×

แบคซึงยู ในซีรีส์ Melancholia เด็กหนุ่มผู้ร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน แต่ยังโบยบินได้อย่างอิสระอีกครั้ง

24.11.2021
  • LOADING...
Melancholia

*มีการเปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์*

 

‘หนุ่มน้อยอัจฉริยะผู้โบยบินไม่สำเร็จ’

 

‘อัจฉริยะจริงเหรอ?’

 

‘Melancholia อาการซึมเศร้าของเหล่าอัจฉริยะ’ ฯลฯ

 

หัวข้อเหล่านี้คือตัวอย่างบทความในช่วงปี 2011 ที่ปรากฏขึ้นเมื่อเสิร์ชชื่อของ แบคมินแจ (อีโดฮยอน) เด็กชายที่เก่งคณิตศาสตร์จนสามารถเข้า MIT สถาบันระดับโลกได้ด้วยวัยเพียง 10 ขวบ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงบางอย่างจนทำให้เขาลาออก เปลี่ยนชื่อเป็น แบคซึงยู และกลายมาเป็นเด็กหลังห้องธรรมดาๆ ในโรงเรียนมัธยมอาซอง

 

แบคซึงยูถูกวินิจฉัยว่ามีอาการมากมาย เช่น ซึมเศร้า, PTSD และแพนิก เขาละทิ้งความสามารถด้านคณิตศาสตร์ไปท่ามกลางความคาดหวังอย่างหนักจากพ่อแม่ กระทั่งวันหนึ่ง ซึงยูได้พบกับ จียุนซู (อิมซูจอง) คนแปลกหน้าบนรถไฟที่บังเอิญเห็นความหลงใหลในตัวเลขของเขา ก่อนที่เธอจะเปลี่ยนสถานะมาเป็นคุณครูคนใหม่ผู้พยายามผลักดันให้เขากลับมาสนใจคณิตศาสตร์อีกครั้ง

 

 

 

หากย้อนดูที่มาที่ไปของชื่อซีรีส์ ซึ่งอีโดฮยอนพูดไว้ว่า “อยากให้ผู้ชมได้ค้นพบความหมายดีๆ ที่ซ่อนอยู่ไปพร้อมกัน” Melancholia มาจากคำศัพท์ยุคกรีกโบราณ ใช้เรียกอาการซึมเศร้าในฐานะที่เป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจ โดย Hippocrates บิดาแห่งการแพทย์เชื่อว่าอาการโศกเศร้าหรืออาการกลัวโดยไม่มีสาเหตุนั้น เกิดจากการที่ร่างกายมีน้ำดีดำ (Black Bile) มากเกินไปจนเสียสมดุล

 

เวลาต่อมา Aristotle (หรือ Pseudo-Aristotle) นักปรัชญาคนสำคัญได้เชื่อมโยงอาการซึมเศร้าเข้ากับความอัจฉริยะว่า Melancholia คืออารมณ์เศร้าโดยธรรมชาติของศิลปินที่มีความสร้างสรรค์ ซึ่งส่งอิทธิพลให้กับแนวคิด ‘อัจฉริยะผู้โศกเศร้า’ ของนักปรัชญาสายมนุษยนิยมในยุคเรเนสซองซ์อย่าง Marsilio Ficino ที่เชื่อว่าดวงดาวส่งผลกับร่างกายมนุษย์ โดยในยุคนั้น Melancholia กลายเป็นคุณลักษณะเชิงบวกของคนมีความสามารถไปโดยปริยาย

 

เรื่อยมาจนยุคภูมิธรรมที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากขึ้น ก็มีแพทย์ที่อธิบายว่าอาการซึมเศร้ามักเกิดกับนักวิชาการ นักปราชญ์ เพราะเป็นกลุ่มคนที่มี ‘Animal Spirits’ ละเอียดอ่อนและเปราะบางเกินไปจนมีความฉลาดและมีความโศกเศร้าที่ล้นเกิน


อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้อาการซึมเศร้าได้ถูกแทนด้วยคําว่า Depression ตามที่เรารู้จักกัน ส่วน Melancholia กลายเป็นชนิดย่อยของโรคซึมเศร้า โดยมีอาการ เช่น รู้สึกว่างเปล่า สูญเสียความสนใจในสิ่งที่เคยทำแล้วสนุกไป

 

ซึ่งในทางกลับกันแล้ว Melancholia ก็ไม่เหมือนกับความเศร้าหรืออาการซึมเศร้าเสียทีเดียว มีการตีความคำนี้โดยการพูดถึงภาวะหดหู่ตรอมใจ (Melancholy) ว่าเป็นอารมณ์เชิงสุนทรียศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลเผชิญกับความสูญเสีย การจมจ่อมอยู่ในห้วงความเศร้าคือช่วงเวลาที่เราได้ไตร่ตรองอารมณ์อันซับซ้อน ถือเป็นกระบวนการรับมือกับความเจ็บปวดในชีวิตอย่างหนึ่ง และอารมณ์นี้มักปรากฏอยู่ในงานศิลปะมากมาย

 

นั่นเองคือสิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้พยายามถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์ที่ผสานเข้าด้วยกัน ผ่านผลงานและทฤษฎีของนักคณิตศาสตร์ นักปรัชญา จิตรกร เช่น Leonardo da Vinci, Ramanujan, Georg Cantor, Vincent van Gogh และหากมองลึกลงไปเราจะพบว่า ท่ามกลางเหล่าอัจฉริยะผู้สรรสร้างผลงานชิ้นเอกให้โลก มีคนจำนวนไม่น้อยเลยจริงๆ ที่เผชิญกับความเจ็บป่วยทางจิตใจอย่างสาหัส

 

“Melancholia หมายถึงอาการหดหู่ไม่ใช่เหรอครับ”

 

“ใช่แล้วล่ะ ปกติอาการหดหู่หมายถึงสภาวะไร้เรี่ยวแรงและรู้สึกจมดิ่งอย่างไร้ที่สิ้นสุด แต่ถ้าเราจมดิ่งอย่างไร้ที่สิ้นสุดลงไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะตกลงถึงพื้น… เรียกว่าสภาวะที่ไม่มีอะไรเลยได้ไหมนะ”

 

“พอทุกอย่างว่างเปล่าไปแล้ว ก็จะฝันถึงการเริ่มต้นใหม่ได้ และจะเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น”

 

มีฉากหนึ่งที่ตัวละครพูดคุยกันเรื่องภาพผลงานพิศวงชื่อ Melencolia I โดย Albrecht Dürer จิตรกรและนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ ซึงยูสังเกตเห็นแสงเล็กๆ ในภาพที่ยุนซูบอกว่า อาจเป็นการค้นพบอะไรบางอย่างก่อนแสงจะเลือนหายไป

 

สลับมาที่วันแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก ซึงยูบังเอิญพบอาจารย์จาก MIT ที่พาภาพเหตุการณ์ในอดีตย้อนกลับมาหา เขาเกิดอาการแพนิกอย่างรุนแรงและวิ่งหนีออกไปจากงาน ชั่วขณะนั้นก็มีแสงสะท้อนวาบเข้ามาให้เขาตั้งสติพร้อมๆ กับคำพูดของยุนซู แล้วเขาก็คิดคำตอบของโจทย์เลขที่ค้างไว้ได้ในทันที

 

แสงเล็กๆ อาจสว่างขึ้นมาเพียงชั่วครู่ แต่ก็มากเพียงพอให้เขาได้ปลดล็อกตัวเองและเปล่งประกายใหม่อีกครั้ง

 

ภาพ Melencolia I ปี 1514 โดย Albrecht Dürer (อัลเบร็ชท์ ดือเรอร์)

 

Melancholia Melancholia

 

บนเวทีแข่งขัน ในขณะที่เด็กนักเรียนคนอื่นๆ นำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยและความอัจฉริยะของปัญญาประดิษฐ์ที่จะขับเคลื่อนอนาคต แบคซึงยูกลับนำเสนอด้วยการบอกว่า ปัญญาประดิษฐ์อาจเขียนนิยาย แต่งเพลง เล่นหมากล้อมชนะมนุษย์ได้ แต่ความสามารถเหล่านั้นล้วนมีขีดจำกัด แตกต่างจากมนุษย์ผู้มอบความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการให้แก่ปัญญาประดิษฐ์ เป็นมนุษย์ที่สามารถมีความฝันและขยายมุมมองทางความคิดออกไปได้อย่างไร้ที่สิ้นสุด

 

เหมือนกับความเป็นอนันต์ที่ซึงยูมองเห็นและหยิบมาพูดบนเวทีอย่างภาพ ราตรีประดับดาว (The Starry Night) โดย Vincent Van Gogh ศิลปินผู้สร้างผลงานตราตรึงใจให้คนรุ่นหลังขณะที่ตัวเขาตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า

 

“ชีวิตของ Vincent Van Gogh อาจสิ้นสุดไปแล้ว แต่เขาได้สร้างผลงานศิลปะที่จะคงอยู่ตลอดไปไว้”

Melancholia

 

ในฐานะคนดูอย่างเราที่มีความสัมพันธ์ติดลบมหาศาลกับตัวเลข ต้องยอมรับว่าตามความเนิร์ดของตัวละครไม่ทันจริงๆ แต่สิ่งที่ส่งต่อมาถึงคนดูได้อย่างเปี่ยมล้นแม้ไม่เข้าใจทฤษฎีทั้งหลาย ก็คือความหลงใหลในคณิตศาสตร์ของทั้งสอง

 

สำหรับพวกเขา คณิตศาสตร์ไม่ใช่แค่การไขโจทย์ยากๆ ได้สำเร็จ แต่เป็นทุกความรู้สึกสั่นไหว ตื่นเต้น กังวล ระหว่างค้นหาคำตอบ เป็นความงดงามเฉกเช่นผลงานศิลปะที่เปี่ยมด้วยความหมายลึกซึ้ง เป็นความเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่งที่ผูกโยงกันอย่างแยกไม่ขาด เป็นวิธีการมองโลกที่ขยับขยายความเป็นไปได้ออกไปไม่รู้จบ

 

“ครูอยากให้เธอเป็นอิสระนะ”

 

จึงไม่น่าแปลกใจถ้าแบคซึงยูจะรู้สึกดีกับใครสักคนที่เข้าใจและตั้งใจรับฟังตัวเขาจริงๆ เป็นคนแรก เพียงแต่ว่าเขากำลังล้ำเส้นไปสู่ความรู้สึกต้องห้ามที่ไม่ควรเกิดขึ้นทั้งในจอและนอกจอ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลายเป็นข้อครหาให้ยุนซูถูกสอบสวนอย่างที่ซีรีส์เปิดประเด็นไว้ตอนต้นเรื่อง ซึ่งฟากคนดูเองก็อึดอัดไม่แพ้กันกับการกระทำที่ใกล้ชิดเกินไปของพวกเขา

 

หากวัดความนิยมจากเรตติ้งที่ลดลงเหลือ 1.6% ในตอนล่าสุด ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าใจหายสำหรับซีรีส์ฉลองครบรอบ 15 ปี ของ tvN อาจจะด้วยบรรดาทฤษฎีคณิตศาสตร์ที่ย่อยยากและการเล่าเรื่องก็เนิบนาบพอสมควร

 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเรื่องราวให้รอติดตามอย่างดราม่าแวดวงการศึกษาที่กลายเป็นธุรกิจให้แสวงหาผลประโยชน์ การคอร์รัปชันระหว่างภาครัฐและเอกชน เหล่านักเรียนผู้เป็นผลผลิตจากความรักแบบ ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ และการร่วมมือกันเปิดโปงการทุจริตครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ในเรื่องตอนนี้ผ่านไปแล้ว 4 ปี

 

ปัจจุบัน Melancholia มีทั้งหมด 4 ตอน ออกอากาศทุกวันพุธ-พฤหัสบดี สามารถรับชมซับไตเติลไทยได้ทาง Viu, iQiyi, WeTV

 

รับชมตัวอย่างซีรีส์ Melancholia ได้ที่

 

 

ภาพ: tvN

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X