ในยุคเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งสงครามการค้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ของไทยกลับยังคงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน
สะท้อนจากนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์มีอัตราการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 4-5 เท่า โดยเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 200,000 บาทต่อทริปต่อคน นี่คือศักยภาพที่ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์กลายเป็นหัวใจสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
แต่เมื่อต้องเจอกับกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนต่างๆ ล้วนเป็นความเสี่ยงที่ยากจะคาดเดา แน่นอนว่าอุตสาหกรรมไมซ์เองก็ต้องเผชิญกับความท้าทายเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ
THE STANDARD WEALTH มีโอกาสเข้าร่วมงาน MICE Day 2025 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ภายในงานนี้มีการเสวนาหัวข้อ ‘MICE : The Dynamic Growth Engine for Thai Economy’ พลิกเศรษฐกิจไทยให้ก้าวกระโดดด้วยพลังแห่งงานอีเวนต์
โดยมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่มาให้ข้อมูลอินไซต์ต่อสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น และแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยสู่การเติบโตระดับโลก
โลกหลายขั้วกำลังมา! ไทยมีโอกาสทองในยุคเปลี่ยนผ่านระเบียบโลก
เริ่มจาก ‘นิกรเดช พลางกูร’ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เริ่มต้นฉายภาพใหญ่ว่า ระเบียบโลกตอนนี้กลายเป็นภาวะปกติแล้ว โดยสิ่งที่สหรัฐฯทำให้เกิดเป็นเพียงตัวเร่งที่ทำให้ทุกอย่างเดินเร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกัน หลายคนตกใจสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้น
นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
พร้อมยกตัวอย่าง สิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯเพิ่งประกาศไปเรื่องภาษีเริ่มมีความอ่อนลง และยังอยู่ระหว่างการเจรจา แต่ไม่อยากให้ตกใจเพราะวิวัฒนาการของระเบียบโลกมันเปลี่ยนทุก 80 ปี และปัจจุบันเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของโลก
ทั้งนี้ มองว่าบทสรุปของกำแพงภาษีจะออกมาในลักษณะที่โลกสองขั้วจะหายไป เปลี่ยนไปเป็นโลกหลายขั้ว จะมีความเป็นภูมิภาคนิยมและอนุภูมิภาคนิยมมากขึ้น ดังนั้นการกระจุกตัวของอำนาจจะกระจายออกไป
ถึงกระนั้นเมื่อมีโลกหลายขั้วเกิดขึ้น ประเด็นการมีปัญหากัน ระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะเป็นโอกาสให้ประเทศไทย จากเดิมแล้วไทยเรามีความสัมพันธ์กับ EU ดีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้สหรัฐเป็นตัวเร่งให้ไทยสนิทกับ EU มากขึ้น หรือต่างคนต่างกลับมาเปิดรับกันมากขึ้น
“ที่สำคัญจุดแข็งของประเทศไทยนั้นมีความสามารถในการปรับตัว จึงอยากให้รักษาตรงนี้ไว้และฝากถึงบรรดาธุรกิจอยากให้ทุกคนรู้ว่าภาวะโลกไม่ได้น่ากลัว เหมือนที่เราอ่านข่าว แต่ต้องเราต้องเปิดกว้าง ปรับตัว เรียนรู้ตามเทรนด์มากขึ้นกว่าเดิม” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำ
ไมซ์เป็น Multiplier ช่วยดึงการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ
เช่นเดียวกับ สรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวต่อไปว่า กำแพงภาษีทรัมป์ ถ้าเราเทียบกับช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีในปี 2019 เราไม่รู้ว่ามันจะจบอย่างไร แต่ 8 ปีถัดมา ทุกคนรู้แล้วว่าทรัมป์เล่นเกมเดิม เพียงแค่รอบนี้เปอร์เซ็นต์ของภาษีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย แต่ถ้ามองบวก ทำไมไทยโดนภาษี 36% จริงๆ มันคือสูตรที่ไทยเกินดุลการค้า
สรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย
เพราะฉะนั้นข้อดีเรารู้แล้วว่ากรณีเลวร้ายคืออะไร ในมุมของนักการเงินการที่เรารู้กรณีเลวร้าย คือเรื่องที่ดี และตลาดทุนชอบรู้ดีกว่าไม่รู้ จึงอยากฝากถึงนักธุรกิจและผู้ประกอบการ ให้ปรับตัว ติดตาม และให้ความหวังกันเองอย่ากลัวจนเกินไป
ถามว่าทำไมจึงคิดว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจไม่เกิดขึ้น คือรอบนี้ผลกระทบของเศรษฐกิจสหรัฐฯหลายคนอาจจะมองว่า เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่จริงๆ รอบนี้ไม่ได้เป็นแค่ Recession ซึ่งไม่ได้น่ากลัวเพราะธนาคารโลกรับมือได้ ที่น่ากลัวคือมันย้ายจาก Recession สู่ภาวะ Stagflation เศรษฐกิจชะลอ GDP หดตัว เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
ในมุมของนักลงทุนคาดการณ์ว่าเกมระยะยาวสหรัฐจะกลายเป็นผู้แพ้ Crisis รอบนี้เกิดขึ้นเร็ว แน่นอนว่าการที่สหรัฐฯให้ทุกประเทศเข้าไปเจรจาต่อรอง เรามองว่ามีโอกาสได้เห็นอัตราภาษี 10% ทั่วโลก
พร้อมฝากถึงนักธุรกิจและผู้ประกอบการ ให้ปรับตัว อย่ากลัวจนเกินไป ทุกคนต้องตามข่าวเรื่องการเจรจา เช่นเดียวกับ อุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งเป็น Multiplier มูลค่าสูงช่วยดึงการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ จริงๆ แล้วไมซ์ไม่ได้เป็นการกระตุ้นสินค้าอย่างเดียว แต่เป็นการกระตุ้นบริการด้วย
“อีกทั้งวันนี้ GDP ไทยมีองค์ประกอบอยู่ 5 เครื่องยนต์ ไมซ์ได้ทั้งในฝั่งของการท่องเที่ยว และได้ในฝั่งของการลงทุน FDI ด้วย ทำให้นักลงทุนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น สุดท้ายแล้วเชื่อว่าไมซ์ไทยเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่การท่องเที่ยวไทยยังกระจุกตัวอยู่ รายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว 70% กระจุกตัวอยู่แค่ 5 จังหวัด กรุงเทพ เชียงใหม่ ภูเก็ต สมัย ชลบุรี แล้วอีกจังหวัดที่เหลืออีก 60% ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเติบโต และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นตัวผลักดัน จากนั้นก็จะเกิดการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดนั้นๆ ได้” สรพลย้ำ
ทางรอดธุรกิจ MICE จับมือดัน Online สู่ Physical Space
ในเซ็กชันนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในอุตสาหกรรมไมซ์มาร่วมเสวนาเริ่มจาก ‘พอลล์ กาญจนพาสน์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนว่ามีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์ แต่เรารับมือได้เพราะถ้าเรามองย้อนไป 30-40 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเจอความท้าทายมาตลอดโดยเฉพาะโควิด และสุดท้ายทุกคนต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อ
พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด
ถามว่าภูมิทัศน์จะเปลี่ยนไปหรือไม่ ในมุมไมซ์ถ้ามองเป็น Exhibition จะกระทบระยะสั้น แต่ถ้าเป็นงานเทรดโชว์ งานแสดงสินค้า THAIFEX จะมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา แต่ไม่ใช่ว่ามาแล้วกลุ่มคนเหล่านี้จะมาซื้อของจากไทย แต่อาจไปซื้อจาก Exhibitor จากประเทศอื่น ซึ่งกระทบแน่นอน
อีกหนึ่งสิ่งที่แย่ที่สุดเราเริ่มเห็นแล้ว ในวงการไมซ์เราต้องปรับตัวอาจจะมาคอลแลบกันเป็นพาร์ตเนอร์กันมากกว่าและร่วมกันผลักดัน Onlinecommunity สู่การจัดงานแบบ Physicalspace
“เชื่อว่าไทยปรับตัวเก่งกว่าสมัยก่อน ที่เรามีการพึ่งพาตลาดยุโรปค่อนข้างมาก แต่ช่วงหลังเมื่อจีนเข้ามามากขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่อย่างไรเราก็ต้องกระจายความเสี่ยง ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลจะต้องร่วมมือกันหาตลาดใหม่ จะต้องไม่ฝากทุกอย่างไว้ในตะกร้าเดียวกัน”พอลล์ย้ำ
ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเร่งสนับสนุนไมซ์ไทยออกไปสู่เวทีโลก
เช่นเดียวกับ สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท RGB72 จำกัด และผู้จัดงาน Creative Talk Conference กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า อุตสาหกรรมไมซ์ไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากสังเกตจะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีคนจัดงาน Conference มากขึ้น สะท้อนถึงเรื่องความต้องการของผู้คนที่เสพคอนเทนต์บนออนไลน์ แต่ในปีนี้เริ่มเห็นเทรนด์ของคนที่อยากออกมาร่วมกิจกรรมเจอหน้ากันเหมือนเดิม ทำให้มีการจัดงานอีเวนต์เพิ่มขึ้น
สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท RGB72 จำกัด และผู้จัดงาน Creative Talk Conference
เมื่อจำนวนงานเพิ่มขึ้นก็ช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเติบโต ในฐานะผู้ประกอบการ มองว่าไทยอยู่ในโลเคชันที่ดี และพร้อมที่จะเป็นจุดศูนย์กลางของการจัดงานไมซ์ระดับโกลบอลและอาเซียน และสิ่งสำคัญเรื่องของคนไทยมีคาแรกเตอร์โดดเด่น เราเป็นประเทศขึ้นชื่อเรื่อง Entertainment
ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะทำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน เพราะที่ผ่านมาไทยเราสนับสนุนงานจากต่างประเทศเข้ามาจัดในไทยจำนวนมาก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสนับสนุนงานของคนไทยออกไปสู่เวทีโลก
TCEB จัดงาน MICE DAY 2025 ชูแนวคิดพลิกโฉมอุตสาหกรรมสู่เวทีโลก
ด้าน จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ TCEB กล่าวว่า TCEB ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้มีขีด ความสามารถในการแข่งขันระดับสากลเพื่อให้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เชื่อมั่นในระบบนิเวศไมซ์ไทย ที่มีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับตัวรับมือก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ จึงทำให้
โดยการจัดงาน MICE Day 2025 กำหนดแนวคิด ‘Unfolding Journey : Authenticity, Technology, Sustainability’ เพื่อนำเสนอให้เห็นและเข้าใจเส้นทางของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยที่ต้องบริหารจัดการปัญหาท้าทายใหม่ๆ และเพื่อกำหนดทิศทางที่ชัดเจนต่อจากนี้ไป
TCEB จึงประกาศ 3 แนวคิดคือ Authenticity, Technology และ Sustainability สำหรับทุกภาคส่วนใช้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้มีจุดขายที่แตกต่าง มีขีดความสามารถใน การแข่งขันอย่างยั่งยืน
เพราะทั้ง 3 แนวคิดสามารถตอบโจทย์การจัดงานของภาคธุรกิจยุคใหม่ได้ ทั้งในเรื่องการ แสวงหาประสบการณ์ตรงกับวิถีท้องถิ่น และสร้างมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ที่เข้าไปจัดงาน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ใน การจัดงานเพื่อให้สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่าง และการบรรลุเรื่องความยั่งยืนที่วัดผลได้ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ TCEB จะใช้งาน MICE Day 2025 เป็นเวทีกระตุ้นอุตสาหกรรมไมซ์ไทย โดยในปี 2569 จะเดินหน้าสู่ MICE Celebration Year ของประเทศไทย และเตรียม จัดงาน Thailand MICE Week 2026 เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางไมซ์
โดยในปีหน้า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานขนาดใหญ่ อาทิ งาน มหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานีพ.ศ. 2569 งานประชุมระดับโลก The 2026 Annual Meetings of the World Bank Group and the International Monetary Fund (IMF) งาน World Congress on Pain 2026 งาน UFI Asia Pacific Conference 2026 งาน Global Sustainable Tourism Conference 2026 เป็นต้น
หากย้อนไปถึงภาพรวมผลการดำเนินงานอุตสาหกรรมไมซ์ในปีงบประมาณ 2567 พบว่า มีจำนวนนักเดินทางไมซ์ทั้งหมด 25 ล้านคน เพิ่มขึ้น 43.47% ถ้าเทียบจากปี 2566 สร้างรายได้ให้แก่ประเทศรวมมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.27%
ทั้งนี้ในปี 2568 ตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะมีนักเดินทางไมซ์รวมทั้งสิ้น 34 ล้านคน ทำรายได้ 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 1.4 ล้านคน รายได้ 9.2 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 32.6 ล้านคน ทำรายได้ 1.08 แสนล้านบาท