×

เป็นเมนส์ ไม่ได้เป็นบ้า

โดย คำ ผกา
04.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • เลือดประจำเดือน นอกจากจะไม่อันตรายแล้ว ยังหมายถึงภาวะอุดมสมบูรณ์ พร้อมให้กำเนิดมนุษย์ให้แก่โลกใบนี้ การจัดการกับผู้หญิงและเลือดประจำเดือนของพวกเธอจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและขัดแย้งในตัวของมันเองไม่น้อยตลอดประวัติศาสตร์ว่าด้วยประจำเดือนของมนุษย์เพศหญิง
  • ข้อห้ามที่ไม่ให้ผู้หญิงมีประจำเดือนทำนั้นมีตั้งแต่ห้ามไปวัด ห้ามสวดมนต์ ห้ามประกอบพิธีกรรมทางศาสนาใด ห้ามสระผม ห้ามทำอาหาร ห้ามมีเซ็กซ์ ห้ามแตะต้องภาชนะ เครื่องครัว จานชาม ห้ามกินของแสลงต่างๆ
  • ที่ผ่านมามันยุติธรรมหรือไม่ที่ ‘ประจำเดือน’ ของผู้หญิงทุกคนมีสถานะ ‘พิเศษ’ และ ‘ลี้ลับ’ เกินกว่าที่จะเป็นแค่อาการหนึ่งทางชีววิทยาที่เราต้องจัดการไปอย่างที่มันควรเป็น

‘ผู้หญิงห้ามเข้า’


ใช่ มีหลายสถานที่ทางศาสนาที่ติดป้ายผู้หญิงห้ามเข้า วัดฮินดูในอินเดียเขียนเจาะจงกว่านั้นคือ ผู้หญิงมีประจำเดือนห้ามเข้า หรือผู้หญิงอายุ 10-50 ปีห้ามเข้า ซึ่งก็หมายถึงผู้หญิงในวัยที่มีประจำเดือนนั่นเอง


ทำไมประจำเดือนของผู้หญิงจึงมีปัญหา


โดยทั่วไปแล้ว เลือดเหมือนสัญญาณอันตราย การมีเลือดไหลออกมาย่อมแปลว่า ร่างกายกำลังเผชิญกับอันตราย ภาวะติดเชื้อ อาการบาดเจ็บ และการสูญเสียเลือดย่อมหมายถึงอันตรายที่ถึงแก่ชีวิต


แต่เลือดประจำเดือนไม่เป็นเช่นนั้น นอกจากจะไม่อันตรายแล้วยังหมายถึงภาวะอุดมสมบูรณ์ พร้อมให้กำเนิดมนุษย์ให้แก่โลกใบนี้


การจัดการกับผู้หญิงและเลือดประจำเดือนของพวกเธอจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและขัดแย้งในตัวของมันเองไม่น้อยตลอดประวัติศาสตร์ว่าด้วยประจำเดือนของมนุษย์เพศหญิง


ประจำเดือนมีทั้งความหมายลบ คือเป็นความแปดเปื้อน สกปรก เป็นภาวะ ‘ไม่ปกติ’ ผู้หญิงที่มีประจำเดือนต้องถูกแยกไปอยู่ต่างหากตามลำพัง หรือมีข้อห้ามต่างๆ

ประจำเดือนยังมีความหมายในเชิงของพลังอันลี้ลับ ไสยดำ หรือแม้กระทั่งเป็นยา เป็นเครื่องรางคุ้มกันภัย


ข้อห้ามที่ไม่ให้ผู้หญิงมีประจำเดือนทำนั้นมีตั้งแต่ห้ามไปวัด ห้ามสวดมนต์ ห้ามประกอบพิธีกรรมทางศาสนาใด ห้ามสระผม ห้ามทำอาหาร (ในอิตาลี ห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนทำซอสพาสต้า หรือในอังกฤษเชื่อว่าถ้าผู้หญิงมีประจำเดือนไปนวดขนมปัง ขนมปังจะไม่ขึ้น) ห้ามมีเซ็กซ์ ห้ามทำอาหาร ห้ามแตะต้องภาชนะ เครื่องครัว จานชาม ห้ามกินของแสลงต่างๆ ในเนปาลมี Chaupadi คือการที่ผู้หญิงที่มีประจำเดือนต้องออกไปอยู่คนเดียว ตัดขาดจากชุมชน 1 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในปี 2005 แต่กฎหมายหรือจะสู้ความเชื่อ เพราะพบว่ายังคงปฏิบัติกันอยู่ ในญี่ปุ่นห้ามผู้หญิงเป็นเชฟซูชิ เพราะเชื่อว่าประจำเดือนของผู้หญิงทำให้การรู้รสแกว่งไกว


ผู้ที่ออกมาปกป้องข้อห้ามเหล่านี้จะใช้เหตุผลว่า ที่ห้ามผู้หญิงทำโน่นทำนี่ไม่ใช่เพราะรังเกียจนะ แต่เพราะเป็นห่วง เช่น


เวลาผู้หญิงมีประจำเดือน ร่างกายจะอ่อนแอ ดังนั้นจึงควรพักผ่อน ไม่ควรออกมาทำงานหรือทำกิจกรรมใดๆ แต่บอกแค่นี้ก็ไม่มีผู้หญิงคนไหนเชื่อ จึงต้องทำเป็นอุบาย ขืนออกมาทำกับข้าวมันจะไม่ดี มันทำให้เกิดความเสื่อมถอยนานา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ แค่อยากให้พักผ่อน ไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องสวดมนต์ ไม่ต้องทำอาหาร ไม่ต้องทำงาน ซึ่งปัจจุบันฉันไม่แน่ใจว่าหากเราเสนอให้ผู้หญิงสามารถหยุดงานได้หากมีประจำเดือน ผู้หญิงจะแฮปปี้ไหม คล้ายๆ กับให้ลาคลอด เพราะเราเห็นว่าผู้หญิงควรจะพักผ่อนในเวลานั้น


การให้ผู้หญิงแยกตัวออกไปอยู่ตามลำพัง เขาก็อ้างว่าสมัยก่อนผู้ชายต้องเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ นานๆ กลับบ้านที เมื่อกลับมาก็มักจะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาแบบไม่ฟังอีร้าค่าอีรม ดังนั้นเพื่อปกป้องภรรยาที่อาจกำลังมีประจำเดือน จึงให้เธอออกไปอยู่ที่อื่น สำทับด้วยข้อห้ามไม่ให้เพศสัมพันธ์ แถมยังมีพื้นที่ส่วนตัวที่จะจัดการตนเองตามอัธยาศัยอีกในช่วงระหว่างนั้น


อันนี้ฉันจะขอละไว้ ไม่ตัดสินว่าเลือกข้างไหน ให้คนอ่านลองพิจารณาเองว่า เออ ข้อห้ามต่างๆ เกี่ยวกับประจำเดือนนั้นเป็นข้อห้ามเพื่อการกีดกัน หรือเป็นข้อห้ามเพราะความห่วงใย


แต่ฉันเชื่อว่ามีสิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงต่างประสบเกี่ยวกับเรื่องของประจำเดือน


นั่นคือมันเป็นความน่าอาย ถ้าเราจะต้องเอาผ้าอนามัยไปห้องน้ำ เราจะกระมิดกระเมี้ยน ม้วนเก็บ หรือเตรียมมันไว้ในถุงผ้าอย่างมิดชิดในตู้เก็บอุปกรณ์ห้องน้ำ เครื่องอาบน้ำ สบู่ ยาสีฟัน ผ้าอนามัยจะถูกซ่อนเอาไว้ไม่มากก็น้อย แต่มันไม่มีวันแสดงตัวอย่างโจ่งแจ้ง คำศัพท์ที่ใช้เกี่ยวกับประจำเดือนยังการเลี่ยงไปใช้คำว่าวันนั้นของเดือน วันแดงเดือด ฯลฯ ในภาษาอังกฤษยังใช้คำว่า whisper, secret, discreet


โฆษณาผ้าอนามัยของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ชิ้นแรกในปี 1896 นั้นพังอย่างไม่เป็นท่า เพราะผู้บริโภคเห็นว่ามันช่างอุจาดเสียนี่กระไรกับการมาโฆษณาสิ่งนี้ และพูดถึงสิ่งเหล่านี้อย่างเปิดเผย


และจนถึงทุกวันนี้ ในหนัง ในละคร ผ้าอนามัยหรือประจำเดือนก็สามารถเป็นมุกตลกในหมู่ผู้ชายได้อีก


โดยไม่รู้ตัว ท้ายที่สุดผู้หญิงเองนั่นแหละถูกทำให้มีปัญหากับประจำเดือนของตัวเองมากที่สุด ในฐานะสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ประจำเดือนมาทีไรก็สร้างความวิตกกังวลไปสารพัด


โอ๊ย วันนี้มีสัมภาษณ์งานสำคัญ ดันเมนส์มา


วันนี้ต้องไปว่ายน้ำ เมนส์มา


วันนี้มีเดต เมนส์มา


วันนี้สอบปลายภาค กรี๊ด เมนส์มา


ประจำเดือนกลายเป็นอุปสรรคในชีวิตเรา เพราะเราถูกสอนให้ปิดบังซ่อนเร้นมัน ทุกครั้งที่เป็นเมนส์ สิ่งแรกที่เราคิดคือต้องพกผ้าอนามัย ต้องใส่กางเกงในแบบไหน ต้องแต่งตัวอย่างไร เพราะในวันมามากล้น ผ้าอนามัยที่ทั้งยาวทั้งหนาก็ทำให้กระโปรงหรือกางเกงเสียทรงได้ คำนวณว่าวันนั้นทั้งวันต้องทำอะไรบ้าง จะมีเวลาลุกมาเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยพอไหม หรือถ้ามีประจำเดือนระหว่างเดินทาง การเปลี่ยนผ้าอนามัยในห้องน้ำบนเครื่องบินก็ไม่ใช่เรื่องสนุก ยิ่งถ้าเป็นคนจนที่นั่งรถไฟชั้นสามคงยิ่งนรก ถ้านั่งรถยนต์ก็ต้องคอยแวะปั๊ม แล้วต้องคิดอีกว่าเส้นทางที่เราไปนั้นห้องน้ำโอเคไหม


ตัวฉันเองเคยต้องไปถ่ายรายการข้างนอกสตูดิโอในวันที่ประจำเดือนจู่โจมทะลักทะล้น แต่การถ่ายงานไม่เอื้อให้ได้เปลี่ยนผ้าอนามัย มีทั้งแขกรับเชิญ มีทั้งเงื่อนไขสารพัดสารพัน เช่น ข้อจำกัดของเวลาและอื่นๆ ผ่านไป 4 ชั่วโมง กางเกงก็ชุ่มโชกไปด้วยเลือด ไม่ใช่แค่เปื้อน แต่เปียกโชกไปหมด


อย่างสิ้นหวัง แค่คิดว่าจะเดินไปขออาศัยห้องน้ำที่ไหนในขณะที่เปียกโชกนั้น เจอห้องน้ำแล้ว เปลี่ยนผ้าอนามัยแล้ว ด้วยรอยเปื้อนสาหัสสากรรจ์และกลิ่นคาวเลือดคละคลุ้งนั้น เราจะกลับบ้านยังไง นั่งแท็กซี่ก็จะเอาเลือดไปเปื้อนเบาะเขาไหม คนขับจะได้กลิ่นคาวๆ จากเราไหม ฯลฯ


หรือในสถานการณ์ที่ประจำเดือนมาอย่างไม่คาดฝัน มันอาจโผล่มาในขณะที่เรากำลังพรีเซนต์งานสำคัญ โผล่มาในวันที่เราสวมกระโปรงลูกไม้สีขาวจั๊ว โผล่มาในขณะที่เรานั่งฟังธรรมอยู่ในวัด ฯลฯ ร้ายกว่านั้น การโผล่มาอย่างกระนั้นนี้ หากเราไม่มีผ้าอนามัยติดตัวจะทำอย่างไร หากเรากำลังนั่งอยู่ในห้องประชุมที่มีแต่ผู้ชายล่ะ


แค่คิดเรื่องเป็นเมนส์และการรับมือกับมันในแต่ละสถานการณ์ก็เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องชวนระอา เป็นเรื่องที่หากเจอมันเข้าแล้วล่ะก็ เรารู้สึกว่าอยากยกเลิกแผนทุกอย่าง ยกเลิกทุกนัด แล้วนอนนุ่งเสื้อยืดตัวเดียวอยู่บ้าน นั่งให้ใกล้ส้วมเข้าไว้ และพร้อมที่จะอาบน้ำตลอดเวลา เพราะประจำเดือนทำให้รู้สึกว่าเราสกปรก เรามีกลิ่นเหม็น เราไม่สะอาด และไม่สามารถควบคุมสถานการณ์อะไรได้เลย


ผู้หญิงทุกคนรู้ว่าในวันที่ประจำเดือนมามากที่สุดนั้น มันจะทำให้เราปวดหน่วงอย่างทรมานจนแทบจะยืนเกิน 5 นาทีไม่ได้ แล้วลองจินตนาการว่าถ้าเราเป็นเชฟทำงานในครัวที่ต้องยืน ยก ผัด อบ แบกหม้อ แบกกระทะหน้าเตาร้อนๆ สัก 12 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง และท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดในสนามของการงาน หากเราเป็นผู้หญิง และหากวันนั้นเราเป็นประจำเดือนที่ทำให้เราปวดหน่วงที่หว่างขาและรู้สึกเหมือนมดลูกจะหลุดออกมาทุกเมื่อ เราต้องทำอย่างไร


ประจำเดือนสามารถเป็นศัตรูต่อความสำเร็จ ต่อหน้าที่การงานของผู้หญิงได้แค่ไหน เท่าที่รู้ ยังไม่มีใครเขียนหรือวิจัยออกมา แต่ที่แน่ๆ ประจำเดือนทำให้เด็กผู้หญิงจำนวนมากขาดเรียน บางคนต้องออกจากโรงเรียนไปเลย เนื่องจากขาดเรียนบ่อย

 

ในเคนยา เด็กหญิง 40% ขาดเรียนเดือนละ 1 สัปดาห์ในช่วงที่เป็นประจำเดือน เพราะไม่มีผ้าอนามัย พวกเธอใช้วัสดุแทนผ้าอนามัยหลายอย่าง ตั้งแต่เศษผ้า ใบไม้ กระดาษหนังสือพิมพ์ โคลน เศษที่นอนเก่าๆ


ในอินเดีย มีแค่ 12% ของผู้หญิง 355 ล้านคนในวัยมีประจำเดือนที่เข้าถึงผ้าอนามัย


ในอังกฤษ ในสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง ก็ยังพบว่าเด็กหญิงจากครอบครัวที่รายได้น้อยต้องขาดเรียนทุกเดือนในช่วงที่มีประจำเดือน เพราะไม่มีผ้าอนามัยจะใส่


เด็กหญิงชาวอินเดียนในเขต Reservation Indians ก็มีปัญหาโดดเรียนช่วงมีประจำเดือนเพราะเข้าไม่ถึงผ้าอนามัยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าคนอินเดียนที่เผชิญกับปัญหาสังคมหลายๆ อย่างและมีรายได้ต่ำกลับต้องซื้อของแพงกว่าคนอื่น เพราะข้อจำกัดของการเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตในเขต Reservations เช่น ผ้าอนามัยที่ขายในนี้ 20 ชิ้น ราคา 7.39 เหรียญ ในขณะที่วอลมาร์ท ขายแค่ 3.97 เหรียญเท่านั้น


มีการคำนวณออกมาแล้วว่า ในช่วงชีวิตหนึ่ง ผู้หญิงต้องหมดเงินไปกับค่าผ้าอนามัยคนละประมาณ 5,000 ยูโร กรณียุโรป ส่วนอเมริกา คนละ 2,200 เหรียญ


ฉันต้องการบอกหรือเรียกร้องอะไรจากการให้ข้อมูลเหล่านี้?


จะให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการรัฐ? อืม ก็ไม่เลวนะ อาจจะดีกว่าแจกโฟลิก, ให้เอาค่าใช้จ่ายในเรื่องผ้าอนามัยไปหักภาษีได้? เหล่านี้คงเป็นข้อเสนอที่เพี้ยนที่สุด และคนจำนวนมากคงบอกว่า เฮ้ย มดลูกตัวเอง รังไข่ตัวเอง จะมาโยนภาระให้รัฐผิดชอบได้อย่างไร


ก็คงต้องถามกลับว่า รัฐยังพยายามจะมาควบคุมปอดเรา ตับเรา ผ่านนโยบายเหล้า บุหรี่ รัฐยังมายุ่งกับมดลูกของเราเรื่องยาคุมกำเนิด เรื่องควรมีลูกกี่คน หนักกว่านั้นยังห้ามเราทำแท้งอีกด้วย ในเมื่อรัฐก็ยุ่งกับร่างกายและอวัยวะภายในเรามากขนาดนี้ ทำไมถึงคิดว่าเรื่องประจำเดือนเป็นเรื่องส่วนตั๊ว ส่วนตัว ที่ผู้หญิงต้องดูแลเอง รับผิดชอบเอง


สิ่งที่ฉันอยากจะบอกคือ ในขณะที่ผู้หญิงถูกทำให้เชื่อว่าประจำเดือนเป็นของสกปรก เป็นความลับสุดยอด เป็นสิ่งที่ต้องซ่อนเร้น ปิดบังให้มิดชิด มีมารยาทมากมายเกี่ยวกับการพูดถึงประจำเดือนและผ้าอนามัย มีความอับอายอย่างสาหัสหากไม่สามารถเก็บซ่อนประจำเดือนของเธอให้มิดชิดเรียบร้อยได้ ในหลายกรณี ผู้หญิงยังไม่กล้าแม้แต่จะทิ้งผ้าอนามัยใช้แล้วปะปนไปกับ ‘ขยะ’ อื่นๆ ต้องแยกมันออกมาต่างหาก


แต่ในเวลาเดียวกัน สังคมต่างเอื้อมมือเข้ามายุ่มย่ามกับประจำเดือนผู้หญิงได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น ห้ามไม่ให้เธอเข้าศาสนสถาน ห้ามไม่ให้เธอทำโน่นทำนี่ และความสุดยอดของมันก็คือ แม้กระทั่งความเหลื่อมล้ำในระบอบเศรษฐกิจเสรีอย่างที่เป็นอยู่ ประจำเดือนก็ยัง ‘ห้าม’ ไม่ให้ผู้หญิงจำนวนมากในโลกนี้ได้รับการศึกษา เพียงเพราะเธอไม่มีผ้าอนามัยใส่ไปโรงเรียน เพียงเพราะว่าประจำเดือนที่ไหลออกมาโดยไม่มีอะไรรองรับในที่สาธารณะนั้นเป็นที่น่าอายเหลือจะทน


ถ้าจะมีใครสักคนตะโกนออกมาดังๆ ว่า “เลิกกลัวประจำเดือนเสียที” ก็น่าจะเป็นคนนี้


คิรัน คานธี (Kiran Gandhi) หญิงสาวในลอนดอนมาราธอนที่ตัดสินใจวิ่งจนถึงเส้นชัยพร้อมเลือดประจำเดือนที่ไหลเป็นทาง


เธอให้สัมภาษณ์ว่า เธอคิดอยู่นานมากว่าจะทำอย่างไรดี มาราธอนนี้เป็นมาราธอนที่สำคัญที่สุด และประจำเดือนของเธอต้องมาแน่นอนในวันนั้น เธอพยายามหาวิธีจัดการกับมัน จะใส่ผ้าอนามัยแบบสอด แบบแผ่น หรือแบบอะไร ใส่กับกางเกงแบบไหน สรุปแล้วทุกแบบล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการวิ่งของเธอทั้งสิ้น ในที่สุดเธอตัดสินใจว่า ‘ปล่อย’


เธอให้สัมภาษณ์ว่า “การตัดสินใจเช่นนั้นต้องแข่งกับตราบาปที่สังคมมองประจำเดือน ต้องฝ่าฟันความละอายที่สังคมสอนเรามาทั้งชีวิตให้อาย และไม่น่าเชื่อเลยว่าการปลดปล่อยครั้งนี้มันสร้างพลังให้แก่ตัวฉันเองอย่างไม่น่าเชื่อ และการวิ่งพร้อมประจำเดือนโดยไม่ต้องมีผ้าอนามัยก็สบายอย่างไม่น่าเชื่อ”

 

ฉันไม่ได้บอกว่าผู้หญิงทุกคนจงลุกขึ้นปาผ้าอนามัยทิ้งและเดินให้เลือดไหลลงหว่างขา สร้างความเปรอะเปื้อนให้กับถนนหนทางกันเถอะ แต่ฉันกำลังจะตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมามันยุติธรรมหรือไม่ที่ ‘ประจำเดือน’ ของผู้หญิงทุกคนมีสถานะ ‘พิเศษ’ และ ‘ลี้ลับ’ เกินกว่าที่จะเป็นแค่อาการหนึ่งทางชีววิทยาที่เราต้องจัดการไปอย่างที่มันควรเป็น นั่นคือสามารถพูดถึงมันได้อย่างสบายๆ เท่ากับการพูดถึงการแปรงฟัน สามารถถือผ้าอนามัยได้อย่างเปิดเผยพอๆ กับการถือยาสีฟัน และสามารถผิดพลาด เปรอะเปื้อนได้ ไม่ว่าจะห้องเรียน ในห้องสอบ ในห้องประชุม ในทุกแห่งหนบนโลกใบนี้


ยังไม่นับว่าภาษีผ้าอนามัยที่ถูกจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในหลายประเทศนั้นต้องได้รับการตั้งคำถามว่า ตั้งแต่เมื่อไรที่การซับระดูของผู้หญิงเป็นของฟุ่มเฟือย


ผู้หญิงไม่ได้ถูกกดดันจากประจำเดือนของเธอเฉพาะเรื่องการเข้าวัดเท่านั้น แต่ผู้หญิงยังถูกกีดกันจากหลายสถานการณ์และโอกาสของชีวิตจาก ‘ความละอาย’ ที่มาพร้อมกับ ‘ประจำเดือน’ ของพวกเธอ ซึ่งการเรียกตัวเองว่ามนุษย์เมนส์เพื่อสร้างเงื่อนไขว่า เมื่อผู้หญิงเป็นเมนส์จะสามารถไร้เหตุผลเท่าไรก็ได้ และทุกคนต้อง ‘ตามใจ’ และให้อภัยมนุษย์เมนส์อย่างไม่มีเงื่อนไข ก็ยิ่งตอกย้ำว่าหากประจำเดือนไม่ใช่ความละอาย มันคือความป่วยไข้และ ‘ความบ้าคลั่ง’ เท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X