เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน เวลา 20.30 น. ณ ห้องแซฟไฟร์ 202 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 11 ร่วมกับ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ภายหลังเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 11 และแสดงความยินดีในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะแห่งญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมกันทบทวนความคืบหน้าของการดำเนินโครงการความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2018 รวมทั้งร่วมกันหารือแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือในอนาคตและประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ เพื่อให้ลุ่มน้ำโขงเป็นอนุภูมิภาคที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
.
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวยินดีที่ปี 2019 ได้ถูกกำหนดให้เป็น ‘ปีแห่งการแลกเปลี่ยนระหว่างลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น 2019’ (Mekong – Japan Exchange Year 2019) เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 10 ปีของกรอบความร่วมมือ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาอนุภูมิภาคมีพัฒนาการเชิงบวกต่างๆ เกิดขึ้น เป็นผลมาจากความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมใหม่ๆ การยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายและ EEC ของไทย ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ากรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเป็นกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคที่ทันสมัยที่สุด
จากการที่ญี่ปุ่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS พล.อ. ประยุทธ์ เชื่อมั่นในศักยภาพและความเชี่ยวชาญของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะสามารถช่วยขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนแม่บท ACMECS ให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
ในช่วงท้าย พล.อ. ประยุทธ์ ขอบคุณอาเบะที่ร่วมเป็นประธานการประชุมครั้งนี้ พร้อมชื่นชมญี่ปุ่นที่แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศลุ่มน้ำโขงในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์