×

อย. โต้ผลวิจัยน้ำดื่มขวดปนเปื้อนอนุภาคพลาสติกยังไม่ได้รับการรับรอง ยืนยันมีมาตรฐานเข้มงวด ขอคนไทยอย่ากังวล

โดย THE STANDARD TEAM
19.03.2018
  • LOADING...

จากกรณีที่มีผลวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยรัฐนิวยอร์ก ในเมืองฟรีโดเนีย พบว่ามีน้ำดื่มบรรจุขวดมากถึง 93% ปนเปื้อนอนุภาคพลาสติกขนาดเล็ก จากตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวด 11 ยี่ห้อ จำนวน 259 ขวด ใน 9 ประเทศ ซึ่งมีน้ำดื่มจากประเทศไทยรวมอยู่ด้วยนั้น

 

ล่าสุด นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ผลงานวิจัยตามข่าวยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดจากรายงานการศึกษาหรืองานวิจัยที่ระบุว่า การปนเปื้อนดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และทางองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA) ยังไม่ได้รับรองผลการศึกษาดังกล่าว

 

พร้อมยืนยันว่าน้ำดื่มบรรจุขวดในประเทศไทยยังคงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดย อย. ได้กำหนดคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวดตามมาตรฐานสากล ซึ่งประกอบไปด้วยภาชนะบรรจุขวดน้ำดื่มที่ทำจากพลาสติก ต้องมีคุณภาพเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ. 2548 เช่น สะอาด ไม่มีสารหรือสีออกมาปนเปื้อนกับอาหารในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค พบปริมาณตะกั่วและแคดเมียมในพลาสติกได้ไม่เกินชนิดละ 100 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม เป็นต้น

 

ในส่วนของน้ำดื่มจะต้องมีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 61) พ.ศ. 2524 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอ้างอิงตามข้อแนะนำของ WHO ทางด้านสถานที่ผลิตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) มีการควบคุมการผลิต ตั้งแต่การปรับคุณภาพน้ำเพื่อขจัดอันตรายและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ จนทำให้น้ำมีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงต้องมีการล้างภาชนะก่อนการบรรจุทุกครั้ง

 

ส่วนข้อมูลใหม่จากองค์กรสื่อไม่แสวงผลกำไรของประเทศสหรัฐอเมริกา คงต้องรอเวลาการพิสูจน์จากนานาชาติ รวมถึง USFDA ซึ่งถ้ามีข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ และได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ ประเทศไทยก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนข้อกำหนดใหม่

 

ดังนั้นจึงขอให้ผู้บริโภคอย่ากังวล เพราะ อย. มีมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างเข้มงวด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X