×

รมว.ต่างประเทศ ยืนยัน การเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา ประชาชนไทยต้องได้ผลประโยชน์สูงสุด

โดย THE STANDARD TEAM
06.11.2024
  • LOADING...
มาริษ เสงี่ยมพงษ์

วันนี้ (6 พฤศจิกายน) มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงความกังวลเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณอ่าวไทยว่า ผลการเจรจาหากจะสำเร็จและยุติได้จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย รัฐสภาของทั้งสองประเทศจะต้องให้ความเห็นชอบผ่านการเสนอจากคณะรัฐมนตรี เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาในฐานะผู้แทนประชาชน ที่จะเป็นผู้ตัดสินว่าเห็นชอบกับผลการเจรจาหรือไม่ และข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มีการเจรจาเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งได้ตามที่มีการกล่าวอ้าง

 

ส่วนการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า ยังไม่สามารถกระทำได้จนกว่าการเจรจาดังกล่าวจะมีข้อยุติ โดยผลการเจรจาจะต้องเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่ง MOU 44 กำหนดให้จะต้องเจรจา 2 เรื่องทั้ง ‘เขตทางทะเล’ และ ‘การพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน’ ไปพร้อมๆ กันโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ หากการเจรจาสำเร็จผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดต้องเป็นประเทศชาติและประชาชนคนไทย ที่จะมีเขตทางทะเลที่ชัดเจนกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ใช้พลังงานที่มีราคาถูกลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

มาริษกล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU 44 เพราะถือเป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิของกัมพูชา และทำให้ไทยเสี่ยงเสียดินแดนว่า MOU 44 ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของกัมพูชา และไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดนใดๆ เพราะเกาะกูดอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย 100% และจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะสาระสำคัญใน MOU 44 เป็นเพียงการตกลงร่วมกัน ‘เพื่อที่จะเจรจาเท่านั้น’ โดยแผนผังแนบท้ายเป็นเพียง ‘ภาพประกอบของพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปของแต่ละประเทศ’ ซึ่งเส้นอ้างสิทธิในข้อตกลงนี้ไม่ใช่เส้นเขตทางทะเลตามที่มีการเข้าใจผิดแต่อย่างใด

 

มาริษยังย้ำอีกว่า การคงไว้ซึ่ง MOU 44 เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะข้อตกลงนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีพันธกรณีที่จะต้องมาเจรจากันทั้งในเรื่อง ‘เขตทางทะเล’ และ ‘พื้นที่พัฒนาร่วม’ ไปพร้อมๆ กัน

 

ส่วนกรณีที่รัฐบาลเมื่อปี 2552 มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU 44 โดยให้ไปศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบก่อนนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรีและรัฐสภานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า ในกระบวนการศึกษาข้อมูลดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมหารือและรับฟังข้อคิดเห็นจากคณะที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงและด้านกฎหมาย จนได้ข้อสรุปเสนอเป็นมติคณะรัฐมนตรีในปี 2557 ว่า การคง MOU 44 ไว้เป็นผลดีมากกว่าเสีย และที่สำคัญการมีเขตทางทะเลที่ชัดเจนจะนำไปสู่การเจรจาในการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน

 

“ขอให้เชื่อมั่นว่าการเจรจาจะคำนึงถึงอธิปไตยและผลประโยชน์ของคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศจะทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพสูงสุด” มาริษยืนยัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X