×

สำรวจเขื่อนแม่น้ำโขง ระเบิดเวลาทำลายระบบนิเวศ 6 ประเทศ

06.11.2019
  • LOADING...

สถานการณ์แม่น้ำโขงแห้งแล้งนับได้ว่าเป็นที่ช่วงวิกฤต หลังมีการรายงานถึงสภาพแหล่งน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ในอดีต แต่ปัจจุบันกลายเป็นภาพแอ่งน้ำที่แห้งขอด หลายพื้นที่แล้งหนักถึงขั้นมีหาดทรายโผล่ขึ้นมาแทนที่ โดยสาเหตุอันดับแรกๆ ที่นักวิชาการส่วนใหญ่อ้างถึงคือการเกิดขึ้นของเขื่อนต่างๆ ที่มีอยู่บนเส้นแม่น้ำโขง

 

THE STANDARD พูดคุยกับ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ถึงประเด็นการผุดขึ้นมาของโครงการเขื่อนต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง และผลกระทบต่อหลายจังหวัดของไทยในเขตลุ่มน้ำโขง โดยเพียรพรระบุว่าเดิมทีการมีอยู่ของเขื่อนบริเวณประเทศจีนก็ค่อนข้างมีผลกระทบต่อปริมาณน้ำในลุ่มน้ำโขงทางตอนล่างอยู่พอสมควร แล้วยิ่งการมาของเขื่อนในระยะหลังก็จะยิ่งตอกย้ำการสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงตอนล่างเป็นอย่างมาก

 

“เป็นที่ทราบกันดีว่าเส้นแม่น้ำโขงเป็นเขตที่น้ำไหลผ่านหล่อเลี้ยงประชากรจำนวน 6 ประเทศ ซึ่งเดิมทีการมีเขื่อนในจีนก็แย่พอแล้ว แต่พอมีเขื่อนที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังเกิดขึ้นอีกก็สร้างความกังวลให้ชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่กระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่แม่น้ำโขง”

 

ซึ่งการที่แม่น้ำโขงนั้นถูกควบคุมปริมาณน้ำโดยเขื่อนต่างๆ ยกตัวอย่าง เขื่อนไซยะบุรี ที่มีการทดลองผลิตไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา จะสังเกตได้ว่าแม่น้ำโขงนั้นมีปริมาณน้ำที่ต่ำลงค่อนข้างมาก ซึ่งอาจจะเป็นผลจากปัจจัยหลายอย่างรวมอยู่ด้วย เช่น 

 

  • ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั้งภูมิภาค
  • เขื่อนตามต้นสายของแม่น้ำกักเก็บน้ำไว้
  • การมีเขื่อนเกิดใหม่ขึ้นมากั้นน้ำก็ส่งผลให้หลายจังหวัดในไทย ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ปากแม่น้ำเหือง อำเภอเชียงคาน ไล่ลงมาถึงจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ จนถึงอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งสิ้น 7 จังหวัด ก็ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน

 

“คำถามที่ตามมาหลังจากนี้คือ ทำไมเราต้องเชือดคอแม่น้ำโขง ทำไมเราต้องทำลายทรัพยากรที่มีค่ามากๆ ด้วยการสร้างเขื่อนดักทางน้ำที่เราไม่สามารถสร้างได้ ซึ่งเรามีหน้าที่อย่างเดียวคือต้องรักษาและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนในแถบลุ่มน้ำโขงใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

 

“ดังนั้นเขื่อนทั้งหลายที่กำลังสร้างหรือที่กำลังจะเกิดขึ้นควรที่จะชะลอโครงการออกไปอย่างน้อย 10 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมถึงศึกษาทางออกของพลังงานว่าหากเราต้องการสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้า เราสามารถหาอะไรมาทดแทนการสร้างเขื่อนได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้เคยมีผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุชัดเจนว่าประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยังมีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งพลังงานหรือการจัดการไฟฟ้าทางเลือกได้อีกมาก โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำให้ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบจนเกิดเป็นวิกฤตแบบนี้” เพียรพรกล่าว

 

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising