×

สู่โลก Metaverse First การเดิมพันครั้งใหญ่ของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก

โดย THE STANDARD TEAM
01.11.2021
  • LOADING...

กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัท Facebook เป็น Meta พร้อมโลโก้ใหม่และวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งสู่การเดินทางครั้งใหม่ที่ ‘ยิ่งใหญ่’ กว่าเดิม

 

นั่นคือการสร้าง Metaverse โลกเสมือนจริงแบบ 3D ที่ผสานสภาพแวดล้อม วัตถุ และประสบการณ์เสมือนจริงเข้ากับโลกจริงให้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเกม การเรียน การเล่น การประชุมออนไลน์ หรือแม้แต่การทำธุรกิจ หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ กิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันของคนเรานั่นเอง ผู้ใช้สามารถเลือก Avatar แทนตัวเองแบบไหนก็ได้ และดำดิ่งสู่ประสบการณ์แบบ Immersive ใน Metaverse

 

มาร์คกล่าวว่าประสบการณ์ใน Metaverse นั้นต่างไปจากการแชตหรือประชุมออนไลน์ในวันนี้ ผู้ใช้จะไม่เพียงพูดคุยโต้ตอบกับเพื่อนฝูงและครอบครัว แต่ยังสัมผัสได้ถึงน้ำเสียงและอากัปกิริยาเหมือนในชีวิตจริง โดยไม่มี ‘หน้าจอ’ มากั้น ผลิตภัณฑ์ในโลกนั้นก็จับต้องได้ (และแน่นอนว่าซื้อขายได้) 

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กำลังเดิมพันว่าสิ่งนี้นี่แหละจะมาแทนโซเชียลมีเดีย และจะเป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของอินเทอร์เน็ต

  • Metaverse ความฝันของสาวกเทคฯ และชาวซิลิคอนแวลลีย์

Metaverse ไม่ใช่เรื่องใหม่ บริษัทเทคโนโลยีต่างก็ใฝ่ฝันจะสร้างโลกดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับโลกจริงมานาน และเชื่อว่าเทคโนโลยี Extended Reality (XR) จะเป็นตัวแปรสำคัญของการสร้างโลกใบนั้น ไม่ว่าจะเป็น Augmented Reality (AR) หรือ Virtual Reality (VR) อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีเหล่านี้ กลับไม่สามารถตีตลาดผู้บริโภควงกว้างได้ดังที่หลายคนคาดการณ์ มีแค่อุตสาหกรรมเกมและธุรกิจแอปพลิเคชันบางกลุ่มเท่านั้น นักเทคโนโลยีจึงมองว่า Metaverse จะเข้ามาตอบโจทย์ดังกล่าว ด้วยการสร้างพื้นที่หรือโลกอีกใบที่ผู้คนสามารถเชื่อมต่อได้ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ (Cross-Device) เช่น แว่นตา AR, อุปกรณ์ VR

 

อันที่จริง Metaverse ไม่มีนิยามตายตัวเสียทีเดียว บทความ ‘101: What on earth is the metaverse?’ ในเว็บไซต์ PwC ระบุว่า Metaverse ไม่ใช่คอมมูนิตี้ออนไลน์ที่อยู่แบบโดดๆ ไม่ต้องพึ่งพาอะไรเหมือนเกมออนไลน์ที่ต่างมีโลกของตัวเอง กลับกันเลยคือมันเปรียบได้กับ ‘จักรวาล’ ที่ประกอบไปด้วยชุมชนต่างๆ รวมถึงเกมออนไลน์ และเกิดระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง

 

บทความดังกล่าวยังอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า Metaverse ไม่ได้เป็นสถานที่ในโลกดิจิทัลเสมอไป แต่อยู่รอบๆ ตัวเรา โดยที่เราสามารถเชื่อมต่อกับโลกนั้นได้ด้วยเทคโนโลยี Internet of Things และอุปกรณ์ AR/VR ต่างๆ มีความเป็นไปได้ว่า Metaverse จะมีลักษณะคล้ายกับโลกที่จำลองสภาพแวดล้อมของความเป็นจริง และทุกอย่างจะเชื่อมต่อกันแบบ Always On เราสามารถสวมแว่น AR และช้อปปิ้งใน Metaverse ได้โดยไม่ต้องก้าวเข้าไปในร้านค้า ส่วนสินค้าจะถูกส่งไปยังบ้านของเราจริงๆ อีกที

 

Facebook หรือ Meta ไม่ใช่บริษัทเดียวที่มีความฝันนี้ บริษัทระดับโลกอย่าง Microsoft, NVIDIA, Snapchat, EPIC เจ้าของเกมออนไลน์ชื่อดัง Fortnite และ Tencent ก็สนใจคอนเซปต์นี้อยู่ไม่น้อย มีคำกล่าวอ้างว่า Metaverse จะเปลี่ยนโฉมหน้าของการติดต่อสื่อสารเช่นเดียวกับตอนที่โลกรู้จักอินเทอร์เน็ต เมื่อถึงเวลานั้นแบรนด์และนักการตลาดต้องคิดหาทางที่จะสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าใหม่ทั้งหมด

  • Metaverse จะเปลี่ยนชีวิตเราจริงหรือ?

โลกของเราได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เริ่มจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เมื่อเครื่องจักรไอน้ำทำให้มนุษย์เปลี่ยนจากแรงงานฝีมือมาใช้เครื่องจักรในการผลิต เช่น สิ่งทอ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 มีตัวแปรสำคัญคือพลังงานไฟฟ้า ทำให้เกิดระบบการผลิตแบบ Mass Production ยุคที่ 3 คือการประดิษฐ์คอมพิวเตอร์และการมาถึงของอินเทอร์เน็ตที่เปลี่ยนรูปแบบการเผยแพร่และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า ‘โลกาภิวัตน์’ หากย้อนกลับไปศึกษานิยามของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry 4.0 หรือ 4IR) โดย World Economic Forum จะพบว่า ยุคแห่ง 4IR จะขับเคลื่อนด้วยความสามารถของเครื่องจักรและมนุษย์ นวัตกรรมจะพัฒนารุดหน้าด้วยความเร็วเป็นเท่าทวีคูณ รวมไปถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ที่จะเข้ามาทดแทนงานบางส่วนของมนุษย์ โลกดิจิทัลกับโลกความเป็นจริงจะถูกถักทอผสานเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ซึ่งโลกที่ว่านี้ก็ใกล้เคียงกับความเป็น Metaverse นั่นเอง

 

การรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของ Facebook

Facebook เข้าสู่ปีที่ 17 และไม่ได้มีภาพจำของบริษัทสุดเท่ของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป แต่ดูเป็นธุรกิจทำรายได้จากการโฆษณามากกว่าเป็นบริษัทนวัตกรรม ยังไม่รวมถึงชื่อเสีย (ง) ของบริษัทซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล 

 

ที่สำคัญ Facebook ยังไม่สามารถชนะใจกลุ่มวัยรุ่นที่หันไปใช้แพลตฟอร์มอื่นแทนอย่าง TikTok ซึ่งถือเป็นผู้บริโภคกลุ่มสำคัญของธุรกิจ

 

จึงไม่แปลกที่การรีแบรนด์ครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มุ่งเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไปพร้อมๆ กับเปลี่ยนภาพลักษณ์เดิมที่เต็มไปด้วยข่าวฉาว มาสู่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่ล้ำสมัยอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม มีหลายสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก สนใจการสร้างโลกเสมือนมาแต่ไหนแต่ไร Facebook ซื้อกิจการ Oculus บริษัทผู้ผลิตพัฒนา VR ด้วยมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2014 ต่อมาได้เปิดตัว Horizon โซเชียลมีเดียที่ผู้คนสามารถเข้าไปเล่นเกมและใช้ชีวิตได้โดยใช้ VR ซึ่งอยู่ในขั้นตอนทดลอง โดยเจาะกลุ่มครีเอเตอร์มาสร้างสรรค์ออกแบบโลกเสมือน 

 

ในปี 2021 มีรายงานข่าวว่า Facebook ทุ่มงบมหาศาลไปกับแผนก Facebook Reality Labs เพื่อเดินหน้าสร้าง Metaverse อย่างจริงจริง ซึ่งรวมไปถึงอุปกรณ์ AR/VR ซอฟต์แวร์ และคอนเทนต์ต่างๆ ตามมาด้วยการเปิดตัวแว่นตาอัจฉริยะที่พัฒนาร่วมกับ Ray-Ban ทำให้เทคโนโลยีเสมือนดูใกล้ตัวและกลืนไปกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้มากขึ้น นอกจากนี้ Facebook ยังพัฒนา Horizon Workrooms พื้นที่ทำงานและประชุมเสมือนจริงผ่าน VR เพื่อรองรับการทำงานยุคใหม่ พิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัทกำลังทุ่มเทกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

  • สู่บริษัท Metaverse First

ซักเคอร์เบิร์กคาดการณ์ว่า การสร้าง Metaverse ให้กลายเป็นที่ที่คนสามารถเข้าไปเล่น ทำงาน และใช้ชีวิตในนั้นจนเป็นเรื่องปกติ อาจต้องใช้เวลา 5-10 ปีเลยทีเดียว แม้ว่าการพูดถึงโลกเสมือนจริงในวันนี้จะฟังดูเร็วไปหน่อย แต่ก็ถือเป็นการชิงเดินหมากก่อนคู่แข่ง ด้วยการประกาศชัดว่านับจากนี้บริษัทจะเปลี่ยนจาก Facebook First มาสู่ Metaverse First นั่นอาจหมายถึงธุรกิจต่างๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มนี้ก็ต้องเตรียมตัวสู่โลก Metaverse เช่นกัน

 

ขณะเดียวกันเขาก็รู้ถึงจุดอ่อนของ Facebook ดี ในจดหมายเปิดผนึก ‘Founder’s Letter, 2021’ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ได้ระบุว่าบริษัทจะสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวนับตั้งแต่วันแรก ไม่ใช่แค่เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีสกุลเงินคริปโตฯ หรือโครงการ NFT ต่างๆ เท่านั้น แต่รวมไปถึงธรรมาภิบาลรูปแบบใหม่อีกด้วย

 

แต่ถึงอย่างไร การออกโรงทำก่อนไม่ได้หมายความว่า Meta จะสามารถเป็นเจ้าของ Metaverse แต่เพียงผู้เดียว บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างมีเป้าหมายเดียวกันก็คือการสร้าง Metaverse ขึ้นมาโดยที่ไม่มีใครครอบครองเบ็ดเสร็จ เหมือนกับอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

 

Meta และซักเคอร์เบิร์กยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกหลายครั้ง จากการเผชิญหน้ากับคดีความและข่าวฉาว โดยเฉพาะช่วงก่อนการรีแบรนด์บริษัทใหม่ ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา The Wall Street Journal ได้เผยแพร่ชุดบทความ ‘Facebook Files’ เปิดโปงถึงความอื้อฉาวของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่รายนี้ โดยอ้างอิงจากเอกสารภายในบริษัทที่ฟรานเซส เฮาเกน (Frances Haugen) อดีตพนักงานบริษัทได้นำมาเปิดเผยต่อสื่อ เช่น Instagram ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่น ทำให้วัยรุ่นหญิงเครียดหนักกับภาพลักษณ์ของตนเอง ประเด็นที่ว่าอัลกอริทึมของ Facebook สนับสนุนให้คนเห็นโพสต์ที่มีคนกดโกรธมากกว่าโพสต์ที่ได้รับรีแอ็กชันอื่นๆ นอกจากนี้บริษัทยังตระหนักว่ามีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และยาเสพติดบนแพลตฟอร์ม แต่ไม่ได้จัดการปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง

 

ไม่ว่าจะมองทางไหน นี่ก็คือการเดิมพันครั้งใหญ่ของผู้ก่อตั้ง Facebook หรือ Meta ในวันนี้ และอีกทางหนึ่งก็เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองว่าจะเปลี่ยนอนาคตของเราไปอย่างไร

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X