เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม กระทรวงการต่างประเทศและมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ และกิจกรรม APEC Media Focus Group ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ ‘เอเปคและความยั่งยืนทางธุรกิจ’ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ต้อนรับวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้
การประชุมแบ่งเป็น 2 ช่วงด้วยกัน โดยในช่วงแรกเป็นการหารือเกี่ยวกับการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้เพื่อเพิ่มความยั่งยืนของภาคธุรกิจ โดย BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 ด้าน ได้แก่ Bioeconomy (เศรษฐกิจชีวภาพ) ที่เน้นการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเข้าไปช่วยเสริมคุณภาพของทรัพยากรชีวภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ตามมาด้วย Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) ซึ่งเป็นแนวคิดที่สนับสนุนให้นำวัสดุต่างๆ หมุนเวียนกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดความสูญเปล่าของทรัพยากร และสุดท้ายคือ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการยกระดับความเท่าเทียมทางสังคมและการดูแลสิ่งแวดล้อม เมื่อทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ถูกบูรณาการเข้ากับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ก็จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยเฉพาะภาคอาหาร การเกษตร สาธารณสุข พลังงาน และการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ นอกจากนี้ โมเดลดังกล่าวยังช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน พร้อมช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้การดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ทุกธุรกิจเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กำกับและดูแลเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงโอกาสการเจริญเติบโตทางธุรกิจในหลายภาคส่วน ได้แก่ เกษตรกรรม การแพทย์ และเคมีภัณฑ์ โดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงการบูรณาการโมเดล BCG ในด้านสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งรวมถึงโทรเวชกรรม และแนะนำโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ (Nan Sandbox) ที่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มจากพืชในจังหวัดน่านไปสู่ส่วนประกอบที่สำคัญของยารักษาโรค
การเสวนาในช่วงแรกดำเนินต่อเนื่องด้วยการเล่าถึงความพยายามของเอเปคในประเด็นความยั่งยืน โดย ปฤณัต อภิรัตน์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ประเด็นความยั่งยืนได้รับการสนับสนุนทั้งภายในประเทศและจากเขตเศรษฐกิจของเอเปค ส่วน กลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าถึงเป้าหมายของบริษัทในเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573
ส่วนช่วงที่สองเป็นการเสวนาเกี่ยวกับการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตลอดจนนวัตกรรมต่างๆ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ก็ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการขับเคลื่อนและวางแผนการพัฒนาประเทศ รวมถึงเอาชนะความท้าทายต่างๆ ในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งต้องอาศัยการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคอุดมศึกษา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์องค์ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดล BCG พร้อมผลักดันการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูงของประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอนาคตของชาติ
จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เล่าถึงการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบริหารจัดการสภาพแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันดินพังทลาย รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการปลูกฝังแนวคิดในเรื่องความยั่งยืนในนักเรียน ส่วน รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ส่งเสริมนวัตกรรมในเทคโนโลยีที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พิการ
ภาพ: กระทรวงการต่างประเทศ