×

กางโรดแมปก้าวไกลปี 67 ‘พิธา’ เตรียมประเมิน KPI ประธาน กมธ. – ลุยซักฟอกรัฐบาล เม.ย. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
26.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (26 มกราคม) ที่รัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงแผนการทำงานพรรคก้าวไกล ปี 2567 (MFP’s Strategic Roadmap) กว่า 20 นาที

 

โดยพิธาระบุว่า มีเป้าหมายสำคัญ 6 เป้าหมาย ได้แก่

 

  1. การทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ผ่านการปฏิรูปทหาร การแก้รัฐธรรมนูญ
  2. การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ผ่านการยกระดับสวัสดิการและขนส่งสาธารณะ
  3. การหยุดแช่แข็งชนบทไทย ผ่านการสนับสนุนทางการเกษตร
  4. การปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่ ผ่านการกระจายอำนาจ ปฏิรูประบบราชการ
  5. การเรียนรู้ทันโลก ผ่านการตัดอำนาจนิยมในสถานศึกษา เสริมสร้างทักษะผู้เรียน
  6. การเติบโตแบบมีคุณภาพ ผ่านการสร้างงานและสนับสนุน SMEs

 

โดยจะดำเนินการผ่านการเสนอแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และเสนอร่างกฎหมายเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 47 ฉบับ สนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอกับการดำเนินงาน และกำหนดแผนปฏิบัติการ รวมถึงพิจารณาความพร้อมของบุคลากร เพื่อให้เป้าหมายสัมฤทธิผล

 

พิธายังกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคว่า ขณะนี้มีร่างกฎหมายของพรรคที่สภากำลังพิจารณา ทั้งสมรสเท่าเทียม การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ และกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่คณะรัฐมนตรีขอนำไปพิจารณา 60 วัน ส่วนร่างกฎหมายที่บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมแล้ว และรอการพิจารณาจำนวน 17 ฉบับ และยังมีร่างข้อบังคับ 1 ฉบับที่ถูกสภาปัดตกไปแล้ว ได้แก่ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาก้าวหน้า

 

ทั้งนี้ นโยบายการสมรสเท่าเทียม, สุราก้าวหน้า, การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร, การเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด และการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ถือเป็นนโยบายเรือธงของพรรคก้าวไกลที่จะเสนอเป็นร่างกฎหมาย เพื่อให้เป้าหมายประสบความสำเร็จ

 

กางโรดแมปงานปี 2567

 

ส่วนหมุดหมายสำคัญของการทำงานในปี 2567 นั้น พิธาระบุว่า จะมีการกำหนด KPI และตัวชี้วัด เพื่อประเมินประธานกรรมาธิการฯ ในสัดส่วนของพรรคและ สส. ของพรรค ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

 

จากนั้นในเดือนเมษายน พรรคจะพิจารณาในการเปิดอภิปรายรัฐบาลว่าจะเป็นในรูปแบบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายทั่วไป ก่อนจะมีการประชุมใหญ่ของพรรคในเดือนเดียวกัน เพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างองค์กร

 

ในช่วงกลางปีจะมีการเตรียมการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2568 และปลายปี 2567 นี้ พรรคจะพิจารณาการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น

 

ตรวจสอบรัฐบาลเข้มหลังพิธาเข้าสภา

 

จากนั้นพิธาได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในแง่ของฝ่ายค้านจะมีการตรวจสอบรัฐบาลอย่างไรว่า ก็คงมีการทำงานร่วมกันของพรรคฝ่ายค้านเหมือนกันทุกองค์กร ซึ่งแม้จะต่างพรรคกัน คงต้องมารวมกันทุกพรรค

 

พิธากล่าวอีกว่า ส่วนภาพที่รัฐบาลจะต้องเจอภายหลังจากที่ตนกลับมานั้น ในทุกสัปดาห์เราจะมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คอยเก็บข้อมูล และลงพื้นที่ไปรับฟังพี่น้องประชาชน ทีมงานเบื้องหลังก็มีการเรียบเรียงข้อมูลให้เห็นว่าภาพที่รัฐบาลทำมีอะไรบ้าง และมีอะไรบ้างที่รัฐบาลควรจะต้องปรับปรุง ตามกลไกของรัฐสภา ตั้งแต่เดือน เมษายนเป็นต้นไป

 

ส่วนการเตรียมหัวข้อในการอภิปราย พิธากล่าวว่า เน้นไปที่ 3 หัวข้อใหญ่คือ

 

  1. ความล้มเหลวในการบริหาร
  2. การประพฤติมิชอบ คอร์รัปชัน และ
  3. การทำงานช้า น้อย หรือสายเกินไป ไม่ตรงกับความท้าทายของศักยภาพประเทศ

 

ตอนนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้พูด แต่ทีมงานหลังบ้านกำลังทำข้อมูลเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ ในส่วน กมธ. ก็สามารถเรียกข้อมูลเพิ่มเติมได้ พร้อมย้ำด้วยว่า “สัญญากับพี่น้องประชาชนว่าจะไม่ทำให้ผิดหวัง”

 

เมื่อถามว่ากลัวจะเป็นการสกัดดาวรุ่งของตัวเองหรือไม่ เนื่องจากได้เปิดเผยความต้องการในการทำงานไปแล้ว พิธากล่าวว่า การทำงานของตนไม่ได้มีแค่ตนและรัฐบาล แต่มีฝ่ายประชาชน, ฝ่ายข้าราชการ, NGOs, องค์การระหว่างประเทศ ร่วมด้วย ถ้าตนไม่พูดว่าต้องการอะไรก็จะสะเปะสะปะ ภาคส่วนอื่นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าร่วมตรงไหน อย่างไร กับใคร และมองไม่เห็นการเมืองแห่งความเป็นไปได้ ต้องหาดุลยภาพให้เจอ

 

เรียนรู้ พร้อมในวันที่เป็นรัฐบาล

 

พิธากล่าวว่า เราอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ การทำกฎหมายที่ก้าวหน้าเป็นหน้าที่ของเรา แน่นอนว่าต้องตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาเต็มที่อยู่แล้ว แต่การตรวจสอบยังไม่พอ ต้องมีการแนะนำ ขณะเดียวกันต้องเรียนรู้ในกระบวนการ

 

“เมื่อเราเป็นรัฐบาลด้วยตัวเอง เราจะได้ไม่มีข้อติดขัดต่างๆ ทำงานได้เลย เป็นการเรียนรู้ไปในตัว” พิธากล่าว

 

เมื่อถามถึงนโยบายที่มีตรงกันกับพรรคร่วมรัฐบาลมั่นใจแค่ไหนว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะผลักดันนโยบายให้ผ่าน พิธากล่าวว่า มี 2 กฎหมายที่เราสามารถผ่านสภาได้ ทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ว่าไปกันคนละทาง แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีกฎหมายที่ดีที่ตอบโจทย์กับพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ในเมื่อมีทิศทางไปในทางเดียวกัน ก็ไม่เห็นข้อจำกัดหรือข้ออ้างใดๆ ที่จะปัดตกตั้งแต่ชั้น กมธ. วาระแรก เพื่อให้ไปคุยกันในรายละเอียดวาระสอง และลงมติในวาระสาม ถ้าผ่านได้ก็คิดว่าเป็นผลงานของสภาร่วมกัน และพี่น้องประชาชนจะได้ประโยชน์

 

ก้าวไกลไม่อ่อนแอปม ‘ทักษิณ’

 

พิธากล่าวถึงกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการตรวจสอบของพรรคก้าวไกลอ่อนแอ โดยเฉพาะกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าไม่เป็นความจริง วันนี้เราตรวจสอบทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมา และเรื่องของทักษิณนั้น ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ตั้งกระทู้ถามสดในสภาแล้ว เป็นเรื่องของระบบ ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่ต้องการทำให้กลายเป็นเรื่องของความสะใจ มองว่าระบบควรจะมีความเท่าเทียม สำหรับคนที่ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง และคนที่ต้องลี้ภัยไปหลายประเทศ มีหลายคนที่แสดงความเห็นทางการเมืองแล้วไม่สามารถกลับบ้านได้ ทุกคนควรได้รับโอกาสกลับเข้าสู่กระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน เราจึงพยายามผลักดันเรื่องนิรโทษ โดยที่ไม่ได้ต้องการสนับสนุนหรือโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ต้องเห็นประเทศไทยเป็นนิติรัฐของอภิสิทธิ์ชน

 

