วันนี้ (19 เมษายน) คริษฐ์ ปานเนียม สส. ตาก พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีที่เมื่อวานนี้ (18 เมษายน) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการ ‘โคแสนล้าน’ นำร่อง 100,000 ครัวเรือน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะให้เงินกู้แก่เกษตรกรที่มีประวัติการชำระสินเชื่อดีครัวเรือนละ 50,000 บาท เพื่อนำไปซื้อแม่พันธุ์วัว 2 ตัว ตัวละ 25,000 บาท มาเลี้ยงในไร่หรือสวนของตน และสร้างให้เกิดมูลค่าภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อนำไปปลดหนี้สิน ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าในปีที่ 5 เกษตรกรจะสามารถสร้างมูลค่าจากการเลี้ยงวัวผ่านโครงการนี้ได้ถึง 120,000 บาท
คริษฐ์กล่าวว่า ได้เคยแสดงเหตุผลไปแล้วเมื่อครั้งการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ว่าโครงการ ‘โคแสนล้าน’ เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายยุคหลายสมัย เพียงแต่ต่างชื่อโครงการกัน ซึ่งส่วนตัวมองว่ามีช่องโหว่หลายจุดที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้จริง โดยมีเหตุผลหลายประการ
ประการแรก เป้าหมายของโครงการนี้คือการแก้ปัญหาเกษตรกรที่มีหนี้สินกว่า 13 ล้านราย ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน (กทบ.) แต่รัฐบาลกลับแก้ปัญหาด้วยการให้เกษตรกรเหล่านี้ซื้อวัวมาเลี้ยง โดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ในการแถลงข่าวหลังการประชุม ครม. เมื่อวานนี้ว่า เกษตรกรนำเงิน 50,000 บาทไปเลือกซื้อแม่พันธุ์วัว 2 ตัว แล้วก็แค่ปล่อยให้แม่พันธุ์วัวเล็มหญ้าหัวไร่ปลายนาไปตามธรรมชาติ ดูแลในช่วงเวลาว่างงาน ไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไร แต่ในความเป็นจริง การเลี้ยงวัวต้องใช้องค์ความรู้หลายด้าน เช่น เรื่องโรคระบาด เรื่องการฉีดวัคซีน เรื่องการขึ้นทะเบียนวัว การเจาะเบอร์ที่หู ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย และไม่ใช่นักเลี้ยงวัวมือใหม่ทุกคนจะทำได้
ประการต่อมา โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังเน้นย้ำว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นเกษตรกร ‘ลูกหนี้ชั้นดี’ และสังกัดอยู่ในกองทุนหมู่บ้านที่เป็นกองทุนชั้นดีด้วย ซึ่งคริษฐ์ตั้งคำถามว่า แล้วเช่นนี้โครงการนี้จะแก้ปัญหาลูกหนี้ 13 ล้านรายได้อย่างไร ในเมื่อกลุ่มคนที่ประสบปัญหาส่วนใหญ่ไม่น่าจะใช่ลูกหนี้ชั้นดีในสายตาของธนาคาร สรุปแล้วรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวให้กับเกษตรกรจริงหรือไม่
และประการสุดท้าย คริษฐ์ตั้งคำถามว่าโครงการนี้จะคืนทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรได้จริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันกลุ่มคนที่มีอาชีพ ‘เลี้ยงวัวไร่ทุ่ง’ หรือฝูงวัวที่ไม่ได้ขุน ก็เล่ากันว่าราคาวัวไม่ดี ถูกมาก ปัจจุบันขายได้ไม่ถึงตัวละ 20,000 บาท ขนาดสถานการณ์ของนักเลี้ยงวัวมืออาชีพยังย่ำแย่ แล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวมือใหม่จะเป็นอย่างไร ขณะที่รัฐบาลจะช่วยเหลือด้วยการพักต้น-พักดอกให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแค่เพียงในช่วง 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 3-5 เกษตรกรต้องรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 4.5 ด้วยตนเอง และยังต้องจ่ายคืนเงินต้นในปีที่ 4-5 ปีละ 25,000 บาทด้วย หากเกินกำหนดชำระ (เกิน 5 ปี) แล้ววัวยังสร้างมูลค่าเพิ่มไม่ได้ เกษตรกรยังหาเงินมาชำระหนี้ไม่ได้ ดอกเบี้ยจากร้อยละ 4.5 ก็จะเพิ่มเป็นอัตราที่ธนาคารกำหนดตามปกติ บวกเพิ่มด้วยอัตราดอกเบี้ยลอยตัวแบบ MRR และค่าความเสี่ยงอีกร้อยละ 3 สรุปแล้วโครงการนี้จะช่วยปลดพันธนาการหนี้หรือเพิ่มหนี้สินให้ล้นพ้นตัวเกษตรกรกันแน่
“หวังว่า 100,000 ครอบครัวนำร่องจะรู้วิธีเลี้ยงวัวได้ง่ายๆ หวังว่าวัวตัวละ 25,000 บาท จะคลอดลูกคลอดหลานถึงเหลนจนเต็มฟาร์ม หวังว่าราคาขายจะพุ่งสูงกว่าราคาซื้อ ความหวังของท่านรองนายกฯ สมศักดิ์ที่มีไอเดียนี้มากว่า 20 ปีจะสำเร็จได้จริงหรือไม่ ดูจากข้อเท็จจริงตรงนี้แล้วน่าจะยาก ผมไม่อยากอภิปรายท่านอีกเลย โดยเฉพาะกรณีไม่ไว้วางใจ” คริษฐ์กล่าว