มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ประกาศนโยบายใหม่ที่จะเปิดกว้างให้มี ‘การแสดงออกที่เสรีมากขึ้น’ สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต้องโอนอ่อนผ่อนตามต่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งคนใหม่ของสหรัฐฯ เบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของธุรกิจ แต่ยังเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยส่วนบุคคลของซักเคอร์เบิร์กเอง
จากการคุกคามของทรัมป์ที่เคยโพสต์ใน Truth Social ว่าจะ ‘ไล่ล่าคนโกงการเลือกตั้งในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน’ พร้อมเตือนว่า “ซักเคอร์เบิร์กระวังตัวไว้!”
รวมถึงในหนังสือ Save America ที่เขียนว่า ซักเคอร์เบิร์กวางแผนต่อต้านเขาในการเลือกตั้งปี 2020 และจะ ‘ใช้ชีวิตที่เหลือในคุก’ หากเกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก ส่งผลให้ Meta ต้องใช้งบประมาณต่อปีถึง 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 486 ล้านบาท) ในการรักษาความปลอดภัยให้ซักเคอร์เบิร์กและครอบครัว
ทีมรักษาความปลอดภัยของบริษัทยังต้องวิเคราะห์ว่า ทรัมป์อาจใช้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยข่าวกรองของประเทศโจมตีซักเคอร์เบิร์กได้อย่างไร และจะต้องใช้เงินเท่าไรในการปกป้องซีอีโอจากประธานาธิบดีที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่ง
การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญนี้รวมถึงการยุติการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากบุคคลที่สาม ยกเลิกข้อจำกัดในหัวข้อเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานและอัตลักษณ์ทางเพศ และนำเนื้อหาทางการเมืองกลับมาสู่ฟีดของผู้ใช้ โดยซักเคอร์เบิร์กอ้างว่าเป็นการแก้ปัญหาระบบตรวจสอบเนื้อหาที่ ‘มีข้อผิดพลาดและการเซ็นเซอร์มากเกินไป’
The Intercept เว็บไซต์ข่าวเปิดเผยตัวอย่างข้อความที่จะได้รับอนุญาตภายใต้นโยบายใหม่ เช่น ‘ผู้อพยพไม่ต่างอะไรจากอาเจียน’ และ ‘พวกอพยพล้วนเป็นขโมย’ สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดความเกลียดชังในสังคมออนไลน์มากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยทางดิจิทัลหลายคนแสดงความกังวลว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงในโลกความเป็นจริง โดยเฉพาะต่อชุมชนชายขอบและกลุ่มเปราะบาง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศที่ความเกลียดชังในโซเชียลมีเดียนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพ
Meta ดำเนินการหลายอย่างเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับทรัมป์ตั้งแต่วันเลือกตั้ง ทั้งการบริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับกองทุนพิธีสาบานตน การแต่งตั้ง โจเอล คาแพลน อดีตรองหัวหน้าคณะทำงานทำเนียบขาวยุครีพับลิกัน ขึ้นเป็นประธานฝ่ายกิจการระดับโลก และการประกาศปิดโครงการความหลากหลายในการจ้างงาน
การตัดสินใจครั้งนี้ของ Meta ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่บริษัทต่างๆ กำลังปรับตัวเข้าหาฝ่ายอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ซึ่ง เคที ฮาร์บัธ อดีตผู้อำนวยการด้านนโยบายของ Facebook อธิบายว่า “ในซิลิคอนแวลลีย์ตอนนี้ การเอียงไปทางขวาไม่ได้เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจอีกต่อไป” แต่กลับกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตในยุคใหม่
“แม้ว่า Facebook จะทรงพลังแค่ไหน แต่ก็ยังต้องยอมอ่อนข้อให้กับทรัมป์” ไบรอัน โบแลนด์ อดีตรองประธาน Facebook กล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นทางธุรกิจที่ต้องแลกมาด้วยการละทิ้งอุดมการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะในยุคที่ Meta ต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลในการพัฒนา AI และการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการยอมอ่อนข้อครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ Meta ในระยะยาว แต่อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นทางธุรกิจ เพราะบริษัทต้องการนโยบายที่ผ่อนคลายกว่าสหภาพยุโรปในการพัฒนา AI รวมถึงการสนับสนุนในการสร้างศูนย์ข้อมูลและการจัดหาชิปคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยเพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ
อ้างอิง: