×

การฟื้นฟูเมจิ: การปฏิรูปที่สร้างสมดุลระหว่างกลุ่มผลประโยชน์และคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ

30.12.2021
  • LOADING...
Meiji Restoration

การฟื้นฟูเมจิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปเศรษฐกิจญี่ปุ่น และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจได้อย่างทุกวันนี้ จุดประกายให้เราเห็นว่ากลุ่มอำนาจและคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจสามารถหาดุลยภาพที่ดี หากยอมให้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บทเรียนจากญี่ปุ่นทำให้เรารู้ว่าการปฏิรูปเพื่อ ‘Empower’ คนส่วนใหญ่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปถึงศักยภาพที่สูงกว่า ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและยั่งยืนสำหรับทุกคน

 

หากพูดถึงญี่ปุ่น ผู้อ่านนึกถึงอะไรครับ?

 

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมนึกถึงระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก เป็นเจ้าของความมั่งคั่ง 6.4% ของความมั่งคั่งรวมของโลก มีระดับการศึกษา ทักษะแรงงาน คุณภาพที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยส่วนบุคคล และคุณภาพสิ่งแวดล้อมสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ OECD แม้ประชากรจะมีแนวโน้มลดลง แต่เศรษฐกิจยังสามารถเติบโตไปช้าๆ อย่างมีคุณภาพ

 

ความจริงแล้วสิ่งที่ผมนึกถึงเป็นพิเศษคือ ‘ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ’ แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีขนาดใหญ่มาก แต่สามารถกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจให้คนส่วนใหญ่ได้ดี Global Wealth Report โดย Credit Suisse ประมาณการว่าในปี 2021 ญี่ปุ่นจะมีดัชนี Gini ด้านความมั่งคั่งต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก โดยดัชนีจะมีค่าเพียง 64.4 เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ 88.9 และของกลุ่มประเทศ Asia-Pacific ที่ 88.4 นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นที่มีความมั่งคั่งต่ำที่สุด 10% มีสัดส่วนความมั่งคั่งอยู่ที่ 0.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในโลก ขณะที่คนที่มีความมั่งคั่งสูงที่สุด 10% แรก มีสัดส่วนความมั่งคั่งต่ำที่สุดในโลกที่ 34.3%

 

ในฐานะคนที่ทำงานใกล้ชิดกับบริษัทญี่ปุ่นและไปญี่ปุ่นบ่อย ผมนึกถึงกลุ่มบริษัทใหญ่ที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของญี่ปุ่น บริษัทเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนกลับไปถึงยุคการฟื้นฟูเมจิตั้งแต่ช่วงปี 1868-1889 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปเศรษฐกิจญี่ปุ่น และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจได้อย่างทุกวันนี้

 

ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของ ‘ดุลยภาพที่ดี’ ระหว่างกลุ่มอำนาจและคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ หากเปรียบมูลค่าของเศรษฐกิจเป็น ‘เค้ก’ คนญี่ปุ่นเป็นเจ้าของเค้กที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก ในแง่ของความเท่าเทียม ญี่ปุ่นมีกลไกจัดสรรเค้กให้กลุ่มอำนาจและคนส่วนใหญ่ได้ดี กลุ่มอำนาจของญี่ปุ่นซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลกยินดีแบ่งสรรความมั่งคั่งให้คนส่วนใหญ่ผ่านการจ่ายภาษีรายได้และภาษีมรดกในอัตราที่สูงถึง 45% และ 55% ตามลำดับ

 

ญี่ปุ่นเข้าสู่ดุลยภาพนี้ได้อย่างไร? ผมคิดว่าคำถามนี้มีนัยสำคัญต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย เราจะมาหาคำตอบร่วมกันในบทความฉบับนี้ครับ

 

การเติบโต ความเท่าเทียม และข้อจำกัดจากการรักษาสถานะของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ

ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์การเมือง ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจหมายถึงกลุ่มคนที่มีทุนหรืออำนาจที่สามารถแทรกแซงกลไกการทำงานของตลาดเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจอาจหมายถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานภาครัฐ หรืออาจหมายถึงภาครัฐเอง ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญต่อการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ มีหลายเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ที่กลุ่มอำนาจไม่ยอมให้เกิดการปฏิรูป เพราะกลัวว่าจะสูญเสียสถานะและอิทธิพลในการแทรกแซงนโยบายทางเศรษฐกิจ

 

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ดีขึ้น ในทางเศรษฐศาสตร์ คุณภาพของการจัดสรรทรัพยากรมีสองมิติคือ ‘ประสิทธิภาพ’ และ ‘ความเท่าเทียม’ การจัดสรรที่มีประสิทธิภาพสามารถเปลี่ยนทรัพยากรไปเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มศักยภาพ ขณะที่การจัดสรรอย่างเท่าเทียมจะช่วยกระจายผลประโยชน์ให้คนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

 

เราสามารถอธิบายการจัดสรรทรัพยากรโดยใช้แผนภาพ Possibility Frontier (PPF) (แผนภาพที่ 1) จุดบนแผนภาพบอกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้มีอำนาจ (แกนตั้ง) และคนส่วนใหญ่ (แกนนอน) จากจุดกำเนิดของระบบเศรษฐกิจ (จุด O) บรรพบุรุษของเรารวมตัวกันเป็นสังคม พวกเขาเรียนรู้ที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่าและแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ระบบเศรษฐกิจจึงเคลื่อนตัวจากจุด O ออกไปทางขวาหรือทางด้านบนของแผนภาพ อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจมีทรัพยากรจำกัด จึงได้ผลประโยชน์สูงสุดที่ระดับหนึ่ง โดยเส้น PPF (สีน้ำเงิน) แสดงผลลัพธ์จากการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

แล้วระบบเศรษฐกิจจะกระจายผลประโยชน์อย่างไร? ระหว่างที่เติบโตจากจุด O ระบบเศรษฐกิจหนึ่งอาจแบ่งผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไปให้กลุ่มอำนาจ และเคลื่อนไปด้านบนของแผนภาพ อีกระบบหนึ่งอาจแบ่งผลประโยชน์ไปให้คนส่วนใหญ่และเคลื่อนไปด้านขวาของแผนภาพ หากใช้ทรัพยากรเต็มประสิทธิภาพ เศรษฐกิจทั้งสองระบบจะไปอยู่บนเส้น PPF ทั้งคู่ แต่อยู่คนละตำแหน่ง

 

ในความเป็นจริงมีระบบเศรษฐกิจหลายแห่งที่ไปไม่ถึง PPF เนื่องจาก ‘ข้อจำกัดทางการเมือง’ (Political Constraint) โดย Acemoglu and Robinson (2006) อธิบายว่านอกจากจะมีเส้น PPF แล้ว ระบบเศรษฐกิจยังมีเส้น Political Transformation Frontier (PTF, เส้นสีส้ม) ซึ่งแสดง ‘เส้นทางการเติบโต’ ของระบบเศรษฐกิจภายใต้เงื่อนไขทางการเมือง

 

เส้น PTF แบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกเรียกว่า Golden Eggs Effect ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มอำนาจและคนส่วนใหญ่ร่วมกันสร้างและจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพขึ้น ในช่วงนี้เศรษฐกิจจะเคลื่อนตัวไปทางขวาบน นั่นคือสามารถจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและแบ่งผลประโยชน์อย่างสมดุล ส่งผลให้ผู้มีอำนาจและคนส่วนใหญ่เติบโตไปด้วยกัน

 

แต่เมื่อเติบโตถึงจุดหนึ่ง (T) กลุ่มอำนาจจะกลัวว่าหากปล่อยให้คนส่วนใหญ่เติบโตมากเกินไป อาจกลับมาแย่งชิงทรัพยากรไปจากตน ซึ่งหมายถึงระบบเศรษฐกิจจะเติบโตไปทางขวาล่างในแผนภาพที่ 1 ทำให้กลุ่มอำนาจมีส่วนร่วมในการเติบโตน้อยลงและสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ Acemoglu and Robinson (2006) เรียกช่วงนี้ว่า ‘Political Replacement Effects’ คิดดังนี้ กลุ่มอำนาจจึงจำกัดไม่ให้คนส่วนใหญ่มี ‘โอกาส’ ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือมีส่วนร่วมกับการเติบโต อย่างไรก็ตาม การจำกัดไม่ให้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมกับการเติบโตทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จึง ‘ติดหล่ม’ อยู่ที่จุด T

 

Meiji Restoration

แผนภาพที่ 1 

อ้างอิง: Acemoglu and Robinson (2006) ผู้เขียนปรับแผนภาพเพิ่มเติมตามแนวคิดของ Rodrik (2014)

 

กลุ่มอำนาจและคนส่วนใหญ่ต่างก็เป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ พวกเขาต่างมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปยังเส้น PPF คำถามที่สำคัญคือ เราจะสร้าง ‘ดุลยภาพ’ ทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่กลุ่มอำนาจและคนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกัน โดยไม่จำกัดศักยภาพของเศรษฐกิจได้อย่างไร?

 

ประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นอาจมีคำตอบ

 

‘เมจิอิชิน’ การฟื้นฟูเมจิสู่ดุลยภาพทางเศรษฐกิจแบบญี่ปุ่น

ในช่วงปี 1800s ญี่ปุ่นอยู่ในยุคสมัยเอโดะซึ่งปกครองโดยระบบโชกุนโทกุงาวะ ระบบโชกุนเป็นระบบศักดินาที่ปกครองโดยซามูไร โชกุนปิดประเทศญี่ปุ่นจากโลกภายนอกเพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจ แต่ก็ไม่สามารถปิดได้อย่างสมบูรณ์ ยังมีวิทยาการ แนวคิดและวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก เมื่อผนวกกับโครงสร้างอำนาจที่เข้มงวด จึงส่งผลให้ประชาชนเริ่มต่อต้านระบบศักดินา

 

เมื่อระบบศักดินาอ่อนแอลง ในปี 1868 จักรพรรดิโคมิและกลุ่มพันธมิตรซัตโชจึงลุกขึ้นมาปฏิวัติและรวบอำนาจคืนจากรัฐบาลโชกุน นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนขั้วอำนาจจากโชกุนกลับมาอยู่ที่จักรพรรดิและลดบทบาทของซามูไร ต่อมาเมื่อจักรพรรดิโคมิสวรรคต จักรพรรดิเมจิจึงขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา นับหนึ่ง ‘ยุคสมัยเมจิ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุคทองของญี่ปุ่น

 

ในยุคเมจิ จักรพรรดิและคณะรัฐบาลญี่ปุ่นปฏิรูประบบเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีรากฐานมาจากการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน การทยอยเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และการวางระบบสถาบันทางการเงิน อีกหนึ่งนโยบายสำคัญคือ การปฏิรูประบบการศึกษาในปี 1872 ให้คนส่วนใหญ่มีสิทธิเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งปลดล็อกให้คนญี่ปุ่นคิดค้นวิทยาการและนวัตกรรมซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

 

แม้ไม่ใช่ระบบศักดินาเหมือนยุคเอโดะ แต่ยุคเมจิก็ปกครองโดยกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจและชนชั้นสูง เหตุใดกลุ่มอำนาจจึงยินยอมให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา?

 

Acemoglu and Robinson อธิบายว่าเหตุจูงใจสำคัญของการปฏิรูปคือการล่าอาณานิคมจากประเทศตะวันตก ญี่ปุ่นได้รับแรงกดดันจากตะวันตกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยปลายเอโดะ และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อังกฤษทำสงครามฝิ่น (1839-1842) กับจีน โดยเป็นจีนที่แพ้และเสียเอกราชให้กับอังกฤษ

 

ด้วยความกลัวที่จะสูญเสียสถานะทางเศรษฐกิจและอำนาจในการปกครอง กลุ่มอำนาจจึง ‘สร้างญี่ปุ่นให้เป็นประเทศที่มั่งคั่งและมั่นคง’ ทัดเทียมกับประเทศตะวันตก เป็นที่มาของหลักปฏิรูป ‘ฟูโกกุ เคียวเฮ’ ซึ่งหมายถึงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างกำลังทหารที่เข้มแข็ง กลุ่มอำนาจจึงสร้างคนญี่ปุ่นผ่านการศึกษาและสาธารณะสุข และให้คนญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

 

กลุ่มอำนาจอาจไม่ได้แบ่งอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งหมดมาให้คนส่วนใหญ่ คณะรัฐบาลยังคงกระจายธุรกิจหลักให้กับกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่เรียกว่า ‘กลุ่มไซบัตสึ’ แต่ความพยายามใน ‘การรักษาสถานะ’ ของกลุ่มอำนาจ ‘ไม่ได้ขัดขวาง’ การมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่จนชะลอการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หากย้อนมองประวัติศาสตร์เราจะพบว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมในสหราชอาณาจักร (1800s) และในเยอรมนี (1848) ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

 

จะเห็นได้ว่าผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ได้ขัดขวางการปฏิรูป แต่มองว่าการปฏิรูปเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งจะช่วยรักษาสถานะทางเศรษฐกิจของตนเอาไว้ ผู้มีอำนาจยินยอมให้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการสร้าง ‘เค้กก้อนที่ใหญ่กว่า’ แทนที่จะแย่งชิงก้อนเค้กที่มีขนาดเท่าเดิม ผลลัพธ์คือญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นระบบเศรษฐกิจชั้นนำของโลก นับเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนกับผู้มีอำนาจอย่างคุ้มค่า

 

เงื่อนไขในการสร้าง ‘เค้กก้อนที่ใหญ่กว่า’

Rodrik (2014) อธิบายการฟื้นฟูเมจิผ่านแผนภาพ PPF/PTF ว่า การที่กลุ่มอำนาจยอมให้เกิดการปฏิรูป เพราะ ‘เข้าใจ’ ว่าการยอมสละผลประโยชน์ในระยะสั้นเพื่อกระจายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจให้คนส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าและยั่งยืนกว่าในระยะยาว นอกจากนี้ กลุ่มอำนาจยังตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับตัวตามภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป จากแผนภาพที่ 1 การที่กลุ่มอำนาจยอมให้เกิดการปฏิรูปเปรียบได้กับการขยับเส้น PTF ขึ้นไปทางขวาบน (จากเส้นสีส้มไปเป็นเส้นสีเขียวอ่อนและสีเขียวเข้ม) ซึ่งเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจเคลื่อนขึ้นไปยังตำแหน่งที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าขึ้นและกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงในเวลาเดียวกัน

 

แนวคิดนี้มีนัยสำคัญต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย เราสามารถขับเคลื่อนให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ หากเรายอมรับ ‘ผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่า’ จากการปฏิรูป และตระหนักว่า ‘เงื่อนไขในการแสวงหาผลประโยชน์’ ได้เปลี่ยนไปแล้วตามบริบททางเศรษฐกิจและสังคม

 

กลุ่มอำนาจจะเสียอะไรไปบ้างหากขัดขวางการปฏิรูป? หากไม่ยอมให้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ พวกเขาย่อมไม่มีแรงจูงใจที่จะทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง เพิ่มทักษะหรือคิดนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยขาดศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มของตนเอง เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่า พวกเขาขาดรายได้ และเข้าไม่ถึงโอกาสในการสะสมความมั่งคั่ง สุดท้ายพวกเขาจะขาดกำลังซื้อและเปราะบางต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากความถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงที่ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดในไทย

 

เราต้องไม่ลืมว่าคนส่วนใหญ่เป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต แรงงาน และผู้คิดนวัตกรรม ระบบเศรษฐกิจจะเติบโตได้อย่างไร หาก ‘คนส่วนใหญ่’ ไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีทักษะ ไม่มีแรงจูงใจที่จะผลิต และไม่มีนวัตกรรม สุดท้ายคนในระบบเศรษฐกิจย่อมไม่มีทางเลือกนอกจากจะ ‘เล่นเกมธุรกิจ’ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งจาก ‘เค้กที่เหลืออยู่’ เกมนี้เป็น Zero-Sum Game ที่จะนำพวกเราไปสู่ดุลยภาพที่แย่

 

การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม-การเติบโตแห่งอนาคต

ในความเป็นจริงแล้ว ‘การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม’ (Inclusive Growth) เป็นทั้งกลยุทธ์เชิงนโยบายที่ประเทศพัฒนาแล้วกำลังให้ความสนใจ และเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่บริษัทชั้นนำทั่วโลกกำลังใช้

 

ทำไมต้องเติบโตอย่างมีส่วนร่วม? เนื่องจากภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนรูปแบบจาก Financial Capitalism และ Industrial Capitalism ที่มีกลุ่มทุนและสถาบันการเงินเป็นศูนย์กลาง ไปเป็น Consumer Capitalism ที่มีผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง คนส่วนใหญ่จึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น คนที่จะมีบทบาทมากขึ้นคือผู้ที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางรายได้น้อย (ชั้นที่ 2 และ 3 ในแผนภาพที่สอง) คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนมากที่สุดในพีระมิด คนกลุ่มนี้ยังสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่และมีกำลังซื้อซ่อนอยู่จำนวนมาก จึงจะมีบทบาทอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งในฐานะผู้บริโภคและแรงงาน

 

Meiji Restoration

แผนภาพที่ 2

อ้างอิง: Accenture (2019)

 

ภายใต้สภาพแวดล้อมดังกล่าว ธุรกิจชั้นนำของโลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับการสร้าง ‘ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่ในระดับเศรษฐกิจ ทั้งในฐานะผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าและบริการ ธุรกิจที่เติบโตอย่างโดดเด่น อาทิ Amazon, Rakuten และ Apple ใช้กลยุทธ์การสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์ม และการมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่เป็นโมเดลธุรกิจหลัก คนส่วนใหญ่มีบทบาททั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และกำลังแรงงาน สร้างและส่งต่อมูลค่าเพิ่มระหว่างกัน ธุรกิจเหล่านี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดทุน และได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล นอกจากนี้ Accenture (2019) พบว่าบริษัทใหญ่ใช้โมเดลธุรกิจแบบแพลตฟอร์มเพื่อเข้าถึงกำลังซื้อของผู้มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางน้อย เช่น การให้บริการระบบสารสนเทศและข้อมูล (Samsung, Xiaomi, Huawei) สินเชื่อและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (M-Pesa) เป็นต้น

 

บทสรุป 

Economic change often happens, not when vested interests are defeated, but when different strategies are used to pursue those interests.

– Dani Rodrik, Harvard University

 

​การฟื้นฟูเมจิจุดประกายให้เราเห็นว่ากลุ่มอำนาจและคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจสามารถหาดุลยภาพที่ดี หากยอมให้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บทเรียนจากญี่ปุ่นทำให้เรารู้ว่าการปฏิรูปเพื่อ ‘Empower’ คนส่วนใหญ่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปถึงศักยภาพที่สูงกว่า ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและยั่งยืนสำหรับทุกคน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising