วานนี้ (14 พฤศจิกายน) เพจองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ประกาศที่ลงนามโดย รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เรื่อง การกำหนดให้มีวันลาหยุดสำหรับผู้มีประจำเดือน
ในประกาศดังกล่าวระบุว่า ด้วยสภานักศึกษา ในการประชุมสภานักศึกษาสมัยสามัญ 1 ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ที่ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ มธ. ศูนย์รังสิต และระบบออนไลน์ ขอให้มหาวิทยาลัยพิจารณาข้อเสนอ เรื่องการกำหนดให้มีวันลาหยุดสำหรับผู้มีประจำเดือน
เนื่องจากพบว่ามีนักศึกษาผู้มีประจำเดือนมีอาการต่างๆ เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ ท้องอืด ท้องผูกหรือท้องเสีย เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวนวิตกกังวลง่าย มีพฤติกรรมแยกตัวจากเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้าง ไม่มีสมาธิ ไม่กระตือรือร้น ทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนหรือดำเนินชีวิตได้ตามปกติในช่วงระยะเวลาของการมีประจำเดือน ซึ่งนักศึกษามีความตั้งใจที่จะเข้าศึกษาในชั้นเรียน แต่ไม่สามารถเข้าเรียนในชั้นเรียนได้เนื่องจากมีอาการดังกล่าว
ทั้งนี้ ฝ่ายวิชาการฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการพิจารณาแล้วเห็นความสำคัญและความจำเป็นของนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวข้างต้น จึงขอความร่วมมือคณะ สถาบัน วิทยาลัย แจ้งอาจารย์ผู้สอนพิจารณาอนุญาตให้นักศึกษาผู้มีประจำเดือนที่ได้รับผลกระทบจากอาการดังกล่าวสามารถลาหยุดได้โดยไม่กระทบกับการจัดการเรียนการสอน
ตัวอย่างต่างประเทศ อนุญาต ‘ลา’ เพราะปวดท้องประจำเดือน
การอนุญาตให้แรงงานหญิงสามารถลาหยุดเพราะปวดท้องประจำเดือน มีหลายประเทศที่มีการออกกฎอนุญาตอย่างชัดเจน โดยถูกนำเสนอครั้งแรกในรัสเซียในช่วงปี 1880-1927 ด้วยสำนึกที่จะปกป้องหน้าที่การสืบพันธุ์ของแรงงานหญิง
ตัวอย่างในภูมิภาคเอเชีย เช่น ประเทศอินโดนีเซีย แรงงานหญิงได้รับการอนุญาตให้ลาปวดประจำเดือนได้เดือนละ 2 วัน ตามมาตรา 81 ของกฎหมายแรงงาน No. 13/2003 และ Labour Act (No. 12/1948) หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่นก็มีกฎหมายที่อนุญาตให้แรงงานหญิงลางานเพราะความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือนได้ ตั้งแต่ปี 1947 หลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และประสบปัญหาการสูญเสียประชากรจำนวนมาก โดยแรงงานจะต้องขอลากับนายจ้างโดยตรง
ขณะที่ประเทศแซมเบียประกาศกฎหมายในปี 2015 ให้แรงงานหญิงมีสิทธิได้รับวันหยุดในแต่ละเดือนจากการมีประจำเดือน ซึ่งใช้คำว่า ‘วันแม่’ (Mother’s Day) และมีบทการดำเนินคดีและลงโทษสำหรับนายจ้างที่ปฏิเสธลูกจ้างหญิงลา ซึ่งบังคับใช้กับผู้หญิงทำงานทุกคนอย่างถูกกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา สเปนกลายเป็นประเทศล่าสุดที่มีการผ่านกฎหมาย Menstrual Leave ด้วยการให้สิทธิแรงงานหญิงสามารถลาจากอาการปวดประจำเดือน 3-5 วันต่อเดือน โดยยังได้รับค่าจ้าง แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์แสดงชัดเจนว่ามีอาการจากการเป็นประจำเดือนจนไม่สามารถทำงานได้
อ้างอิง: