×

สส. ก้าวไกล ชี้ รัฐยกปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ แต่จัดงบสวนทาง หรือต้องจุดธูปขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยแทน

โดย THE STANDARD TEAM
04.01.2024
  • LOADING...
ปัญหาฝุ่น PM2.5

วันนี้ (4 มกราคม) ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. จังหวัดเชียงใหม่ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า นักการเมืองหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยให้คำมั่นสัญญาอะไรกับประชาชนก็ได้ แต่สิ่งเดียวที่โกหกประชาชนไม่ได้คือตัวเลขงบประมาณ อย่างเช่น ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่รัฐบาลยกให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่งบประมาณที่จัดทำกลับน่าผิดหวัง ไม่ได้สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหา ไม่ได้ทำให้เห็นความมุ่งมั่นแก้ปัญหานี้ ซึ่งตนเคยอภิปรายไปเมื่อวันแถลงนโยบายแล้วว่าปัญหานี้ต้องแก้ทั้งโครงสร้าง เปรียบเหมือนอาคาร 5 ชั้น เริ่มตั้งแต่การวางแผนด้วยข้อกฎหมาย และตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไปแล้ว 4 ร่าง แต่การสร้างตึกชั้นอื่นๆ ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารด้วย 

 

เริ่มกันที่ชั้น 1 กระทรวงสาธารณสุขมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 เพียงแค่ผิวเผิน แบ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาลกรีนแอนด์คลีน 292 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผู้ได้รับผลกระทบฝุ่นละออง และอีก 6.2 ล้านบาทไปอยู่ที่กรมอนามัย ซึ่งทำให้เห็นว่าจัดงบน้อยเมื่อเทียบกับการตั้งเป้าหมายว่าปี 2567 จะลดจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจลง 5% การจัดงบเพียงเท่านี้รัฐบาลเข้าใจปัญหาประชาชนบ้างหรือไม่ เปลี่ยนจากการใส่ใจเรื่องปากท้องมาดูแลเรื่องปอดบ้างได้หรือไม่ 

 

นอกจากนี้ควรมีการจัดงบในการซื้ออุปกรณ์ป้องกัน PM2.5 ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและอาสาสมัครด้วย พร้อมตั้งคำถามถึงงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่มีเรื่องของเครื่องฟอกอากาศให้กับโรงเรียนในสังกัดกระทรวงแม้แต่นิดเดียว เป็นเรื่องน่าอายมากที่แม้แต่โรงเรียนก็ไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้กับลูกหลานได้

 

วิกฤตแบบไหน งบประมาณไม่มี

 

ชั้นที่ 2 ไฟเกษตร ภัทรพงษ์กล่าวว่า ตนตั้งความหวังไว้สูงมาก เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นอดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญการแก้ปัญหา PM2.5 อย่างเป็นระบบ ซึ่งผลการศึกษาสรุปว่า ปี 2567 รัฐตั้งเป้าลดการเผาภาคเหนือ 50% แต่ให้งบเพียง 10% นอกจากนี้งบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ถูกปรับลด งบประมาณไม่มี ถามว่าวิกฤตแบบไหนถึงได้จัดงบแบบนี้

 

ส่วนชั้นที่ 3 ไฟป่า มีงบประมาณเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน โดยเฉพาะงบอุปกรณ์ดับไฟป่าให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร งบจัดทำจุดเฝ้าระวังไฟป่า 1,000 จุดในพื้นที่กรมอุทยาน ทั้งที่มีความรู้และข้อมูลทั้งหมด โดยเฉพาะพฤติกรรมการเผาไม้ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนตั้งแต่ปี 2563-2566 และสิ่งที่ผิดหวังคืองบยังกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ไม่ได้กระจายไปอยู่ที่ท้องถิ่น 

 

“จะให้เขาควักเงินเองหรือจะให้ทอดผ้าป่า ขายบัตรรำวง เอาเงินมาดับไฟป่า หรืออยากให้นายกรัฐมนตรีตอบว่าทำไมถึงยังไม่สามารถจัดสรรงบให้ท้องถิ่นได้อย่างเพียงพอ ขอมา 1709 ล้านบาท ทำไมให้ได้แค่ 50 ล้านบาท” ภัทรพงษ์กล่าว

 

วอนรัฐแก้ปัญหาฝุ่น หรือต้องจุดธูป 16 ดอกขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย

 

ขณะที่ชั้นที่ 4 การพยากรณ์และการแจ้งเตือน ภัทรพงษ์กล่าวว่า การพยากรณ์ที่แม่นยำต้องมีเครื่องมือที่ดี แต่งบเหมือนให้อยู่ที่จังหวัดสงขลา จังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ขอให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมช่วยชี้แจงด้วย และเมื่อพยากรณ์แล้วก็ต้องแจ้งเตือน แต่เห็นงบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่แจ้งเตือนผ่านสัญญาณโทรศัพท์ จึงขอเสนอแนะให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้ กสทช. ใช้งบจัดสรรในส่วนนี้ไปเลย เพื่อจะได้ใช้ Cell Broadcast ก่อนปี 2568 พร้อมฝากกระทรวงมหาดไทยไปยัง ปภ. ว่า แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert ทุกวันนี้ยังไม่เห็นมีการแจ้งเตือน รวมทั้งขอให้ใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมมาประเมินเรื่องของเชื้อเพลิงและใบไม้แห้งในพื้นที่ป่า ให้สามารถจัดทำแนวกันไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ชั้นที่ 5 ศูนย์บัญชาการ ภัทรพงษ์กล่าวว่า การที่รัฐบาลได้ให้งบลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 797.5 ล้านบาท แต่รายละเอียดไม่มี โดยเฉพาะการเจรจาฝุ่นพิษข้ามพรมแดนตามกลยุทธ์ฟ้าใส ‘CLEAR Sky Strategy’ ซึ่งกลยุทธ์นี้มีมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ยังไม่เคยเห็นผลความคืบหน้า ขอให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงและแก้ไขงบในส่วนนี้ด้วย 

 

“ไม่เช่นนั้นทางออกเดียวที่จะแก้ไขได้คือ ต้องจุดธูป 16 ดอก ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภาวนาให้ธรรมชาติเบาบางลงไปเอง เพราะทุกวันนี้รัฐยังไม่มีมาตรการใดๆ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่มาจากการเผาให้กับประเทศไทยเลย และหวังว่ารัฐบาลจะไม่ได้สนใจปัญหานี้แค่เฉพาะช่วงที่มีปัญหาเท่านั้นเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา” ภัทรพงษ์กล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising