สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ในปัจจุบันดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี 2 เดือนในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยจากผลการดำเนินนโยบายพบว่าได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สะท้อนได้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาที่มีสถิติการมีผู้ใช้บริการสูงที่สุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ
สำหรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ยืนยันว่าจะประกาศใช้ในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยกำหนดไว้ ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ โดยคาดว่าจะประกาศราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568 และเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อนโยบายนี้ครอบคลุมในทุกเส้นทาง จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน
ขณะที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) รายงานผลการดำเนินนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ระบุว่า ในเดือนธันวาคม 2567 ปริมาณผู้โดยสารยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือรถไฟฟ้าสายสีแดงมีปริมาณผู้โดยสาร 1,027,458 คน เพิ่มขึ้น 24.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีปริมาณผู้โดยสาร 2,026,981 คน เพิ่มขึ้น 4.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทั้ง 2 สายดังกล่าวมีปริมาณผู้โดยสารรวม 3,054,439 คน เพิ่มขึ้น 10.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินนโยบายฯ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2567) โดยทั้ง 2 สายดังกล่าวมีรายได้รวมกันอยู่ที่ 49.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดง ก่อนดำเนินนโยบายฯ มีรายได้ 15.97 ล้านบาท เมื่อดำเนินนโยบายแล้วมีรายได้ 20.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 4.07 ล้านบาท
ด้านรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก่อนดำเนินนโยบายฯ มีรายได้ 28.48 ล้านบาท เมื่อดำเนินนโยบายฯ แล้วมีรายได้ 29.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.39 ล้านบาท
สุริยะกล่าวว่า จากแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารที่ตอบรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้ช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้แก่พี่น้องประชาชน อีกทั้งยังจูงใจให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างโอกาสในการเดินทางอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มด้วย
นอกจากนี้ เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแล้ว คาดว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีแดงจะมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าช่วงก่อนเริ่มนโยบายภายในปี 2568 หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ จากเดิมที่คาดว่าภายในระยะ 2 ปี 7 เดือนหลังจากเริ่มนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐอาจจะไม่ต้องชดเชยส่วนต่างรายได้ให้ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ ตามรายงานของ ขร. อีกฉบับ ระบุว่า ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยของรถไฟฟ้าทั้งสองสาย เมื่อเปรียบเทียบช่วงระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 (ก่อนเกิดมาตรการฯ) กับวันที่ 16 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 (หลังเกิดมาตรการฯ) เป็นต้นมา ในภาพรวมพบว่ามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยผู้โดยสารสายสีแดงมีจำนวน 10,276,883 คน-เที่ยว จาก 6,767,148 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 51.86% ผู้โดยสารสายสีม่วงมีจำนวน 23,123,308 คน-เที่ยว จาก 19,616,454 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 17.54% ส่วนปริมาณผู้โดยสารทั้งสองสายมีจำนวน 33,400,191 คน-เที่ยว จาก 26,383,602 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 26.59%