ผลการวิจัยของคณะนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยรัฐนิวยอร์กในเมืองฟรีโดเนีย พบว่า น้ำดื่มบรรจุขวดมากถึง 93% มีการปนเปื้อนอนุภาคพลาสติกขนาดเล็ก
คณะนักวิจัยในโครงการของ Orb Media ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ได้รวบรวมตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวด 11 ยี่ห้อ จำนวน 259 ขวด ใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย เม็กซิโก เลบานอน และเคนยา ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า โดยเฉลี่ยน้ำดื่มแต่ละขวดจะมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนปริมาณ 325 อนุภาคต่อลิตร มีเพียง 17 ขวดจากทั้งหมด 259 ขวดเท่านั้นที่ปราศจากการเจือปนของพลาสติก
สำหรับยี่ห้อน้ำดื่มที่นำมาเป็นตัวอย่างวิเคราะห์ในงานวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย Aqua, Aquafina, Bisleri, Dasani, Epura, Evian, Gerolsteiner, Minalba, Nestlé Pure Life, San Pellegrino และ Wahaha
สำหรับวิธีการศึกษานั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคนิค Nile Red ในการย้อมสีอนุภาควัตถุขนาดเล็กเพื่อให้เรืองแสงในน้ำจนเห็นได้ชัด โดยสีย้อมดังกล่าวจะยึดจับผิวเศษพลาสติก แต่ไม่จับสสารทางธรรมชาติส่วนใหญ่
และเมื่อแยกวิเคราะห์ตัวอย่างด้วยเทคนิค Infrared Spectroscopy เพื่อหาเศษพลาสติกที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่กว่า 100 ไมครอนขึ้นไป หรือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางพอๆ กับเส้นผมมนุษย์ พบว่าน้ำดื่มบางขวดมีระดับความหนาแน่นของอนุภาคพลาสติกสูงถึง 10,000 อนุภาคต่อลิตร และเฉลี่ย 10 อนุภาคต่อลิตรจากจำนวนตัวอย่างทั้งหมด
ส่วนอนุภาคที่เล็กกว่า 100 ไมครอนลงไปจนถึง 6.5 ไมครอน พบว่ามีในน้ำดื่มเฉลี่ย 325 อนุภาคต่อลิตร โดย 4% เป็นอนุภาคที่พบในสารหล่อลื่นของภาคอุตสาหกรรม
สำหรับไมโครพลาสติกที่พบในน้ำดื่มบรรจุขวดส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเศษพลาสติกขนาดเล็ก (66%) รองลงมาคือเส้นใย ส่วนสัดส่วนชนิดของพลาสติกที่พบแบ่งเป็นโพลิโพรพิลีน (ซึ่งใช้ในฝาขวด) 54%, ไนลอน 16%, โพลิสไตรีน 11%, โพลิเอทิลีน 10%, โพลิเอสเตอร์/โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต 6% และอื่นๆ 3%
นอกจากนี้รายงานยังระบุด้วยว่า ไมโครพลาสติกที่พบในน้ำดื่มบรรจุขวดจะมีปริมาณมากกว่าที่พบในน้ำประปาถึงประมาณ 2 เท่า ส่วนสาเหตุของการปนเปื้อนของอนุภาคพลาสติกส่วนหนึ่งอาจมาจากกระบวนการบรรจุขวด หรือมาจากตัวขวดและฝาขวด
ศาสตราจารย์เชอร์รี เมสัน อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีแห่งมหาวิทยาลัยรัฐนิวยอร์ก กล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเจาะจงยี่ห้อไหนเป็นพิเศษ แต่จะแสดงให้เห็นว่าพลาสติกเป็นสิ่งที่กระจายอยู่รอบตัวเรา แม้แต่ในน้ำดื่มที่เราบริโภคอยู่ทุกๆ วัน
ศาสตราจารย์เมสันระบุว่าตัวเลขที่เห็นนี้ไม่ใช่ความหายนะก็จริง แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวล แม้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชัดว่าการบริโภคไมโครพลาสติกขนาดเล็กมากเข้าไปในร่างกายจะมีอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์อย่างไร
“สำหรับความเสี่ยงนั้นจะมีตั้งแต่โอกาสเป็นมะเร็งบางชนิดไปจนถึงการเพิ่มภาวะโรคสมาธิสั้นและออทิซึม” ศาสตราจารย์เมสันกล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีสารมลพิษปนเปื้อนในน้ำประปาในปริมาณสูง การดื่มน้ำบรรจุขวดที่ผ่านกรรมวิธีที่ได้มาตรฐานอาจมีความปลอดภัยกว่า
ถึงแม้งานวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้รับการประเมินโดยนักวิจัยระดับเดียวกันและตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ แต่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาหลายคนระบุว่าผลการศึกษาชิ้นนี้มีความน่าเชื่อถือสูง โดย ดร.แอนดรูว์ เมเยส แห่งมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียในสหราชอาณาจักร แสดงความเห็นว่า เขารู้สึกพอใจที่คณะวิจัยนำเทคนิค Nile Red มาใช้อย่างระมัดระวังด้วยกระบวนการที่เหมาะสม ดังนั้นจึงได้ผลวิเคราะห์ทางเคมีที่มีคุณภาพสูง
ขณะที่ ไมเคิล วอล์กเกอร์ ที่ปรึกษาสำนักงานนักเคมีของรัฐบาลและสมาชิกคณะกรรมการมาตรฐานอาหารแห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า คณะนักวิจัยมีขั้นตอนการศึกษาที่ดีมาก และมีความน่าเชื่อถือ
ส่วน แจ็กเกอลีน ซาวิตซ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่นโยบายประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือขององค์กรอนุรักษ์มหาสมุทรโอเชียนา ระบุว่า ผลการศึกษาดังกล่าวได้มอบหลักฐานที่หนักแน่นขึ้นว่าเราควรเลิกใช้ขวดน้ำดื่มพลาสติกอย่างแพร่หลายได้แล้ว เพราะเราทราบดีว่าปัจจุบันสัตว์ทะเลมีไมโครพลาสติกสะสมอยู่ในปริมาณสูง ดังนั้นผู้คนจึงมีความเสี่ยงที่จะรับสารเหล่านี้เข้าไปในร่างกายทุกวัน
“ถึงเวลาแล้วที่ขวดพลาสติกจะกลายเป็นอดีต” ซาวิตซ์กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง: