ณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการนำคนไทยและชาวต่างชาติเข้าประเทศไทย โดยยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนและเป็นไปตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยคำนึงถึงมาตรการด้านสาธารณสุขของไทย และจำนวนคนเดินทางเข้าประเทศให้สอดคล้องกับจำนวนสถานกักกันของรัฐ (SQ, ASQ, LQ, ALQ) ที่รองรับได้
ทั้งนี้ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2563 ที่มีมาตรการผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศได้ตรวจลงตราให้กลุ่มต่างๆ ได้แก่
- กลุ่ม Long Stay
- กลุ่มผู้ถือบัตร APEC Card จาก 10 เขตเศรษฐกิจที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ในอัตราต่ำ
- กลุ่มผู้ที่มาติดต่อธุรกิจระยะสั้นและลงทุน
- กลุ่มผู้ที่มาพำนักระยะสั้น-ยาว ที่มีหลักทรัพย์แสดงไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท
- กลุ่มนักท่องเที่ยว Special Tourist Visa (STV) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ช่วยขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย
ขณะที่การดำเนินการเรื่อง STV กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการตามขั้นตอน ตั้งแต่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 กระทรวงการต่างประเทศได้ปรับระบบการตรวจลงตรา (Visa และ E-Visa) และในวันที่ 2 ตุลาคม ได้แจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกทราบถึงแนวปฏิบัติ และสั่งการให้ตรวจลงตราแบบ STV ได้
ส่วนกรณีข่าวเกี่ยวกับความล่าช้าในกระบวนการนำนักท่องเที่ยวกลุ่ม STV กลุ่มแรกจากจีนเข้าประเทศนั้น ณัฐภาณุเปิดเผยว่า สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจวได้รับแจ้งรายชื่อกลุ่มดังกล่าวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวไปยื่นเอกสารขอรับการตรวจลงตราประเภท STV ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ แต่ล่าสุดได้รับแจ้งว่าอาจมีการร่วมใช้เครื่องบินเที่ยวบินพิเศษเคลื่อนย้ายคนไทยกลับประเทศ (Repatriation Flight) ในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 เพื่อนำนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย ซึ่งกระทรวงจะหารือกับฝ่ายจีนต่อไป
กระทรวงการต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองเข้าประเทศ (Certificate of Entry: COE) ให้คนต่างชาติที่มีความจำเป็นด้านมนุษยธรรมและเศรษฐกิจเข้าประเทศแล้วกว่า 22,000 คน อาทิ กลุ่มที่มีใบอนุญาตทำงาน ครู นักเรียน คู่สมรสคนไทย ผู้เชี่ยวชาญ นักธุรกิจ ผู้ป่วย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศตระหนักดีถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเร่งรัดนำคนต่างชาติเข้าประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยล่าสุดได้จัดทำระบบ COE Online เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการออกหนังสือรับรองเข้าราชอาณาจักร และมีการประสานงานกันทั่วโลก โดยได้เริ่มใช้นำร่องไปแล้วในสหราชอาณาจักร ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้กระทรวงได้เจรจากับสายการบินต่างๆ เพื่อจัดให้มีเที่ยวบินในลักษณะกึ่งพาณิชย์ (Semi-Commercial) ซึ่งครอบคลุมจุดศูนย์กลางการบินที่สำคัญทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนต่างชาติสามารถเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า