×

ก้าวไกล เสนอแก้กฎหมาย 5 ฉบับ รวม ม.112 ยืนยันยึดมั่นธำรงรักษาสถาบัน เพียงปรับให้เข้ากับยุคสมัย

โดย THE STANDARD TEAM
10.02.2021
  • LOADING...
ก้าวไกล เสนอแก้กฎหมาย 5 ฉบับ รวม ม.112 ยืนยันยึดมั่นธำรงรักษาสถาบัน เพียงปรับให้เข้ากับยุคสมัย

วันนี้ (10 กุมภาพันธ์) ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ยกทีม ส.ส. พรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีพรรคก้าวไกลยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติเกี่ยวกับกรณีคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนจำนวน 5 ฉบับ

 

พิธากล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตนขอแถลงข่าวเรื่องการเสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนจำนวน 5 ฉบับของพรรคก้าวไกล ซึ่งพวกเราได้อภิปรายถกเถียงกันภายในพรรค มีการหารือและมีทีมงานร่วมจัดทำร่างกฎหมายชุดนี้ในเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โดยพรรคก้าวไกลมีจุดยืนและอุดมการณ์ที่ชัดเจนในการสนับสนุนยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งหลักการที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้นก็คือการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ปลอดจากคำติฉินนินทาและคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ของสาธารณชน ซึ่งหนทางเดียวที่พวกเราจะทำเช่นนั้นได้ก็คือการดึงสถาบันให้พ้นออกจากการเมือง 

 

“พวกเราทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกันป้องกันมิให้มีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งเข้ามาฉกฉวยโอกาสหยิบยก แอบอิง หรือแอบอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อนำมาใช้โจมตีอีกฝ่าย โดยเฉพาะกับการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในฟ้องร้องกลั่นแกล้งเพื่อปิดปาก และเพื่อการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม อันเป็นค่านิยมที่สกปรกและล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับค่านิยมสากลในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็น เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเป็นเพียงผู้แทนของประชาชนที่ทรงอำนาจสูงสุดเท่านั้น”

 

พิธายังกล่าวด้วยว่า จากเมื่อวานนี้ อัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดี 2 คดีจากการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาเมื่อวันที่ 19 กันยายน และ 14 พฤศจิกายน 2563 ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 จากนั้นศาลอาญาก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 4 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม โดยศาลเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง และหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก หมายความว่าจำเลยทั้ง 4 คน อาจถูกจองจำอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ทั้งที่ความผิดที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นเพียงการแสดงออกทางการเมืองโดยสันติ ไม่ใช่การก่ออาชญากรรมร้ายแรงอันจำเป็นต้องควบคุมตัวไว้ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับการชุมนุมหรือการแสดงออกของพวกเขา รวมทั้งข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ แต่จำเลยคดี 112 ก็ควรมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ภายใต้หลักที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด  กรณีนี้จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นปัญหาของมาตรา 112 ทั้งในแง่ตัวบทและการบังคับใช้ ซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่

 

พิธากล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์เมื่อวานนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเพิ่งแสดงความกังวลต่อการใช้มาตรา 112 ในประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและมีการลงโทษจำคุกอย่างรุนแรง โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศาลได้ตัดสินจำคุกอดีตข้าราชการสตรีวัย 60 ปีสูงถึง 87 ปี แม้จะลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง แต่ก็ยังถือว่าเป็นการลงโทษรุนแรง ไม่ได้สัดส่วนต่อความผิดจากการโพสต์คลิปที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ในเฟซบุ๊ก ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติได้ย้ำว่า ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บุคคลสาธารณะย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แม้การแสดงออกบางรูปแบบอาจถือเป็นการดูหมิ่น แต่ก็ไม่ถือเป็นเหตุผลที่จะลงโทษอย่างรุนแรง เขายังเรียกร้องต่อทางการไทยให้ทบทวนกฎหมายอาญามาตรา 112, ให้ยกเลิกการดำเนินคดีกับบุคคลที่ถูกแจ้งข้อหานี้ และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังเนื่องจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ

 

“พรรคก้าวไกลขอย้ำว่า การจะธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ให้คงอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถจะบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดบังคับหรือใช้กฎหมายปราบปราม สถาบันการเมืองใดๆ ในสังคมสมัยใหม่ย่อมดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความชอบธรรมและความยินยอมพร้อมใจจากประชาชน ดังนั้นหนทางที่พวกเราควรทำก่อนจะสายเกินการณ์ก็คือการแสวงหากุศโลบายที่สอดคล้องกับยุคสมัยเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนภายใต้ระบบนิติรัฐ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปลอดพ้นจากการเมือง ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง” 

 

พิธายังได้ย้ำว่า นอกจากปัญหาเกี่ยวกับมาตรา 112 แล้ว ในหลายปีที่ผ่านมาเรายังมีปัญหาการใช้กฎหมายอื่นๆ เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก การมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือการตรวจสอบอำนาจรัฐอีก ในโอกาสนี้พรรคก้าวไกลจึงได้เสนอชุดร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนจำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ 

 

1. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ทั้งหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล รวมทั้งความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์  

 

2. ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการเอาผิดต่ออาชญากรรมบนระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่นำไปใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์

 

3. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

4. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยทั้งสองฉบับนี้เป็นการสร้างกลไกเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกฟ้อง ‘คดีปิดปาก’ โดยหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ในกรณีที่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะต่างๆ หรือตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐและเอกชน ซึ่งในต่างประเทศเรียกกันว่า Anti-SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) laws

 

5. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลอาญาอีกหนึ่งฉบับ เพื่อให้ประชาชนสามารถเอาผิดเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่กระทำการบิดเบือนกฎหมายต่อประชาชนได้

 

ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าวว่า ที่ผ่านมาตนยังไม่เคยเห็นการแก้ไขกฎหมายในทิศทางการล้มล้างการปกครอง โดยการเสนอลดโทษมาตรา 112 ยังไม่ได้เป็นการยกเลิกกลไกการคุ้มครองเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ แต่ปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ชัยธวัชยังกล่าวว่า กลุ่มไทยภักดีได้ยื่นคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 นั้นเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มไทยภักดี ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลมีจุดยืนเป็นของตนเอง จึงไม่สามารถที่จะก้าวข้ามปัญหาที่เกิดขึ้นได้ จริงๆ การที่จะทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนบนเวทีรัฐสภาต่อไป

 

มีรายงานว่า ส.ส. พรรคก้าวไกลที่ร่วมลงชื่อในการเสนอกฎหมายชุดนี้มีจำนวน 44 คน จาก 53 คน ทำให้มี 9 คนที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อในการเสนอกฎหมาย โดยพิธาระบุว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. และที่ผ่านมาพรรคก็มีความเห็นที่แตกต่าง ก็เคารพการตัดสินใจของแต่ละคน พร้อมยืนยันว่าพรรคยังมีเอกภาพในการทำงาน 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising