×

สภาโหวตคว่ำญัตติก้าวไกลเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติ ส่งเรื่องให้ กมธ.การศึกษาพิจารณาแทน

โดย THE STANDARD TEAM
18.10.2023
  • LOADING...
ปัญหาการศึกษา

วันนี้ (18 ตุลาคม) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาญัตติเรื่อง ขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย หรือเด็กรหัส G เสนอโดย ปารมี ไวจงเจริญ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ ซึ่งมีการเสนอญัตติและอภิปรายต่อเนื่องมาจากการประชุมครั้งก่อน

 

ในที่ประชุมวันนี้มี สส. พรรคก้าวไกลหลายคนร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว เช่น เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส. บัญชีรายชื่อ สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กไร้สัญชาติที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระบบรวมกันกว่า 2 แสนคน เนื่องจากในประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีสงครามและปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้คนส่วนหนึ่งจำเป็นต้องเข้ามาแสวงหาโอกาสเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย 

 

ดังนั้นสังคมไทยจึงต้องเปิดใจโอบรับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ โดยมองพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่ลูกหลานของพวกเขา ในอนาคตคนกลุ่มนี้จะเป็นคนทำงานที่มีฝีมือ เป็นผู้บริโภค และเป็นผู้เสียภาษี ย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งสิ้น

 

การจัดการศึกษาให้กลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นภาระของสังคมไทย การใช้งบประมาณ 300-500 ล้านบาทต่อปี ไม่เกินศักยภาพที่รัฐบาลไทยจะทำได้ และถ้าหากรัฐบาลไทยมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ก็มีโอกาสขอรับเงินช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้ด้วย

 

ขณะที่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เป็นผู้สรุปญัตติหลังจบการอภิปราย โดยระบุว่า เด็กทุกคนในประเทศนี้มีความคาดหวังว่าสภาแห่งนี้จะตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาไม่ให้มีเด็กคนใดตกหล่นไปจากระบบการศึกษาของประเทศนี้อีก ทุกคนน่าจะเคยอ่านหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อยมาก่อน ประโยคสำคัญของเรื่องบอกไว้ว่า เวลาเราจะคิดหรือทำอะไรในเรื่องของเด็ก ท่านจะใช้สายตาหรือใช้หัวใจในการมอง 

 

“การลงมติในญัตตินี้จึงสำคัญมาก ท่านจะตัดสินโดยใช้สายตาที่แต่ละคนสั้นหรือยาวไม่เท่ากัน มีกรอบวิธีคิดที่แตกต่างกัน หรือจะใช้หัวใจในการตัดสินใจว่าทุกคนที่เป็นเด็กในประเทศนี้คือลูกหลานของเรา” ณัฐวุฒิกล่าว

 

จากสถิติเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 มีเด็กที่ไร้ทะเบียนราษฎรหรือไร้สัญชาติไทยอยู่ในโรงเรียนกว่า 3 แสนคน แต่ได้รับการยืนยันว่ามีตัวตนเพียง 1.1 แสนคน ส่วนอีกเกือบ 2 แสนคนไม่มีการลงรหัสยืนยันตัวตน นอกจากนี้ ประเด็นเด็กไร้สัญชาติไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับการลงรายการสถานะบุคคลของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งปัจจุบันมีเด็กไร้สัญชาติที่ได้รับการลงเลข 13 หลัก เพียง 89,000 คน ตกหล่นและอยู่ระหว่างการสอบประวัติอีกกว่า 40,000 คน เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว และไม่อยู่ในขอบเขตที่กรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งจะทำการศึกษาได้

 

ที่สำคัญกว่านั้น ประเทศไทยกำลังจะถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรงจากนานาอารยประเทศในที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติปลายปีนี้ รวมถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรณีการพยายามส่งตัวเด็กไร้สัญชาติ 126 คนกลับไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในประเด็นนี้คณะกรรมาธิการการศึกษาเพียงคณะเดียวจะสามารถตอบคำถามนี้ได้หรือไม่

 

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมา เพราะเรื่องนี้ครอบคลุมใน 4 มิติ ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ แรงงาน และสิทธิความเป็นพลเมืองหรือความเป็นมนุษย์ ซึ่งณัฐวุฒิย้ำว่า เวลาพูดถึงสิทธิเด็ก เด็กพูดด้วยตัวเองไม่ได้ สภาแห่งนี้จึงต้องเป็นศูนย์กลางในการยืนยันเรื่องนี้

 

“เรากำลังพูดถึงเด็กหลายแสนคนในประเทศไทยที่ไม่มีแม้แต่โอกาสในการเดินเข้าโรงเรียน ผมอยากวิงวอนเชิญชวนให้ทุกท่านอ่านเจ้าชายน้อย และใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ กล้าที่จะใช้หัวใจของท่านในการลงมติแทนการใช้สายตาแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะส่งให้คณะกรรมาธิการคณะใดคณะหนึ่งไปดำเนินการ พรรคก้าวไกลขอยืนยันให้สภาแห่งนี้ลงมติสนับสนุนการจัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่ใช่เพื่อพรรคก้าวไกล เพื่อฝ่ายค้าน หรือสภาแห่งนี้ แต่เพื่อเด็กๆ ทุกคนในประเทศนี้” ณัฐวุฒิกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนการลงมติ วิปรัฐบาลได้ประสานมายังพรรคก้าวไกลว่าจะลงมติไม่เห็นชอบกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าว โดยมองว่าประเด็นนี้สามารถมอบให้คณะกรรมาธิการการศึกษาไปพิจารณาเพียงคณะเดียวได้ ทำให้ผลการลงมติออกมาที่เห็นด้วย 164 เสียง และไม่เห็นด้วย 245 เสียง การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้นจึงไม่เกิดขึ้น โดยคณะกรรมาธิการการศึกษาจะรับไปดำเนินการต่อ และใช้กรอบเวลา 90 วันในการดำเนินการให้แล้วเสร็จ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X