เมื่อถามว่าภาพจำตอนนี้คนคิดว่าพรรคก้าวไกลไม่กล้าแตะเรื่องทักษิณ มีการเปรียบเทียบว่าสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยังทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านได้ดีกว่าด้วยซ้ำ พิธากล่าวว่า การทำงานที่มีประสิทธิภาพไม่ได้หมายความว่าใครทำก่อนทำหลัง แต่อยู่ที่ว่าใครทำได้ตรงเป้าหมายมากกว่ากัน ถ้า สว. เห็นว่าเวลาที่เหมาะสมในการเปิดอภิปรายตอนนี้ เขาก็อาจจะยื่นก่อน แต่สิ่งที่น่าแปลกก็คืออยู่มาหลายปีเพิ่งเห็น สว. ตรวจสอบรัฐบาล ที่ผ่านมาไม่เคยมี แต่ยืนยันว่าเราอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกปี และไม่เคยทำให้ผิดหวัง

 

ส่วนที่มองว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างจริงจังนั้น พิธากล่าวยืนยันว่าจะติดตามตลอด และจะใช้กลไกทั้งในและนอกสภาในการทำงานตรงนี้ ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน มีหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์ไหนที่จะมาเรียงลำดับความสำคัญ 

 

เชื่อฉากทัศน์ที่แย่ที่สุดก้าวไกลยังจัดการได้

 

เมื่อถามว่าได้คิดฉากทัศน์ภายหลังศาลธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีนโยบายหาเสียง 112 ไว้แล้วใช่หรือไม่ พิธากล่าวว่า มีการคิดไว้แล้ว ถึงแม้จะเป็นฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด พรรคก้าวไกลก็ยังบริหารจัดการได้ ไม่ได้ทำให้ภาพรวมใหญ่ทั้งปีต้องสะดุดลง ตนคิดว่าสามารถบริหารจัดการได้ แต่ยังลงรายละเอียดไม่ได้

 

ขออย่าเทียบ ‘เศรษฐา’ ปมพบประธานาธิบดีเยอรมนี

 

ส่วนภาพการเข้าพบ ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี วานนี้ พิธากล่าวว่า เป็นคำเชิญจากทางเยอรมนี ไม่แน่ใจว่าเป็นความประสงค์ของท่านประธานาธิบดีโดยตรงหรือเปล่า แต่ว่ามีการติดต่อมาจากทางการเยอรมนีว่าขอพบปะอย่างไม่เป็นทางการ ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านประธานาธิบดีและคณะประมาณ 30-40 นาที ก็ได้พูดคุยกันหลายเรื่อง

 

ส่วนกรณีที่ในการแถลงข่าวของประธานาธิบดีเยอรมนีกับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยเมื่อวานนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการพูดถึงคดีหุ้นสื่อไอทีวี และการมาพบกับพิธาจะมองว่ามีการนำไปเปรียบเทียบกับเศรษฐาหรือไม่นั้น พิธาระบุว่าคงไม่เป็นอย่างนั้น เท่าที่ดูตารางงาน ท่านประธานาธิบดีได้วางเวลาอย่างสมดุล ทั้งภาคเอกชน รัฐบาล พรรคการเมือง รวมถึงการชมศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) ท่านคงวางแผนให้เกิดความสมดุลตรงนั้น

 

“ตัวผมเองได้มีโอกาสขอบคุณท่านประธานาธิบดีที่แสดงถึงความห่วงใยสุขภาพของประชาธิปไตยไทย เชื่อว่าถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องของตัวผม ท่านก็คงพูดในลักษณะนั้นอย่างดี เพราะว่าท่านเป็นมิตรประเทศกับประเทศไทย มีความสัมพันธ์ 162 ปี ก็ต้องขอบคุณท่านที่เป็นประมุขของรัฐที่คำนึงถึงคุณค่าของเพื่อนประเทศที่เป็นมิตรกันมานาน” พิธากล่าว

 

พิธาระบุด้วยว่า คงเป็นเรื่องบังเอิญที่ทำงานวันแรกก็ได้พบ ท่านก็คงมีกำหนดเดินทางมา ซึ่งได้เดินทางไปเวียดนามมาก่อนและเดินทางมาประเทศไทย ส่วนตนเองศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นคนกำหนดให้วินิจฉัยวันที่ 24 มกราคม ก็เป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า แต่ถือเป็นกำลังใจ

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising