×

‘Work Life Balance ด้วยการหยุดพักจริงๆ’ สารถึงคนรุ่นใหม่ที่กรำงานหนักแม้วันหยุด

14.04.2020
  • LOADING...

ในช่วงที่กักตัวและ Work from Home กันอยู่นี้ หลายคนอาจเจอปัญหาไม่มีเวลาพักผ่อน หรือรู้สึกว่าต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งอาจเกิดความเครียดหรือความเหนื่อยล้าสะสมจนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงได้

 

นายแพทย์มาซากิ นิชิดะ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมเทคนิคการหยุดพักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการใช้ชีวิตในทุกๆ วันจากประสบการณ์ให้คำปรึกษาคนไข้ชาวญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นชนชาติที่มีอัตราการหยุดพักร้อนต่ำที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ในบทแรกของหนังสือได้กล่าวถึง ‘ภาวะซึมเศร้าในวันหยุด’ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่สามารถเพลิดเพลินในวันหยุด เพราะยังกลุ้มใจเรื่องเงินและเรื่องงานอยู่ หากคุณมีอาการเช่นนี้อาจจะต้องฟังคำแนะนำที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้อย่างตั้งใจ

 

วัฒนธรรมการพักผ่อนของชาวคริสต์กับศาสนาอื่นนั้นแตกต่างกัน ชาวคริสต์มองว่างานการคือโทษทัณฑ์ที่มนุษย์ได้รับจากการขัดคำสั่งพระเจ้า ดังนั้นชาวคริสต์จึงทำงานเพื่อที่จะได้หยุดพักผ่อน ต่างจากคนชาติอื่น (ในที่นี้คือคนญี่ปุ่น) ที่ใช้ชีวิตเพื่อการทำงานเพื่อให้ตนเองมีคุณค่าต่อสังคม บ่อยครั้งทัศนคติเช่นนี้ทำให้ไม่สามารถหยุดคิดเรื่องงานได้แม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม นายแพทย์นิชิดะได้ให้คำแนะนำว่า ในวันหยุดเราควร ‘รักษาจังหวะชีวิตไม่ให้เสียไป’ นั่นคือวันทำงานเราตื่นนอน อาบน้ำ กินอาหารเวลาไหนก็ให้ทำแบบนั้นเวลาเดิม แต่เราควรเพิ่ม ‘ช่วงเวลาสนุกสนาน’ ในวันหยุดเข้าไป เช่น เวลาที่จะได้ผ่อนคลาย อ่านหนังสือ หรือดูภาพยนตร์ที่ชอบ แต่สำหรับคนที่หยุดคิดเรื่องงานไม่ได้เลย ให้ลอง ‘แบ่งเวลาออกเป็นช่วงๆ อย่างคร่าวๆ’ เช่น แบ่งเป็นช่วงเช้ากับช่วงบ่าย และใช้เวลาช่วงเช้าคิดงาน ขณะที่ช่วงบ่ายให้พักผ่อนร้อยเปอร์เซ็นต์

 

การพักผ่อนมีอยู่สองรูปแบบหลักๆ คือ การพักผ่อนแบบเงียบสงบโดยไม่ทำอะไร กับการพักผ่อนแบบเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเล่นกีฬา ทางที่ดีควรจะทำกิจกรรมพักผ่อนทั้งสองแบบนี้สลับกันไป โดยอาจทำสลับกันระหว่างช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย หรือทำสัปดาห์เว้นสัปดาห์ก็ได้ และในวันทำงานควรหาเวลาว่างสัก 5 นาทีพักเป็นระยะเพื่อทำสิ่งที่ชอบ เช่น กินขนมหวาน เล่นอินเทอร์เน็ต หรือเล่นเกม เพื่อรักษาพลังใจในการทำงานอยู่เสมอ บางทีอาจจะวางแผนลาพักผ่อนครึ่งวันโดยขีดฆ่าไว้ในปฏิทินเพื่อไม่ให้ใส่แผนอื่นลงไปได้

 

สำหรับคนที่เกิดอาการซึมเศร้าเมื่อวันหยุดใกล้จะหมดลง วิธีแก้ง่ายๆ คือให้วางแผนว่าวันหยุดถัดไปจะใช้เวลาทำอะไรดี เพราะสมองจะหลั่งสารแห่งความสุขเมื่อเราคาดหวังถึงอนาคต ทำให้ ‘ช่วงเวลาที่สุขที่สุดคือช่วงก่อนจะถึงวันหยุดจริงๆ’ ควรใช้เวลาดูปฏิทินและรวบรวมวันหยุดทั้งหมดแล้ววางแผนการใช้วันหยุดให้คุ้มค่าอย่างคร่าวๆ  สำหรับใครที่คิดวางแผนไม่ออกอาจใช้วิธี ‘ลอกการบ้านคนอื่น’ โดยการไปออกทริปร่วมกับเพื่อนหรือคนรู้จัก (อาจวางแผนไว้ล่วงหน้าหลังพ้นจากโรคโควิด-19) หรือถ้าใครคิดว่าการหาอะไรแปลกใหม่ทำตลอดเวลาเป็นเรื่องสิ้นเปลืองพลังงาน อาจใช้แผนการพักผ่อนเดิมที่ตัวเองเคยใช้ แต่เพิ่ม ‘เรื่องพิเศษที่จะทำให้วันนั้นไม่ธรรมดา’ แทรกเข้าไปสักหนึ่งเรื่อง

 

การนอนหลับให้เพียงพอก็มีส่วนสำคัญ เพราะทำให้การทำงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการทดลองที่แบ่งคนเป็นกลุ่มและให้คิดปริศนา ปรากฏว่ากลุ่มที่ได้นอนหลับเพียงพอสามารถตีโจทย์แตกได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น งานบางประเภทโดยเฉพาะงานคิดสร้างสรรค์ต้องใช้การพักผ่อนที่เพียงพอมากกว่างานชนิดอื่นๆ เพื่อให้คิดถึงทางออกที่ไม่เหมือนใคร เคล็ดลับการนอนหลับที่ดีก็คือเวลากลางคืนจะต้องมืด และเวลากลางวันต้องว่าง ควรระวังแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตที่จะรบกวนการนอน และงดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ รวมถึงชากาแฟด้วย นอกจากนั้นการทำให้ร่างกายอบอุ่นก็ช่วยให้นอนหลับลึกได้ดียิ่งขึ้น โดยใช้วิธีแช่น้ำอุ่นก่อนนอน หรือกินขิงหรือพริกก็ช่วยได้เช่นกัน แต่ไม่ควรกินก่อนนอนทันที

 

สำหรับเทคนิคการพักผ่อนอย่างชาญฉลาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงาน เทคนิคแรกคือการสลับระหว่างโหมดทำงานกับโหมดพักผ่อน ในการสลับจากโหมดทำงานไปเป็นโหมดพักผ่อนนั้นให้ลองทำสมาธิด้วยการหายใจเข้าสู่ท้อง 5 นาที หรือฟังเพลงโปรด ดื่มเครื่องดื่มที่ชอบ ส่วนการสลับจากโหมดพักผ่อนไปเป็นโหมดทำงาน ให้ใช้วิธีการคิดถึงกำหนดส่งงานหรือเดดไลน์ หรือมากกว่านั้นคือลองคิดถึงตัวเองตอนตกที่นั่งลำบากหากทำงานไม่เสร็จตามกำหนด

 

เทคนิคที่สองคือชาร์จพลังงานสำหรับความจำใช้งาน (Working Memory) ซึ่งเป็นความจำระยะสั้นในระหว่างที่ทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย หากความจำใช้งานทำงานได้ไม่เต็มที่อาจทำให้หลงลืมอะไรบางอย่างที่เพิ่งทำไปเมื่อสักครู่ หรือทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ วิธีการชาร์จพลังงานความจำส่วนนี้คือการหาเวลาหยุดพักหรืองีบหลับสั้นๆ ในวันทำงาน

 

เทคนิคที่สามคือการรู้จักทำงานแบบเบาบ้างหนักบ้างสลับกัน การทำงานแบบหนักจะทำให้เกิดความรู้สึกเจิดจ้า สมองปลอดโปร่ง ส่วนการทำงานแบบเบาจะทำให้เกิดความรู้สึกอารมณ์ดีอย่างบอกไม่ถูก การสลับการทำงานทั้งสองแบบจะทำให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องจนสำเร็จ

 

เคล็ดลับแถมสุดท้ายคือเทคนิคการจัดการกับงานที่ตามตัวเราได้ตลอดเวลา เนื่องจากชีวิตประจำวันเราอยู่กับโซเชียลเน็ตเวิร์ก บ่อยครั้งก็มีการตามงานทางอีเมลหรือทางไลน์ ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน เทคนิคในการจัดการกับเรื่องนี้คือพยายามกำหนดเวลาออฟไลน์ของตัวเองให้นานขึ้น หรือแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตัวเองกำลังยุ่งอยู่กับงานและเรื่องส่วนตัว หากหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องตอบกลับในทันทีจริงๆ สามารถใช้วิธีตอบไปว่า “จะตอบกลับภายใน… (วัน/ชั่วโมง)” ก็ได้เช่นกัน

 

แม้เทคนิคข้างต้นนี้จะมาจากนายแพทย์ชาวญี่ปุ่น แต่สามารถจะปรับใช้กับคนไทยได้เช่นกัน เพราะคนไทยถือเป็นชนชาติที่มีเวลาพักผ่อนส่วนตัวและวันพักร้อนน้อย โดยเฉพาะเทคนิคสุดท้ายถือว่ามีประโยชน์มากทีเดียวสำหรับคนที่ถูกตามงานตลอดเวลา สำหรับใครที่กำลัง Work from Home อยู่ที่บ้านก็นำเทคนิคดีๆ แบบนี้ไปใช้ได้เลย รับรองว่าจะทำให้ชีวิตของคุณมีสมดุลขึ้นมาก ถ้าใช้แล้วได้ผลอย่างไรอย่าลืมคอมเมนต์มาบอกกันได้นะ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising