‘มิชลิน’ เป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมยางรถยนต์ แต่ทำไม อองเดร (André) และ เอดูอาร์ (Édouard) สองพี่น้องมิชลินผู้ให้กำเนิดแบรนด์ ถึงบอกใครต่อใครว่า “มิชลินไม่ใช่บริษัทผลิตยางรถยนต์ แต่เป็นบริษัทที่สร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการสัญจรที่ดีต่อคุณและดีต่อโลก”
นับตั้งแต่ปี 1889 ณ เมืองแกลร์มง-แฟร็อง (Clermont-Ferrand) ทางตอนกลางค่อนมาทางใต้ของฝรั่งเศส ‘มิชลิน’ ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับ ‘ยางรถที่ถอดได้’ นวัตกรรมชิ้นแรกที่คิดขึ้นมาเพื่อช่วยให้การดูแลยางรถยนต์เป็นเรื่องง่าย ใครก็ถอดเปลี่ยนเองได้ และยังพกล้อสำรองติดรถ เพื่อให้สามารถเดินทางได้ไกลขึ้น สะดวกขึ้น และปลอดภัยกว่าเดิม
จากจุดกำเนิดนวัตกรรมวันนั้น กลายมาเป็นแนวคิดหลักของแบรนด์ที่มุ่งมั่นพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนายาง และนอกเหนือกว่านั้น เพื่อมอบประสบการณ์สัญจรที่ดีต่อผู้คนและเป็นมิตรต่อโลก รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ กว่า 120 แบรนด์ที่มิชลินร่วมลงทุน
นวัตกรรมที่แบรนด์ระดับโลกไว้วางใจ
ถ้าไม่ดีจริง แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำระดับโลกอย่าง Ferrari, Porsche, Mercedes-AMG และแบรนด์จักรยานยนต์ชั้นนำอย่าง Vespa, BMW, Harley-Davidson, Honda, YAMAHA, KTM และอีกมากมาย คงไม่ไว้วางใจใช้ผลิตภัณฑ์ยางจากมิชลินให้เป็นยางมาตรฐานติดรถชุดแรกจากโรงงาน
และหากถามถึงเบื้องหลังการคว้าแชมป์ของนักกีฬามอเตอร์สปอร์ตคงบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ยางล้อที่ผลิตโดยมิชลินคือกุญแจสำคัญที่พาพวกเขาทะยานสู่เส้นชัยด้วยความเร็วและปลอดภัยที่สุด
จนถึงวันนี้ มิชลินยังคงครองแชมป์แบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลมากที่สุดจากผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ในยุโรป อาทิ ADAC, Autobild และ Tyre Reviews
แม้แต่ในประเทศไทย มิชลินก็ครองตำแหน่ง ‘Thailand’s Most Admired Brand’ แบรนด์ยางรถยนต์ที่ผู้บริโภคชื่นชอบมากที่สุด 25 ปีติดต่อกัน และได้รับเลือกให้นำผลิตภัณฑ์ไปใช้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สีเหลือง สีทอง และรถไฟฟ้าให้บริการผู้โดยสารระหว่าง Terminal ในสนามบินสุวรรณภูมิ
เบื้องหลังวิธีคิดและสร้างนวัตกรรมเพื่อการสัญจรที่ยั่งยืนและดีต่อโลก
แนวคิดสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์นวัตกรรมยางของมิชลินคือ ‘Performance Made To Last (PMTL)’ หรือนวัตกรรมยางยั่งยืน ที่มอบประสบการณ์การขับขี่ที่ให้สมรรถนะดีเยี่ยมยาวนาน ปลอดภัย มั่นใจตั้งแต่วันแรกที่ใช้จนถึงวันที่เปลี่ยนยางรอบถัดไป ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนยางบ่อยเกินความจำเป็น ผู้ใช้งานก็ได้ประโยชน์ โลกก็ไม่ต้องรับภาระเพิ่ม
นั่นเป็นเหตุผลที่มิชลินให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องความยั่งยืนอย่างมาก ในแต่ละปีมิชลินลงทุนมากกว่า 650 ล้านยูโร ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะการสร้างนวัตกรรมเป็นหนึ่งในแกนหลักของแบรนด์มิชลินตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อทำวิจัยเรื่องการนำยางหมดอายุกลับมารีไซเคิลใหม่ การใช้วัสดุในการผลิตยางที่ยั่งยืนมากขึ้น และยังเป็นผู้คิดค้นและพัฒนาระบบจำลองยางเสมือนจริงที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ปัจจุบันยางของมิชลินสามารถนำมารีไซเคิลและใช้วัสดุยั่งยืนได้มากถึง 45-63% (ยางรถยนต์ 45% ยางรถจักรยานยนต์ 52% ยางรถบรรทุก 58% และยางรถแข่ง 63%)
แต่เป้าหมายด้านความยั่งยืนของมิชลินยิ่งใหญ่กว่านั้น ภายในปี 2050 มิชลินตั้งเป้าที่จะพัฒนาการผลิตยางด้วยวัสดุยั่งยืนให้ได้ 100% ยางทั้งเส้นจะต้องนำมารีไซเคิลและใช้วัสดุยั่งยืนได้ทั้งหมดหลังจากสิ้นอายุการใช้งานแล้ว อีกทั้งกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การผลิต การขนส่งยาง รักษาสมรรถนะของยาง ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ที่ผ่านมาแบรนด์เองก็หยุดการห่อพลาสติกยางรถจักรยานยนต์ โดยดำเนินการไปแล้วใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย การลดใช้พลาสติกในขั้นตอนนี้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 317,700 กิโลกรัมต่อปี หรือการปลูกต้นไม้ 34,424 ต้นต่อปีเลยทีเดียว
จากความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านวัสดุโพลีเมอร์คอมโพสิตกว่า 135 ปี จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์เพื่อการเดินทาง การก่อสร้าง การบิน พลังงานสะอาด การดูแลสุขภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อพัฒนาสังคมและโลกที่ยั่งยืน
‘Motion for Life’ แคมเปญขับเคลื่อนนวัตกรรมไร้ขีดจำกัดเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
เพื่อตอกย้ำความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมที่ว่านี้ มิชลินจึงปล่อยแบรนด์แคมเปญ ‘Motion for Life’ เมื่อปี 2020 ภายใต้แนวคิด ‘มิชลินคิดค้นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปลี่ยนโลกให้ดียิ่งขึ้น’ ตอกย้ำความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมของมิชลินที่เป็นมากกว่าธุรกิจยาง แต่ยังมุ่งสร้างประสบการณ์สัญจรที่ดีต่อคุณและเป็นมิตรต่อโลก
สะท้อนให้เห็นว่ามิชลินเป็นแบรนด์ที่ไม่เคยหยุดคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งธุรกิจยางและธุรกิจอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ทุกการเดินทางเพื่อขับเคลื่อนชีวิตผู้คนและโลกที่ดีขึ้น ซึ่งแคมเปญนี้โฟกัสไปที่ ‘คุณค่าของการเดินทาง’ ที่ไม่ว่าคุณจะเลือกไปไหน บนเส้นทางไหน มิชลินพร้อมอยู่เคียงข้างคุณเสมอในทุกเส้นทาง
นอกจากการพัฒนายางรถยนต์แล้ว ที่แผนกยางล้อเครื่องบินของมิชลินทำงานร่วมกับสายการบินชั้นนำระดับโลกและผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกกว่า 50 ปี ตั้งแต่ปี 1951 และมิชลินพัฒนาโซลูชันทางเทคนิคสำหรับรถไฟใต้ดินหลายประเทศ อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังระบบขนส่งในเขตเมืองมากกว่า 60 เครือข่าย กว่า 20 ประเทศทั่วโลก
นอกจากการผลิตยาง มิชลินให้ความสำคัญในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการทดสอบยางมาตั้งแต่ปี 1972 ด้วยการสร้างห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่แห่งแรกจากการสร้างรถ ‘Mille Pattes’ เพื่อพัฒนายางรถบรรทุกที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และยังมีอีกหลากหลายนวัตกรรมที่ต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยขยายขอบเขตนวัตกรรมที่เกี่ยวกับยางและนอกเหนือจากยางเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่า นำไปสู่การสานต่อเจตนารมณ์ Motion for Life แคมเปญใหม่ของปี 2024 ในชื่อ ‘Michelin On the Road and Beyond’ ภารกิจขับเคลื่อนชีวิตที่ดีกว่าและโลกที่ดีขึ้นภายใต้นวัตกรรมที่เกี่ยวกับยางและนอกเหนือจากยางมีอะไรบ้าง?
พลิกโฉมนวัตกรรมยางเพื่อรถไฟฟ้า
เชื่อหรือไม่ว่ากว่าครึ่งของยานยนต์ไฟฟ้าจากทุกแบรนด์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Porsche, Tesla, Mercedes-AMG, BMW, Volkswagen, Ford, Lucid, Hyundai, BYD และ XPENG ไว้วางใจในนวัตกรรมยาง EV ของมิชลิน และเลือกใช้ยางมิชลินเป็นยางมาตรฐานติดรถ ไม่ว่าจะเป็นยางรุ่น Michelin Pilot Sport EV ยางสปอร์ตรักษ์โลกสมรรถนะสูงสำหรับรถสปอร์ตไฟฟ้า และ MICHELIN e.PRIMACY ยางสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด
ปี 1899 มิชลินพัฒนายางล้อสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของโลกที่ใช้ชื่อว่า ‘La Jamais Contente’ ซึ่งวิ่งได้เร็วกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาในปี 1946 ปฏิวัติวงการยาง MICHELIN X ยางเรเดียลรุ่นแรกที่มีความแข็งแรงทนทานเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และในปี 1992 ก็ได้พัฒนายาง MICHELIN Energy โดยนำซิลิกามาเป็นส่วนผสมในเนื้อยาง ช่วยยืดอายุการใช้งานและช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น
ยางล้อสำหรับรถไฟฟ้าระดับพรีเมียมอย่าง Porsche 718 Cayman GT4 E-Performance ซึ่งเป็นยางมาตรฐานติดรถที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลและวัสดุจากชีวมวลซึ่งสามารถทดแทนได้ในสัดส่วนสูงถึง 53% และยางรุ่นแรกสำหรับรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า MICHELIN X INCITY EV Z รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี MICHELIN Acoustic มาช่วยลดเสียงรบกวนจากภายในห้องโดยสารที่เกิดจากยางล้อ ล้วนตอกย้ำความเป็นผู้นำนวัตกรรมที่ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่โซลูชันการสัญจรด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ปัจจุบันยางมิชลินทุกรุ่นถูกพัฒนาขึ้นมาให้สามารถรองรับการใช้งานรถไฟฟ้าได้เช่นกัน ด้วยคุณสมบัติพิเศษของรถไฟฟ้าที่ต้องใช้พลังงานเนื่องจากแรงบิดที่สูงและน้ำหนักแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ยางสึกเร็ว จึงต้องการยางล้อที่มีคุณสมบัติพิเศษ นอกจากต้องมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน มีความนุ่มและเงียบขณะขับขี่ ขณะเดียวกันต้องช่วยเพิ่มระยะทางต่อการชาร์จแบต ด้วยเทคโนโลยี Max Touch ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่หน้าสัมผัสระหว่างยางกับพื้นผิวถนน ช่วยกระจายแรงกดที่หน้ายางให้สม่ำเสมอ ผสานเข้ากับเนื้อยางสูตรพิเศษเอกสิทธิ์เฉพาะมิชลิน เพื่อให้ได้ยางรถยนต์ที่รองรับความท้าทายทุกข้อจำกัดของรถไฟฟ้า
We Race for Change: นวัตกรรมความสำเร็จในวงการรถแข่ง
สมรรถนะยางรถแข่งของมิชลินเป็นที่ประจักษ์ต่อวงการมอเตอร์สปอร์ตมาหลายทศวรรษ แต่ก็ตามมาด้วยความท้าทายอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนายางที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยมไปพร้อมกับความยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตยาง
การแข่งขัน Le Mans 24 Hours ซึ่งจัดว่าเป็นการแข่งขันเรซซิงคาร์ที่ทรหดที่สุดในโลก เพราะต้องวิ่งบนพื้นถนนที่หลากหลาย ภายใต้สภาพอากาศและอุณหภูมิที่อาจเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ภายในเวลา 24 ชั่วโมง บนระยะทางกว่า 5,300 กิโลเมตร (3,293 ไมล์) จึงเป็นสนามแข่งที่ดีที่สุดในการพิสูจน์สมรรถนะไร้ที่ติของยาง ทั้งความสมดุลอย่างสมบูรณ์แบบ รวมถึงความปลอดภัย การยึดเกาะถนน และความอเนกประสงค์ตั้งแต่เริ่มการแข่งขันจนถึงเส้นชัย
ปี 2023 มิชลินนำเทคโนโลยีระบบจำลองเสมือนจริงเพื่อพัฒนายางมิชลินตระกูล PILOT SPORT รุ่นใหม่ และยางสำหรับรถ Hypercars และรถสมรรถนะสูงที่ใช้ในการแข่งขันเรซซิงคาร์สุดทรหดที่สุดในโลกอย่าง Le Mans 24 Hours แน่นอนว่านวัตกรรมนี้ไม่เพียงลดระยะเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประหยัดทรัพยากร และการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างมาก
โดยยางรถแข่งที่ใช้ในการแข่งขันปี 2023 เป็นยางรถแข่งที่ใช้วัสดุที่มีความยั่งยืน 63% (วัสดุชีวภาพหมุนเวียนหรือวัสดุรีไซเคิล) สำหรับต้นแบบไฮโดรเจนของ GreenGT และ Porsche GT4 e-Performance ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด
Beyond Tire: จากยางรถยนต์สู่นวัตกรรมไร้ขีดจำกัด
ก็เหมือนที่สองพี่น้องมิชลินบอก “มิชลินไม่ใช่บริษัทผลิตยางรถยนต์ แต่เป็นบริษัทที่สร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการสัญจร” และการสัญจรที่ว่าไม่ได้จำกัดแค่บนถนนเท่านั้น
ตัวอย่างนวัตกรรมที่มิชลินทำ เช่น นวัตกรรมโซลูชันจากโครงการ WISAMO (Wing Sail Mobility) หรือการสัญจรที่ขับเคลื่อนด้วยใบเรือ โดยแผนกวิจัยและพัฒนาของมิชลินทำงานร่วมกับบริษัทพัฒนานวัตกรรมสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ พัฒนาระบบใบเรือที่ยืดหดได้และพองลมอัตโนมัติ ใช้พลังงานลมเป็นแรงขับเคลื่อน เพื่อใช้ขับเคลื่อนเรือขนส่งสินค้าและเรือยอชต์แบบมีใบเรือ นอกจากช่วยลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงของเรือแล้ว ยังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
และเทคโนโลยียางไร้อากาศที่คิดค้นและพัฒนาเพื่อออกไปสำรวจอวกาศ เห็นว่าจะเป็นล้อต้นแบบที่ใช้ในการสำรวจดวงจันทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Artemis ของ NASA โดยมิชลินได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีม Moon Racer
ถือเป็นอีกก้าวสำคัญอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมามิชลินร่วมมือกับ NASA ในฐานะผู้จัดหายางเพียงรายเดียวสำหรับกระสวยอวกาศและร่วมเดินทางไปกับภารกิจ 135 ครั้ง ระหว่างปี 1981-2011
‘มิชลินไกด์’ คู่มือนักชิมที่เริ่มต้นจากการเชื้อเชิญให้คนออกเดินทาง
ถ้าผู้คนไม่ออกเดินทางแล้วยางรถยนต์จะมีความหมายอะไร? นั่นเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่สองพี่น้องมิชลินตัดสินใจทำหนังสือสีแดงเล่มเล็กแจกฟรีชื่อว่า ‘กีดรูฌ’ หรือที่คนทั่วโลกรู้จักในนาม ‘มิชลินไกด์’ ออกมา เพื่อให้คนออกเดินทางบนเส้นทางใหม่ๆ
ภายในเล่มจึงอัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่จำเป็น อาทิ การดูแลยางระหว่างทาง ปั๊มน้ำมัน โรงแรมทั่วฝรั่งเศส รวมไปถึงร้านอาหารแนะนำ โดยจะต้องเป็นร้านที่ผ่านเกณฑ์ด้านคุณภาพ รสชาติอร่อย และต้องสามารถมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับนักชิมที่ดั้นด้นขับรถไปชิมถึงที่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่กระตุ้นให้ผู้คนอยากที่จะออกเดินทางไกลมากขึ้น
ส่วนหนึ่งของคำนำในมิชลินไกด์เล่มแรกในปี 1900 ที่เขียนโดยพี่น้องมิชลิน กล่าวว่า “หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นพร้อมการเริ่มศตวรรษใหม่ และมันจะมีชีวิตยืนยาวเฉกเช่นเดียวกับศตวรรษ” จวบจนวันนี้เข้าสู่ปีที่ 124 ‘มิชลินไกด์’ ได้ขยายขอบเขตการเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ ปัจจุบันมีทั้งหมด 5,644เมือง ใน 47ประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 5 ในเอเชีย
หากดูจากสิ่งที่มิชลินเคยทำมาและยังคงทำต่อเนื่องภายใต้พันธกิจของสองพี่น้องมิชลินที่ต้องการพามนุษย์ก้าวข้ามขีดจำกัดไปสู่การเดินทางที่อิสระมากขึ้น โดยไม่จำกัดรูปแบบการเดินทาง อนาคตอันใกล้เราน่าจะได้เห็นการออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้มนุษย์เดินทางได้ไกลขึ้น สะดวกขึ้น และเข้าถึงทุกจุดหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น แน่นอนว่าจะต้องเป็นการเดินทางที่ทำให้โลกของเราดีขึ้นด้วยเช่นกัน