×

ยุคคอมพิวเตอร์ใหม่ที่ไร้สมาร์ทโฟน ถอดวิสัยทัศน์ Orion แว่นอัจฉริยะที่ Meta ซุ่มพัฒนา 10 ปี จนทำให้ Vision Pro ต้องทบทวนกลยุทธ์ใหม่

09.10.2024
  • LOADING...
Orion

เมื่อพูดถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลกับชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกมากที่สุดรวมถึงคนไทยด้วย เชื่อว่า Facebook และ Instagram คงจะเป็นชื่อที่ผุดขึ้นมาในหัวของใครหลายคนเป็นอันดับแรกๆ 

 

โดยทั้งสองแพลตฟอร์มมียอดผู้ใช้งานอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านแอ็กเคานต์ และ 2.35 พันล้านแอ็กเคานต์* ต่อเดือน ตามลำดับ รวมถึง WhatsApp แอปพลิเคชันติดต่อสื่อสารอันดับ 1 ของโลก กับ Threads ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้การนำโดยบริษัทใหญ่รายเดียวนั่นคือ Meta

 

Meta คือบริษัทที่ครองตลาดโซเชียลมีเดียมานานเกือบ 2 ทศวรรษ ในขณะเดียวกัน Meta กลับพลาดโอกาสในยุค ‘สมาร์ทโฟน’ อุปกรณ์สำหรับใช้เชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

แต่เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ได้เผยตัวอย่างแว่นตาอัจฉริยะ AR (Augmented Reality) ที่มีชื่อเรียกว่า ‘Orion’ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแว่นกันแดดที่มีเทคโนโลยีที่สามารถแสดงผลของโลกเสมือนผสานเข้ากับโลกความจริงออกมาให้คนทั่วโลกได้เห็นเป็นครั้งแรก 

 

ซักเคอร์เบิร์กระบุว่า “Orion เป็นผลงานที่ใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการพัฒนา” และเขามองมันเป็นอุปกรณ์ชิ้นใหม่สำหรับยุคต่อไปของคอมพิวเตอร์ 

 

การมาของ Orion ที่แม้ว่าจะยังเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง (Prototype) แต่มันคือการประกาศจุดยืนของ Meta ที่ต้องการมีส่วนร่วมกับตลาดฮาร์ดแวร์ อีกทั้งมันยังทำให้เกิดคำถามว่า Vision Pro จาก Apple ที่ก็วางตัวเองเป็น ‘Spatial Computing’ กำลังเดินผิดทางหรือไม่? 

 

และเมื่อ Orion กำลังก้าวเข้ามาด้วยดีไซน์ที่ดูใส่สบายกว่า น้ำหนักเบากว่าที่ 98 กรัม นั่นจะทำให้ Apple ต้องคิดกลยุทธ์ใหม่กับ Vision Pro ที่เพิ่งตีตลาดไปหรือไม่?

 

ยุคต่อไปของคอมพิวเตอร์ที่อาจไร้ ‘สมาร์ทโฟน’ 

 

ย้อนกลับไปที่แรงบันดาลใจของ Orion ภาพอนาคตที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มองไว้กับอุปกรณ์ตัวนี้คือ การกำหนดมาตรฐานใหม่ของปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับเทคโนโลยี โดยในอดีตเราพัฒนาจากการใช้ระบบคอมพิวเตอร์เมนเฟรมมาสู่คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ และในปัจจุบันแบบสมาร์ทโฟน 

 

แต่เทคโนโลยีสมาร์ทโฟนปัจจุบันยิ่งทำให้มนุษย์ห่างกันมากขึ้น ทั้งกับคนรอบข้างและสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา

 

“จริงอยู่ที่เราสามารถพกโทรศัพท์มือถือติดตัวไปไหนก็ได้ แต่ผมคิดว่ามันผลักให้เราถอยห่างจากสิ่งรอบตัว ซึ่งผิดธรรมชาติ เทรนด์ในอนาคตของการใช้งานคอมพิวเตอร์จะยิ่งเป็นธรรมชาติและอยู่ในทุกๆ ที่ ทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้มากขึ้น นี่แหละคือยุคต่อไปหลังยุคสมาร์ทโฟน” ซักเคอร์เบิร์กกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับรายการ Huge If True

 

 

ภายในงาน Meta Connect 2024 ที่ Orion เปิดตัวไปเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซักเคอร์เบิร์กยังได้สาธิตการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวที่สามารถแสดงผลในหลายๆ หน้าจอแบบโฮโลแกรมและให้ข้อมูลเรียลไทม์ได้พร้อมกัน ทำให้สามารถตอบข้อความ วิดีโอคอล หรือทำกิจกรรมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ต่างๆ ได้ด้วยการสั่งผ่านคำพูด การขยับมือ และการมองที่วัตถุ โดยซักเคอร์เบิร์กย้ำว่า ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องล้วงสมาร์ทโฟนของตัวเองขึ้นมาเลย

 

การขยับตัวสู่สินค้าฮาร์ดแวร์สำหรับโลก AR คือการทรานส์ฟอร์มเชิงกลยุทธ์ที่เคลื่อนตัวจากผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมโซเชียลมีเดีย มาสู่ผู้เล่นรายใหม่ในตลาดฮาร์ดแวร์ในโลก Metaverse ที่สะท้อนชื่อบริษัทที่เพิ่งเปลี่ยนไปเป็น Meta ในปี 2021

 

 

อย่างไรก็ตาม Orion ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและคงจะไม่ออกมาตีตลาดในเร็ววันนี้ เนื่องจากปัจจุบัน Meta ยังมีกำลังผลิตที่จำกัด โดยบริษัทเผยว่า ตอนนี้มีแว่นอัจฉริยะเพียงประมาณ 1,000 ชิ้นเท่านั้น รวมถึงต้นทุนการผลิตก็สูงราว 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้น เป็นอีกเหตุผลหลักที่ Orion ยังอยู่ในแล็บพัฒนาอยู่ เพื่อหาวิธีผลิตให้ได้ต้นทุนที่เหมาะสมและมีราคาที่คนทั่วไปเอื้อมถึง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าแว่นจะออกมาเร็วสุดในช่วงปี 2027

 

ในขณะเดียวกัน ระหว่างที่รอการพัฒนาของ Orion ทาง Meta ก็มี Ray-Ban Meta Smart Glasses แว่นที่แม้จะไม่มีการแสดงผลบนหน้าจอ แต่สามารถใช้คุยโทรศัพท์ ใช้งานฟังก์ชัน AI และถ่ายหรือแชร์รูปได้ 

 

โดยกลยุทธ์นี้ก็เพื่อให้ประสบการณ์แบบ ‘น้ำจิ้ม’ กับคนส่วนใหญ่ก่อนจะทรานส์ฟอร์มไปสู่โลกเสมือนในอนาคต อีกทั้งยังมี Meta Quest 3S เฮดเซ็ตที่มีราคาเริ่มต้น 299 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่า Vision Pro มากกว่า 10 เท่าตัว ทำให้ความหวังในการเปิดการเข้าถึงกับคนหมู่มากเป็นไปได้กว่าด้วยราคาที่จับต้องได้ ซึ่งนั่นนำไปสู่เรื่องต่อไป…

 

Apple กำลังหลงทาง?

 

“จิตวิญญาณการผลิตนวัตกรรมของ Apple หายไปพร้อมกับการเสียชีวิตของ สตีฟ จ็อบส์”

 

นี่คือคำพูดของคนในวงการเทคโนโลยีและสาวก Apple บางคนที่มองว่า นวัตกรรมจากบิ๊กเทครายนี้ดูไม่ล้ำเหมือนกับตอนที่ผู้ก่อตั้งคนเก่าอย่าง สตีฟ จ็อบส์ ยังคงมีชีวิต และเป็นผู้ชี้นำทิศทางบริษัทด้วยตนเอง

 

ที่ผ่านมา Apple เผชิญกับความท้าทายในการออกนวัตกรรมชิ้นใหม่ ทั้งโปรเจกต์รถยนต์ไฟฟ้า (Project Titan) ที่ต้องพับโครงการไป แม้จะลงทุนไปหลักหมื่นล้านดอลลาร์ก็ตาม เปรียบเสมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

 

หรือการเปิดตัวที่ค่อนข้างช้ากับระบบปัญญาประดิษฐ์ Apple Intelligence ที่ ณ ตอนนี้ก็ยังคงไม่เปิดให้ใช้งานอย่างครบถ้วน

 

จนมาถึงนวัตกรรมชิ้นล่าสุดของ Apple อย่าง Vision Pro ที่บริษัทต้องการจะพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าพวกเขายังสามารถประดิษฐ์นวัตกรรมล้ำหน้าได้ แต่ มาร์ก เกอร์แมน นักข่าวประจำ Bloomberg ออกบทวิเคราะห์ว่า Apple อาจกำลังมาผิดทางกับการพัฒนา Vision Pro 

 

เกอร์แมนเผยถึงจุดอ่อนหลักทั้งเรื่องของน้ำหนักที่อยู่ราว 600-650 กรัม ทำให้การสวมใส่เป็นเวลานานทำได้ยาก แอปพลิเคชันที่ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด และที่สำคัญเรื่องของราคา

 

“ตอนนี้ Vision Pro มีราคาสูงกว่า Quest รุ่นเริ่มต้นเกิน 10 เท่า แต่ประเด็นคือ มันไม่ได้ดีกว่า 10 เท่าอย่างแน่นอน ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องใช้ Vision Pro ก็ได้หากต้องการแค่เล่นเกมหรือดูวิดีโอ โดย Meta มีโอกาสที่จะจับตลาดกลุ่มคนทั่วไปได้มากกว่า ทั้งการซื้อเพื่อเป็นของขวัญหรือซื้อไปเล่นเกมและดูวิดีโอ” เกอร์แมนระบุ

 

 

เมื่อรูปเกมเป็นแบบนี้เกอร์แมนรายงานว่า Apple รู้ตัวถึงสิ่งที่ตนเองต้องปรับ แต่บริษัทยังไม่บรรลุทิศทางที่ชัดเจนร่วมกัน โดยตอนนี้มี 5 ความเป็นไปได้ที่ Apple กำลังพิจารณาอยู่ ได้แก่

 

  1. คงสถานะเดิม: พัฒนา Vision Pro ในรูปแบบเดิม แต่เพิ่มเวอร์ชันที่ราคาถูกลง โดย Apple สามารถลดต้นทุนด้วยการเปลี่ยนวัสดุหรือสเปกเทคโนโลยีที่จำกัดกว่า และปรับลดคุณภาพของหน้าจอ ในขณะที่ Apple ก็อาจออก Vision Pro รุ่นไฮเอนด์ ที่มีชิปใหม่ซัพพอร์ตฟีเจอร์ Apple Intelligence
  2. โฟกัสไปที่การเป็นจอแสดงผลคู่กับการใช้งาน iPhone: Apple จะย้ายฟังก์ชันส่วนใหญ่ไปไว้ที่ iPhone ซึ่งจะทำให้ iPhone มีมูลค่ามากขึ้น ลดน้ำหนักและความร้อนของ Vision Pro ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนและลดราคาลงได้
  3. ทำเป็นแว่นตาอัจฉริยะ: วิธีนี้จะเป็นการพัฒนาที่ใกล้เคียงผลิตภัณฑ์ที่ Meta ได้ประสบความสำเร็จไปแล้วกับ Ray-Ban แว่นตาอัจฉริยะ แต่จะไม่มีเทคโนโลยีแสดงผล AR โดยในกรณีนี้ Apple สามารถใช้ความเชี่ยวชาญด้านชิป คำสั่งเสียง และชุดเครื่องมือ AI ที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างอุปกรณ์ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจถูกใจสาวก Apple ก็ได้ แม้จะไม่มีการแสดงภาพก็ตาม
  4. ยกเครื่องใหม่และพัฒนา AirPods ที่ใช้งานคู่กับ AI: เกอร์แมนรายงานว่า Apple กำลังพัฒนา AirPods Pro รุ่นใหม่ ที่จะมีใช้กล้องและ AI เพื่อสำรวจโลกรอบตัวเพื่อให้ข้อมูลกับผู้ใช้งาน ซึ่งนี่จะเป็นวิธีที่ไม่แตกต่างจากแว่นตาอัจฉริยะ แค่จะไม่มีแว่นจริงๆ ให้สวมใส่
  5. แว่น AR อัจฉริยะ: เป้าหมายและความฝันสูงสุดของ Apple ซึ่งต้องการสร้างแว่นตา AR ที่มาพร้อมกับเลนส์ประสิทธิภาพสูง ระบบแบตเตอรี่ คอมพิวเตอร์ในตัว และกล้องติดตามความเคลื่อนไหวดวงตาที่มีขนาดและน้ำหนักเท่ากับแว่นตาปกติ แต่ก่อนหน้านั้น Apple หยุดการพัฒนาโครงการดังกล่าวชั่วคราว เพราะมีความท้าทายที่สูงเกินไป

 

แม้ว่า Apple จะยังสามารถทำเงินจากการขาย iPhone ได้ในปัจจุบัน แต่ชะตาของบริษัทในระยะยาวก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการคว้าโอกาสกับฉากถัดไปของเทคโนโลยีใหม่ที่ Apple ต้องเร่งมือ ก่อนที่คู่แข่งจะเข้าเส้นชัยได้ก่อน

 

เพราะตอนนี้ความชัดเจนของการเปิดตัว Orion คือสัญญาณที่ Meta ไม่ต้องการจะเป็นแค่การพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้ผู้ใช้งานไปใช้กับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของบริษัทอื่นอีกต่อไป แต่ Meta ต้องการกำหนดอนาคตตลาดฮาร์ดแวร์ด้วยตัวเอง และแม้ว่าภาพอนาคตของ Orion จะยังไม่ค่อยชัดเจน แต่ถ้าทำออกมาได้ตอบโจทย์ตลาดจริง นั่นอาจเป็น ‘iPhone Moment’ ของ Meta เลยก็ได้

 

หมายเหตุ: *ข้อมูลผู้ใช้งาน Instagram อัปเดตล่าสุด ณ เดือนตุลาคม 2023

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X