วันนี้ (12 มกราคม) พล.ต. ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ. ไตรศักดิ์ อินทรรัสมี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ. สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้มาตรวจเยี่ยมหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) สถานีเรือเชียงของ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
ภายหลังรับฟังการบรรยายสรุป ภูมิธรรมพร้อมคณะได้ขึ้นเรือตรวจการณ์สำรวจภูมิประเทศและตรวจเยี่ยมสถานีเรือเชียงแสน ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ บ้านสบรวก ถึงบ้านหาดบ้าย รวมระยะทาง 39 กิโลเมตร และสถานีเรือเชียงของ ซึ่งรับผิดชอบตั้งแต่บ้านหาดบ้ายถึงแก่งผาได บ้านห้วยลึก รวมระยะทาง 57 กิโลเมตร
ทั้งนี้ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย เป็นหน่วยเฉพาะกิจของกองทัพเรือ ขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับกองกำลังผาเมือง รับผิดชอบพื้นที่ตามแนวแม่น้ำโขง ติดกับชายแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีพื้นที่ครอบคลุม 34 หมู่บ้านตามลุ่มแม่น้ำโขง ในพื้นที่ 8 ตำบลของ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย รวมระยะทางทางน้ำ 96 กิโลเมตร
ส่วนในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม-ธันวาคม 2567) สามารถตรวจยึดจับกุมยาเสพติด เช่น ยาบ้ากว่า 15 ล้านเม็ด, เฮโรอีน 56 กิโลกรัม และยาไอซ์ 135 กิโลกรัม มูลค่ากว่าพันล้านบาท นอกจากนี้ยังสามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ตรวจยึดรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และบุหรี่ต่างประเทศ มูลค่าของกลางกว่า 2 ล้านบาท และยังจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายได้ผู้ต้องหาจำนวน 30 คน ส่วนมากเป็นคนลาวและคนจีน
สำหรับการเดินทางมาตรวจเยี่ยมของภูมิธรรมในครั้งนี้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องเร่งแก้ไขพร้อมบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการลักลอบผ่านแนวชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำ
ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายและมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนให้ประชาชนได้เห็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือน โดยตนจะเริ่ม Kick Off โครงการในวันที่ 30 มกราคม 2568 ซึ่งชายแดนด้านนี้ยังคงเป็นพื้นที่ล่อแหลม สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น เพราะนอกจากจะมีการลำเลียงผ่านช่องทางชายแดนทางบกแล้ว ยังมีการใช้เส้นทางลำเลียงในแม่น้ำโขงด้วย
หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการซีลแนวชายแดน ตรวจจับและสกัดกั้นยาเสพติด รวมถึงการกระทำผิดกฎหมายตามช่องทางทางน้ำ เพื่อสนับสนุนกำลังทางบกในการรักษาความมั่นคง และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายผลการจับกุมสู่พื้นที่ตอนใน โดยแนวทางปฏิบัติการจะใช้การสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนที่มีความเสี่ยงสูงของพื้นที่ 51 อำเภอ ใน 14 จังหวัด แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ชั้น ชั้นแรก (แนวชายแดน) เป็นความรับผิดชอบของกองกำลังป้องกันชายแดนสนธิกำลังระหว่างตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยทหารทุกหน่วยที่รับผิดชอบดูแลและสกัดกั้น
ในระดับ 2 (พื้นที่ตอนในระดับอำเภอ) เป็นการร่วมกันระหว่างตำรวจ นายอำเภอ ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ในการป้องกัน จัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และจัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ ซึ่งจะมีการเรียกประชุมผู้กำกับสถานีตำรวจ 76 สถานี นายอำเภอ 51 อำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ จะให้มีการประเมินผลทุกวงรอบ 6 เดือน
สำหรับแนวทางดังกล่าว มีเป้าหมายที่สำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนเชิงรุกและบูรณาการเพื่อลดปัญหาในระยะยาว มุ่งสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงในพื้นที่ พร้อมทั้งลดปัญหาผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้หมดไปจากประเทศไทยในปี 2568