×

มองบทบาทตะวันออกกลางในวิกฤตสงครามยูเครน ‘มิตร’ หรือ ‘ศัตรู’ ของสหรัฐฯ และรัสเซีย

09.03.2022
  • LOADING...
ตะวันออกกลาง

การเปิดฉากบุกยูเครนของรัสเซียและการตอบโต้รัสเซียอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ทั้งมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และล่าสุดคือการแบนนำเข้าน้ำมัน ส่งผลให้หลายประเทศตะวันออกกลางที่มีความสัมพันธ์ฉันมิตรทั้งต่อสหรัฐฯ และรัสเซีย ต้องตกอยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่า ‘ลำบากใจ’ อย่างยิ่ง

 

ในส่วนพันธมิตรของรัฐบาลมอสโกอย่างอิหร่านและซีเรียนั้น แน่นอนว่าต้องหนุนหลังรัสเซียในสงครามครั้งนี้ แต่ก็ยังคงมีข้อสงสัยและความไม่มั่นใจเกิดขึ้นในบางประเด็น ขณะที่พันธมิตรของวอชิงตันทั้งในกลุ่มประเทศอาหรับและอิสราเอล ก็ยังไม่มีใครกล้าแสดงออกว่าจะ ‘ยืนเคียงข้าง’ สหรัฐฯ แบบชัดเจน เนื่องจากมีหลายปัจจัยแวดล้อมที่ต้องพิจารณา

 

แล้วอะไรคือบทบาทของชาติตะวันออกกลางท่ามกลางไฟสงครามครั้งนี้?

 

ตะวันออกกลางไม่ได้อะไร

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ ไม่มีประเทศใดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ได้รับประโยชน์จากการเผชิญหน้าและความขัดแย้งของทั้งสองมหาอำนาจ

 

สำหรับทั้งอิสราเอลและประเทศอาหรับในอ่าวเปอร์เซีย หรือ Gulf States ต่างเดินไต่เชือกเส้นเดียวกัน โดยไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเอนเอียงไปทางมหาอำนาจฝั่งใดได้

 

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อิสราเอลและประเทศอาหรับได้ข้อสรุปที่สำคัญว่า วอชิงตันเองก็ไม่ได้น่าเชื่อถืออย่างสมบูรณ์ 100% เต็มอีกต่อไป ทำให้เริ่มมีความพยายามกระจายทางเลือกในเชิงยุทธศาสตร์ไปยังมหาอำนาจอื่นๆ เช่น รัสเซียและจีน โดยตลอดหลายปีมานี้มีการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นในหลายด้าน เช่น ด้านการทหาร และมีความคาดหวังให้รัสเซียเป็นแหล่งเก็บวัตถุดิบต้องห้ามสำหรับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในกรณีที่สามารถบรรลุข้อตกลงยุติโครงการนิวเคลียร์ได้ 

 

ซึ่งในส่วนของอิสราเอลเอง ยังอาศัยความร่วมมือทางทหารกับรัสเซีย เพื่อรับมือกับวิกฤตความขัดแย้งและการก่อการร้ายในซีเรียด้วย

 

สำหรับอิสราเอลที่ถูกมองว่าเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ที่ผ่านมามีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการหลีกเลี่ยงที่จะเลือกข้าง ท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักจากฝ่ายสหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรีนาฟตาลี เบ็นเนตต์ ต้องเปลี่ยนท่าทีหลายครั้ง เพื่อแสดงออกถึงการวิพากษ์วิจารณ์รัสเซียให้มากขึ้น

 

โดยในการลงมติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเพื่อประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียนั้น อิสราเอลพร้อมด้วยประเทศอาหรับอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และซาอุดีอาระเบีย ต่างตัดสินใจโหวตสนับสนุน หลังจากที่พยายามเลี่ยงในการลงมติครั้งแรกที่วงประชุมคณะมนตรีความมั่นคง UN เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์

 

แต่ความพยายามหลบเลี่ยงคำมั่นสัญญาและไม่เลือกข้างทั้งมอสโกและวอชิงตันนั้น ‘ไม่ใช่ความผิดพลาด’ และเป็นสิ่งที่ ‘เข้าใจได้’ 

 

ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ก็เผชิญแรงกดดันอย่างหนักของสหรัฐฯ จากการที่ไม่แสดงท่าทีต่อต้านการทำสงครามบุกยูเครนของรัสเซีย 

 

ซึ่งรัฐบาลริยาดคาดหวังว่า จะหลีกเลี่ยงการถูกบังคับให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาปิโตรเลียม ซึ่งขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากผลของสงครามและมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ 

 

โดยซาอุดีอาระเบียพยายามที่จะปกป้องข้อตกลงการผลิตน้ำมันกับรัสเซียที่ได้มาอย่างยากลำบาก ตลอดจนแผนพัฒนาการผลิตน้ำมันของตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อน หากต้องเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างรวดเร็ว

 

ส่วน UAE นั้นมีท่าทีเปิดกว้างสำหรับมิตรภาพต่อรัสเซียมากที่สุด โดยยังคงความสัมพันธ์ทางการทูตและใช้คำว่ามิตรภาพและหุ้นส่วนต่อรัสเซีย พร้อมทั้งไม่แสดงความไม่ยินดีต่อการกระทำของรัสเซีย ยกเว้นในการโหวตประณามของ UN ซึ่งรัฐบาล UAE ยังดำเนินการยกเลิกฟรีวีซ่าแก่ชาวยูเครนด้วย แม้ว่ายูเครนกำลังเผชิญวิกฤตผู้อพยพที่หนีภัยสงครามออกนอกประเทศ

 

แต่นอกจากความพยายามเพื่อรักษามิตรภาพต่อรัสเซีย ทาง UAE ยังมีความกังวลต่อมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก เช่น การอายัดสินทรัพย์ของกลุ่มชนชั้นนำรัสเซียที่ซุกซ่อนไว้ในต่างประเทศ ซึ่งนครดูไบของ UAE นั้นถือเป็นหนึ่งในแหล่งเก็บรักษาทรัพย์สินของกลุ่มชนชั้นนำรัสเซีย เช่นเดียวกับอิสราเอลและเมืองใหญ่อื่นๆ อย่างลอนดอนและฟลอริดา

 

อย่างไรก็ตาม ชาว UAE ยังมีความตรงไปตรงมามากกว่าอิสราเอลและซาอุดีอาระเบียในการแสดงท่าที และอธิบายความคิดของพวกเขาที่มีต่อสถานการณ์สงครามในยูเครนและความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย โดยชี้ว่า พวกเขาไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการสู้รบที่เกิดขึ้น และเนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ใช่มหาอำนาจเพียงประเทศเดียว ทำให้การกระจายความเสี่ยงในเชิงยุทธศาสตร์ แม้แต่กับรัสเซีย ยังคงมีความสำคัญมากกว่าการเป็นหุ้นส่วนกับวอชิงตันเพียงฝ่ายเดียว

 

ซีเรียและอิหร่าน มิตรแท้ของรัสเซียจริงหรือ? 

บาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย แสดงความชัดเจนด้วยการยกย่องการบุกยูเครนของรัสเซีย แต่เป็นท่าทีที่หลายฝ่ายยังคงมีคำถามว่า เป็นเพราะซีเรียนั้นไม่มีทางเลือกอื่นหรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลมอสโกนั้นช่วยเหลือรัฐบาลเผด็จการของซีเรียในการรับมือกับสงครามภายในประเทศด้วยการแทรกแซงทางทหารในปี 2015 ขณะที่รัสเซียยังถือเป็นผู้อุปถัมภ์ที่อัสซาดโปรดปราน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลมอสโกเรียกร้องอภิสิทธิ์เหนืออธิปไตยของซีเรียน้อยกว่าพันธมิตรสำคัญของซีเรียอย่างอิหร่าน 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับซีเรียเองนั้นการทำสงครามของรัสเซียในยูเครนไม่ทำให้รัฐบาลซีเรียได้รับประโยชน์อะไร นอกจากนี้ผู้นำซีเรียยังมีความกังวลว่า หากรัสเซียอ่อนแอลงจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ผลกระทบที่ตามมาอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของซีเรียตามไปด้วยเช่นกัน

 

สำหรับอิหร่านนั้นการเปิดฉากบุกยูเครนเต็มรูปแบบของรัสเซีย ซึ่งทำให้เกิดการจับมือกันตอบโต้ของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ตลอดจน NATO ด้วยมาตรการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น ทำให้ผู้นำอิหร่านเกิดความกังวลใจในรูปแบบของความร่วมมือดังกล่าว 

 

โดยการทำสงครามต่อยูเครนของรัสเซียนั้นก็เช่นเดียวกับซีเรียคือ อิหร่านเองไม่ได้ประโยชน์อะไร และยังอาจต้องเผชิญภัยคุกคามในแง่ที่ชาติตะวันตกสามารถสร้างระบบคว่ำบาตรต่อรัสเซียได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นไปได้ที่วันหนึ่งมันอาจกลายเป็นมีดที่หันกลับมาแทงอิหร่านเองด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อิหร่านยังอาจกลับมามีบทบาทสำคัญในแง่บวกได้ จากการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ผลิตน้ำมันที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ราคาน้ำมันในตลาดโลก ในภาวะที่ชาติอาหรับอื่นๆ เช่น ซาอุดีอาระเบียไม่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน และยังอาจเพิ่มแรงกระตุ้นให้ชาติตะวันตก ลดหรือนำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางอย่างต่ออิหร่านด้วย

 

แฟ้มภาพ ประชุมสุดยอดสันนิบาตอาหรับ 2019: Photo by Bandar Algaloud / Saudi Kingdom Council / Handout / Anadolu Agency / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X