วันนี้ (1 พฤษภาคม) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการ และซีอีโอของ Microsoft บริษัทที่มีมูลค่า (Market Cap.) มากที่สุดอันดับ 1 ของโลกราว 2.89 ล้านล้านดอลลาร์ ประกาศการลงทุนจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในประเทศไทย เพื่อขยายการให้บริการคลาวด์ในสเกลใหญ่ของบริษัทให้กว้างขวางและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
สัตายากล่าวผ่านงาน Microsoft Build: AI Day ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ระหว่างการเดินทางมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ว่า นอกจากการจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยแล้ว บริษัทจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับคนไทยกว่า 100,000 คน พร้อมสนับสนุนชุมชนนักพัฒนาในไทย
นอกจากการเดินทางมาเยือนไทยแล้ว ก่อนหน้านี้สัตยายังได้เดินทางไปเยือนอินโดนีเซียเช่นกัน และจะเดินทางไปเยือนมาเลเซียหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่ไทย
สำหรับอินโดนีเซีย Microsoft ประกาศที่จะทุ่มเงินลงทุน 1.7 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 6.3 หมื่นล้านบาทในช่วง 4 ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีคลาวด์และ AI พร้อมกับตั้งเป้าที่จะช่วยพัฒนาทักษะ AI ให้กับชาวอินโดนีเซีย 840,000 คน
สัตยากล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่จำเป็น 3 อย่างสำหรับทุกๆ องค์กร ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ได้แก่
- ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด
ในส่วนนี้สัตยาได้ยกผลการศึกษาของ Diego Comin นักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป โดยศึกษาถึงความแตกต่างด้านเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ ซึ่งพบว่าประเทศที่ร่ำรวยมากกว่าในเวลานั้นเป็นผลจากการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่
“สมการนี้เป็นสิ่งเรียบง่าย คือการที่คุณใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดเทคโนโลยี โดยไม่จำเป็นจะต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาทั้งหมด” สัตยากล่าว
- AI แอปพลิเคชัน
สัตยาบอกว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการที่คุณจะนำเครื่องมือนี้มาใช้สร้าง AI ในรูปแบบของตัวเอง
- ความน่าเชื่อถือและความปลอดภัย
ท้ายที่สุดแล้ว การยอมรับและใช้งานเทคโนโลยีใดๆ ก็ตามนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักหนึ่งอย่าง นั่นคือ เราในฐานะสังคมสามารถเชื่อมั่นและไว้วางใจเทคโนโลยีนั้นได้หรือไม่
“ในยุคของ AI เราไม่ควรเฉลิมฉลองเพียงตัวเทคโนโลยี แต่เราควรฉลองว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้างด้วยเทคโนโลยี เมื่อเราผสมผสานความคิดสร้างสรรค์และประสบการณ์เข้าด้วยกัน เราจะเริ่มสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น และทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น” สัตยากล่าว
ทั้งนี้ Microsoft ยังได้ประกาศเป้าหมายที่จะช่วยสนับสนุนให้ประชากรกว่า 2.5 ล้านคน จากประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้าน AI โดยการฝึกอบรมและมาตรการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาล องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ภาคเอกชน รวมถึงชุมชน และกลุ่มผู้สนใจในประเทศไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
ขณะที่งานวิจัยโดยบริษัทที่ปรึกษา Kearney คาดการณ์ว่า AI จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 37,000 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030 โดยในจำนวนนี้ คิดเป็นยอด GDP ของประเทศไทยที่จะเพิ่มขึ้นถึง 117,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4.3 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ Microsoft ยังจะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิดในการสนับสนุนนโยบาย ‘Cloud First’ ของภาครัฐ ด้วยโครงการพัฒนาทักษะด้าน AI สำหรับข้าราชการและนักพัฒนาที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ
ประเทศไทยนับว่าเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วสำหรับ GitHub แพลตฟอร์มที่มี Microsoft เป็นเจ้าของ ออกแบบมาเพื่อรองรับนักพัฒนาทั้งในการเขียนโค้ด ประสานงาน และสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยในปี 2566มีนักพัฒนาในประเทศไทยรวมกว่า 900,000 รายที่ใช้งาน GitHub หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ปัจจุบันมีองค์กรในไทยหลายแห่งนำนวัตกรรม Generative AI จาก Microsoft มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ เช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น