×

เลือกตั้งกลางเทอม 2022: ศึกชี้ชะตาอีก 2 ปีที่เหลือของไบเดน

20.09.2022
  • LOADING...
Midterm Election

ชาวอเมริกันกำลังจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งใหญ่กันอีกครั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ เพื่อที่จะตัดสินว่าพวกเขาจะให้พรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกันได้เป็นผู้ครอบครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งการเลือกตั้งในรอบนี้นิยมเรียกกันว่าการเลือกตั้งกลางเทอม (Midterm Election) เพราะการเลือกตั้งในรอบนี้เกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่างโจ ไบเดนดำรงตำแหน่งมาครึ่งเทอม (2 จาก 4 ปี) พอดี 

 

แน่นอนว่าการเลือกตั้งในรอบนี้ไม่ได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรวมอยู่ด้วย เพราะไบเดนยังดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระ แต่ก็ถือเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการที่พรรคเดโมแครตของเขาจะได้ครอบครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาหรือไม่นั้น จะส่งผลอย่างมากต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลของไบเดนในอีกครึ่งเทอมที่เหลือ 

 

  • การคานอำนาจกันระหว่างสภาและฝ่ายบริหาร

รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาออกแบบมาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ (Check and Balance) ระหว่างฝ่ายบริหารและรัฐสภาอย่างเข้มข้น โดยที่กฎหมายใดๆ จะออกมาได้นั้นจะต้องผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภาและประธานาธิบดี (ซึ่งหลายๆ ครั้งก็อาจเกิดปัญหาว่าฝ่ายทำเนียบขาวไม่สามารถผ่านกฎหมายหรือนโยบายใดๆ ออกมาได้เลย เพราะพรรคตรงข้ามครองเสียงข้างมากอยู่อย่างน้อยหนึ่งสภา) และการที่ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งให้ใครมาดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐบาลกลาง (เช่น รัฐมนตรี ตุลาการ หรือทูต) ก็ต้องได้รับความยินยอมจากวุฒิสภาเสียก่อน  

 

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ไม่ได้จบแค่การเลือกประธานาธิบดี เพราะการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะจะเป็นตัวกำหนดว่าประธานาธิบดีคนนั้นๆ จะบริหารประเทศได้ตามใจของเขาหรือเธอได้มากน้อยขนาดไหน

 

  • เลือกตั้งกลางเทอม เลือกใครบ้าง

รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ได้ระบุให้วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อยู่ที่ 2 ปี และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อยู่ที่ 6 ปี ซึ่งนั่นก็แปลว่าชาวอเมริกันจะมีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. คนใหม่ในทุกเขตการเลือกตั้งในการเลือกตั้งกลางเทอม ในขณะที่เก้าอี้ ส.ว. เพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่จะมีการเลือกตั้งในการเลือกรอบนี้ (อีก 1 ใน 3 จะเลือกใหม่ในปี 2024 และอีก 1 ใน 3 จะเลือกใหม่ในปี 2026 ตามลำดับ) ซึ่งจำนวน ส.ส. ที่แต่ละมลรัฐมีนั้นจะแปรผันตรงกับจำนวนประชากร เช่น มลรัฐที่ใหญ่ที่สุดอย่างแคลิฟอร์เนียจะมี ส.ส. ถึง 52 คน แต่มลรัฐขนาดเล็กอย่างไวโอมิงนั้นมี ส.ส. แค่คนเดียว ในทางตรงข้ามจำนวน ส.ว. ที่แต่ละมลรัฐมีนั้นจะเท่ากันตายตัวอยู่ที่ 2 ที่นั่งต่อมลรัฐ โดยที่ไม่เกี่ยงว่ามลรัฐนั้นจะมีประชากรมากหรือน้อย (เพื่อเป็นการคานอำนาจ ไม่ให้มลรัฐขนาดใหญ่ออกกฎหมายมารังแกมลรัฐขนาดเล็ก) 

 

  • พรรคของประธานาธิบดีมักจะแพ้เลือกตั้งกลางเทอม

ในอดีตที่ผ่านมาพรรคของประธานาธิบดีมักจะเสียที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งกลางเทอม เพราะโดยธรรมชาติแล้วชาวอเมริกันชอบที่จะเลือกพรรคตรงข้ามไปคานอำนาจ เพื่อไม่ให้พรรคใดพรรคหนึ่งครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนอาจกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา นอกจากนี้ พรรคที่มีอำนาจบริหารก็มักจะเป็นพรรคที่มีโอกาสจะสร้างเรื่องอื้อฉาว หรือออกนโยบายที่ไม่ถูกใจประชาชน ทำให้ประชาชนอยากจะเลือกพรรคตรงข้ามมาเป็นการสั่งสอน

 

ซึ่งถ้าเราไปดูสถิติของการเลือกตั้งกลางเทอมตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา จะพบว่าพรรคของประธานาธิบดีนั้นเสียที่นั่งในการเลือกตั้งกลางเทอมแทบจะทุกครั้ง (เสียที่นั่งโดยเฉลี่ยที่ 26 ที่นั่ง) โอกาสที่พรรคของประธานาธิบดีจะได้ที่นั่งเพิ่มในสภาล่างนั้นน้อยมาก ยกเว้นว่าตัวประธานาธิบดีจะได้รับความนิยมอย่างสูงมาก อย่างเช่นในกรณีของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่นำพรรครีพับลิกันกวาดที่นั่ง ส.ส. เพิ่มได้ 8 ที่นั่งในการเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2002 เพราะตัวของบุชในตอนนั้นกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงจากการที่เขาแสดงให้ชาวอเมริกันเห็นถึงภาวะผู้นำของเขา ผ่านการบริหารจัดการวิกฤตเหตุวินาศกรรมที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (9/11)

 

ในทำนองเดียวกัน พรรคของประธานาธิบดีก็มักจะเสียที่นั่งในวุฒิสภาด้วย อย่างไรก็ดี พรรคของประธานาธิบดีก็สามารถชนะเลือกตั้งเพิ่มที่นั่งในสภาสูงได้อยู่เนืองๆ ด้วยเหตุที่การเลือกตั้ง ส.ว. นั้นจะเลือกแค่ 1 ใน 3 ของสภา และบางครั้งสนามเลือกตั้งก็อาจจะไปอยู่ในมลรัฐที่เป็นฐานเสียงของพรรคของประธานาธิบดี ยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งกลางเทอมของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2018 ที่พรรครีพับลิกันของเขาเสียที่นั่งในสภาล่างไปถึง 40 ที่นั่ง (ด้วยคะแนนนิยมที่ตกต่ำของทรัมป์ และเรื่องอื้อฉาวอีกมากมายในคณะรัฐมนตรี) แต่พรรคกลับกวาดที่นั่งในสภาสูงได้เพิ่ม 2 ที่นั่ง ด้วยเหตุที่สนามเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ว. ในรอบนั้นอยู่ที่มลรัฐสีแดงที่เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันเป็นหลัก 

 

  • เดโมแครตมีเสียงข้างมากชนิดปริ่มน้ำที่ทั้งสองสภา

ในสภาชุดปัจจุบัน ไบเดนและเดโมแครตของเขาครองเสียงข้างมากทั้งที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อย่างไรก็ดี ถ้าเรามองเข้าไปในรายละเอียดจะพบว่าพรรคเดโมแครตไม่ได้ครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด เพราะพวกเขามีเสียงปริ่มน้ำที่ 50 เสียงพอดีที่วุฒิสภา และมีเสียงเหนือกว่ารีพับลิกันแค่ 9 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็แปลว่าถ้าพรรครีพับลิกันชิงที่นั่งคืนมาได้แค่ไม่กี่ที่นั่ง พวกเขาก็จะพลิกมาครองเสียงข้างมากในทันทีหลังการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งก็จะแปลว่าในอีก 2 ปีที่เหลือ ไบเดนจะประสบความยากลำบากอย่างมากในการผ่านกฎหมายหรือนโยบายใดๆ ผ่านรัฐสภา

 

ซึ่งโอกาสที่พรรครีพับลิกันจะพลิกมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานั้นมีมากน้อยขนาดไหน THE STANDARD จะมาวิเคราะห์ให้ผู้อ่านได้อ่านในบทความถัดๆ ไป

 

ภาพ: Kevin Dietsch / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising