วันนี้ (13 ตุลาคม) ภายหลังจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้มีการจัดลงมติประณามรัสเซียต่อกรณีการผนวก 4 ดินแดนประเทศยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมตามเวลาท้องถิ่น โดยมี 143 ประเทศจาก 193 ประเทศสมาชิก ที่ลงมติสนับสนุนข้อมติดังกล่าว ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่งดออกเสียง 35 ประเทศ ร่วมกับ สปป.ลาว จีน และอินเดีย
ในเวลาต่อมา กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ภาพผ่านเพจเฟซบุ๊ก ปรากฏเป็นเอกสารภาษาอังกฤษจำนวน 2 หน้า ระบุเป็นคำอธิบายภายหลังการลงคะแนนเสียงของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก โดย ดร.สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อมติประณามรัสเซีย กรณีพยายามผนวกรวมสี่ดินแดนในยูเครน ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยวิสามัญฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ตามเวลาท้องถิ่น ระบุว่า
เรียน ท่านประธานฯ
- ในฐานะประเทศอธิปไตยขนาดเล็ก ประเทศไทยยึดมั่นต่อกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นแนวป้องกันแรกและสุดท้าย ไทยยังยึดมั่นในหลักการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐอย่างชัดเจน ตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ การต่อต้านการคุกคามและใช้กำลังรุกรานบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐใดๆ และการใช้กำลังเพื่อได้มาซึ่งดินแดนของรัฐอื่น โดยปราศจากการยั่วยุ ล้วนเป็นนโยบายที่ประเทศไทยยึดมั่นมาอย่างต่อเนื่องและช้านาน
- อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยตัดสินใจงดออกเสียงในมติดังกล่าว เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ขึ้นลงอย่างรุนแรง และบรรยากาศที่มีความเปราะบางอย่างยิ่งยวด จึงเป็นการลดทอนหรือด้อยค่าต่อโอกาสสำหรับการทูตในภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นทางออกสู่การเจรจาที่สันติและเป็นรูปธรรมในความขัดแย้งนี้ จนอาจนำพาโลกตกสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์ และการล่มสลายทางเศรษฐกิจโลก
- ประเทศไทยยังกังวลอย่างแท้จริงต่อการแบ่งขั้วการเมืองที่สูงขึ้นในหลักการระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้มีผลในแง่ลบต่อกระบวนการและแนวทางสู่การยุติสงคราม การประณามนั้นเป็นการกระตุ้นให้เกิดการขัดขืน และลดทอนโอกาสในการมีส่วนร่วม หรือปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์อีกด้วย
- ประเทศไทยโศกเศร้าต่อการทำลายล้างยูเครนทั้งทางกายภาพ สังคม และมนุษยธรรม ตลอดจนความลำบากแสนสาหัสที่ชาวยูเครนประสบทนทุกข์ทรมาน ไทยจึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในโศกนาฏกรรมนี้ในยูเครน จะต้องลดความขัดแย้งและความรุนแรง รวมถึงแสวงหาสันติวิธีเพื่อยุติความแตกต่าง โดยการเปิดเผยความเป็นจริงที่สามารถปฏิบัติได้ และข้อกังวลของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิในการมีชีวิตนั้น เป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญ ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ข้อ 3) แต่จนถึงทุกวันนี้ สิทธิดังกล่าวถูกพรากไปจากชาวยูเครนและอีกหลายล้านคนทั่วโลก จึงเป็นความรับผิดชอบและหน้าที่อันสูงสุดขององค์กรนี้ ที่ได้รับความเคารพสูงสุด ในการที่จะฟื้นฟูสันติ และความเป็นปกติสุขของชีวิตกลับมาสู่ชาวยูเครน มิใช่ด้วยวิถีแห่งความรุนแรง แต่ด้วยกลไกทางการทูตเท่านั้น ที่นำมาซึ่งสันติภาพที่เป็นจริงและยืนยาวได้
ขอขอบคุณ
อ้างอิง: