วันนี้ (10 เมษายน) สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในอัตรา 20 บาทตลอดสาย ว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ผลการดำเนินนโยบายใน 2 เส้นทางแรกได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนอย่างมาก โดยมีสถิติผู้ใช้บริการสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เปิดให้บริการ
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมนโยบายค่า รถไฟฟ้า 20 บาทต ลอดสาย ได้แก่ สายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง สายสีชมพู สายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 30 กันยายน 2568 ตามกำหนดเดิม ทำให้มีรถไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 8 สายทาง
ในระยะแรก ผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะจำกัดเฉพาะผู้ที่มีเลขบัตรประชาชนไทย 13 หลัก และจะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2568 โดยยืนยันว่าขั้นตอนการลงทะเบียนจะไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
สุริยะ กล่าวต่อว่า การลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันตัวตนและให้ระบบสามารถจัดการค่าใช้จ่ายการเดินทางข้ามสายระหว่างผู้ให้บริการแต่ละรายได้ โดยผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สามารถชำระค่าโดยสารผ่านบัตร MRT Plus และบัตร EMV ส่วนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง สายสีชมพู จะต้องชำระค่าโดยสารผ่านบัตร Rabbit โดยไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการกี่สายทาง หรือมีการเปลี่ยนสาย ระบบจะคิดค่าโดยสารเพียง 20 บาทเท่านั้น
สุริยะกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้โดยสารยังคงสามารถใช้บัตรโดยสารเดิมได้ในช่วงแรกของการดำเนินนโยบาย เพียงแต่ต้องลงทะเบียนบัตรเหล่านั้นผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐก่อนจึงจะได้รับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย สำหรับการพัฒนาในระยะที่ 2 คาดว่าจะมีการเปลี่ยนไปใช้ระบบสแกนชำระค่าโดยสารผ่าน QR Code บนโทรศัพท์มือถือภายในปี 2569 ซึ่งจะยกเลิกความจำเป็นในการใช้บัตรโดยสารในอนาคต
สำหรับการชดเชยรายได้ให้แก่เอกชนผู้ประกอบการนั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 8 พันล้านบาทต่อปี โดยจะนำเงินรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือกองทุนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท มาใช้ในการชดเชย ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการ และจะมีการประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมองว่า แนวโน้มปริมาณผู้โดยสารที่ตอบรับนโยบาย ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมสามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางของประชาชนได้จริง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างความเท่าเทียมในการเดินทางให้กับประชาชนทุกกลุ่ม