วันนี้ (18 เมษายน) ที่รัฐสภา จุลพงศ์ อยู่เกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีที่รัฐบาลยืนยันเดินหน้าดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยระบุว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นผู้บริหารธนาคารในระดับอาเซียน อดห่วงไม่ได้กับท่าทีรัฐบาลในโครงการนี้ จึงขอเตือนไปยังรัฐบาลในความเสี่ยง 3 เรื่องที่จะเกิดขึ้น
ความเสี่ยงเรื่องแรกคือ การเตรียมตัวกับวิกฤตในอนาคต ในขณะนี้ ทุกท่านทราบข่าวการเกิดวิกฤตการสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป ตะวันออกกลาง และอีกหลายแห่งทั่วโลกขึ้น และถ้าโลกเกิดวิกฤตจากความไม่สงบขึ้น จนกระทบเศรษฐกิจในระดับโลก หรือหากเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงในประเทศ เช่น ปี 2554 ขึ้นอีก ในปีนี้ หรือปี 2568 ประเทศไทยจะประสบกับความยากลำบากในการเผชิญกับวิกฤต มองว่าเราใช้จ่ายเงินเกินตัว
ถ้ามีการแจกเงิน 5 แสนล้านบาทตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว แต่เศรษฐกิจของไทยไม่ได้เติบโตตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้หรือเติบโตน้อย ความเสี่ยงของประเทศไทยในการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกหรือภูมิภาคที่อาจเกิดขึ้นจะทำได้ยาก รัฐบาลคงจะคาดหวังจากการเก็บภาษีมาเป็นรายได้ เพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคตไม่ได้ เพราะหากเรามาดูตัวเลขรายได้ของประเทศจากภาษี ประเทศไทยมีรายได้จากเก็บภาษีราว 13.7% เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งน้อยมากเพราะลดลงกว่าเมื่อก่อนที่อยู่ราว 17% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับในประเทศพัฒนาแล้ว มีการเก็บภาษีได้ราว 35% ของจีดีพี
“ท่านนายกฯ เองเพิ่งบ่นว่ากรมศุลกากรเก็บภาษีตามคนเมาถึง 1 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงถือเป็นความเสี่ยงมากขึ้นของประเทศในการรับมือกับวิกฤตในอนาคต พูดง่ายๆ คือ เราใช้จ่ายเกินตัวแต่มีรายได้ต่ำ” จุลพงศ์กล่าว
จุลพงศ์กล่าวต่อไปว่า ความเสี่ยงเรื่องที่สอง คือการขาดงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากของรัฐบาล เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรและคนชั้นกลาง คนยากจน และการช่วยเหลือเอสเอ็มอี หากเราไม่สามารถยกระดับเกษตรกรและคนยากจนขึ้นมาเป็นคนชั้นกลางได้ ประเทศไทยก็ไม่มีทางที่จะขับเคลื่อนด้วยคนชั้นกลางเหมือนประเทศอื่นๆ ที่เขาสามารถข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ และหากไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนเอสเอ็มอีในจีดีพีให้มากขึ้น ประเทศไทยก็เดินหน้าต่อได้ยาก
หากเป้าหมายของการแจกเงิน 5 แสนล้านบาทไม่สำเร็จ คือเศรษฐกิจไม่โตตามที่รัฐบาลคาดไว้ รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลชุดหน้าก็จะไม่มีเงินมากพอที่จะดูแลคนยากจนและเกษตรกรได้ทั่วถึงอีกต่อไป ดูตัวอย่างง่ายๆ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีหนี้โดยเฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้น การแจกเงินตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาท โดยห้ามไม่ให้ใช้ในการชำระหนี้ คงไม่ได้ช่วยเกษตรกร
ความเสี่ยงเรื่องสุดท้ายคือ การทุจริตคอร์รัปชัน ที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของไทยยังมีช่องว่างเยอะมาก เช่น การจัดทำซูเปอร์แอป ซึ่งรัฐบาลเพิ่งจะบอกว่าสร้างขึ้นใหม่นั้น ใครจะเป็นคนจัดทำ หากจะให้เอกชนเข้ามาทำ มีการจัดจ้างแล้วหรือยัง ในเมื่อจะลงทะเบียนผู้ค้าในไตรมาส 3 คือเริ่มเดือนกรกฎาคมแล้ว หรือถ้ามีแล้ว ผ่านการประกวดราคาเมื่อใด ระบบบล็อกเชนที่อ้างว่าจะใช้นั้นไม่มีคนกลาง เราตรวจสอบไม่ได้ว่าใครทำอะไร แล้วระบบที่รัฐบาลจะมาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น จะตรวจสอบได้หรือไม่ ความเสี่ยงการเกิดคอร์รัปชันจึงเป็นเดิมพันที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ
จุลพงศ์กล่าวว่า ชาวบ้านเขาฝากมาถามว่า รัฐบาลกำหนดว่าคนที่ได้รับเงินต้องมีรายได้ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อเดือนถึงจะมีสิทธิ์ได้รับการแจกเงิน ตัวเลขนี้มาจากไหน เราไม่เคยได้รับการอธิบายจากรัฐบาลเลย แล้วไม่รู้จะเปลี่ยนต่อไปอีกหรือไม่ ทำไมคนที่มีรายได้เกิน 70,000 บาทต้องมารับจ่ายหนี้
จุลพงศ์ยังกล่าวว่า เงื่อนไขของโครงการทำให้โอกาสของร้านค้าขนาดเล็กที่มีน้อยอยู่แล้ว ตัดโอกาสลงไปมากขึ้น ไม่ขอพูดว่าเอื้อใคร เราควรจะดูร้านค้าขนาดเล็ก เมื่อวานผ่านร้านค้าขนาดเล็ก เห็นมีคิวอาร์โค้ดห้อยอยู่ แต่เราจะไม่เห็นแบบนี้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว