธ์ที่ตามมาของโจทย์คือในฤดูกาลนี้หากพวกเขาได้ประตูขึ้นนำ 1-0 แล้ว ก็จะพยายามที่จะทำประตูที่ 2 หรือ 3 เพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นมาจากบทสรุปของการวิเคราะห์ว่าพวกเขาไม่ควรจะพอใจกับการนำแค่ประตูเดียว
แต่อีกส่วนหนึ่งแล้วเอฟซี มิดทิลลันด์ เป็นสโมสรที่มี DNA ของนักสู้
“มันเหมาะกับสไตล์การเล่นของเราด้วย แนวคิดของเราคือเราจะไม่มีวันถอย DNA ของสโมสรคือการที่เราจะพยายามไล่ล่าความสำเร็จไปเรื่อยๆ มากกว่าจะพอใจกับแค่สิ่งที่เราได้มาแล้ว”
ดังนั้นถึงจะถูกมองว่าเป็นรอง แต่คืนนี้เอฟซี มิดทิลลันด์ ทีมที่เล่นในระบบ 4-2-3-1 จะเตรียมใจมาเพื่อเปิดเกมสู้กับลิเวอร์พูล บดใส่ด้วยเกมเพรสซิ่ง และหวังจะยิงประตูที่แอนฟิลด์ให้ได้ด้วยนักเตะอย่าง ปิโอเน ซิสโต ผู้เคยส่งบอลตุงตาข่ายแมนฯ ยูไนเต็ดมาแล้ว
“มันจะเป็นเกมที่ยากแน่” อังเคอร์สเซน กล่าว “แต่เราจะพยายามเล่นอย่างดีที่สุด และหวังว่าจะมีโชคช่วยบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ในเกมฟุตบอลนั้นปาฏิหาริย์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ”
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทีมวิเคราะห์ของสโมสรได้มีการคำนวณเรื่องค่าของปาฏิหาริย์เอาไว้ด้วยไหม…
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/football/2020/oct/25/what-we-do-isnt-rocket-science-how-fc-midtjylland-started-footballs-data-revolution
- apnews.com/article/serie-a-champions-league-eredivisie-soccer-europe-2431d25be123e32cea9299b078589963
- breakingthelines.com/data-analysis/how-data-analysis-won-fc-midtjylland-a-title-and-more/
- outsideoftheboot.com/2016/07/20/rise-of-data-analytics-in-football-2/
- outsideoftheboot.com/2013/06/26/rise-of-data-analysis-in-football/
- medium.com/@TrademateSports/brentford-fcs-owner-matthew-benham-the-closest-thing-to-moneyball-in-football-10-people-who-b6ac0bda9646
- นอกเหนือจากจะเป็นสโมสรหัวคิดสมัยใหม่เหมือนกันแล้ว ลิเวอร์พูลกับเอฟซี มิดทิลลันด์ยังมีความสัมพันธ์อันดี (?) ต่อกันด้วยเมื่อ เจอร์เกน คล็อปป์ ขอให้สโมสรช่วยดึงตัว โธมัส โกรนเนมาร์ก โค้ชทุ่ม (อาจจะเป็นคนเดียวในโลก) มาจากทีมเดนมาร์ก เรื่องนี้อังเคอร์เซนกล่าวถึงด้วยความภูมิใจว่า “เราเคยเป็นทีมที่ทำประตูจากการทุ่มไกลได้มาก จากนั้นเขาก็ย้ายไปอยู่กับลิเวอร์พูล…”
- ในเว็บไซต์ของเอฟซี มิดทิลลันด์ หากดูประวัติผู้เล่นนอกจากจะเห็นสถิติพื้นฐานอย่างจำนวนการลงสนาม จำนวนประตูแล้ว จะมีข้อมูลอื่นๆ เช่น xG หรือโอกาสผ่านบอลขึ้นหน้าสำเร็จ การผ่านบอลออกซ้ายหรือขวาแม่นยำแค่ไหนให้เห็นเป็นน้ำจิ้มว่าสโมสรนี้เอาจริงเรื่องสถิติ
- ในทีมงานของสโมสร มีนักจิตวิทยาที่เคยเป็นทหารเก่ารวมอยู่ด้วย!
- เอฟซี มิดทิลลันด์ กำเนิดขึ้นจากการรวมตัวกับของสองสโมสรที่เคยเป็นศัตรูกันมาก่อนอย่าง อิคาสต์ เอฟเอส และเฮิร์นนิง ฟรีแมด และเป็นสโมสรอันดับที่ 5 ของเดนมาร์กที่ผ่านเข้ามาถึงรอบแบ่งกลุ่มแชมเปียนส์ลีก