หนึ่งเหตุการณ์ที่ทั่วโลกเฝ้าจับตามองที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อคืนวานนี้ (19 พ.ค.) คือวันประกอบพิธีเสกสมรสของเจ้าชายแฮร์รีแห่งเวลส์ รัชทายาทลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์อังกฤษ กับเมแกน มาร์เคิล พระคู่หมั้น แต่สิ่งที่มากกว่างานเสกสมรสของราชวงศ์ระดับโลกที่ทุกคนต่างให้ความสนใจคือ งานสำคัญระดับนี้ยังให้มุมมองอะไรแก่พวกเราอีกบ้าง?
เมแกน มาร์เคิลและแม่ของเธอ
Photo: ABC News
สิ่งแรกที่เราพอนึกภาพออกคือการลบเลือนรูปแบบของการเป็น ‘เจ้าหญิง’ แบบประเพณีนิยม เพราะเมแกนเองก็เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เป็นลูกครึ่งอเมริกัน ผ่านการหย่าร้างมาก่อน อายุมากกว่าคู่หมั้นของตัวเอง และเคยเป็นนักแสดง หากมองในภาพของความคอนเซอเวทีฟแบบไทยๆ ก็คงคิดว่าผู้หญิงคนนี้เต้นกินรำกินมาก่อน และที่หนักไปอีกคือการที่เธอเป็นแม่หม้าย เคยหย่าร้างมาแล้ว ฉะนั้นการที่เมแกนขึ้นมายืนในจุดนี้ได้ จึงเป็นภาพของผู้หญิงสามัญธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่เคยปฏิเสธอดีตของตน เช่นการที่เธอพาคุณแม่ของเธอไปร่วมชมเกมแข่งขัน Invictus Game (การแข่งขันกีฬาของคนพิการ) เพื่อพยายามจะบอกทุกๆ คนอย่างชัดเจนผ่านการที่เธอให้แม่ของเธอยืนอยู่ข้างกายเสมอว่า เธอเป็นผู้หญิงผิวสีคนหนึ่งที่มีแม่เป็นผู้หญิงผิวสีและถักเดรดล็อก ถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอกที่คนอื่นตัดสินเธอจะบอกว่าเธอไม่ได้ ‘ผิวสี’ ขนาดนั้น ซึ่งสิ่งนี้เองเป็นปัญหาของเมแกนมาตลอด และเธอเองก็เคยเขียนบทความลงในนิตยสาร ELLE ในปี 2005 เกี่ยวกับเรื่องที่เธอต้องเผชิญกับการถูกเหยียดผิว และการที่เธอถูกเข้าใจว่ามีพ่อผิวขาวและแม่ผิวสีมาตั้งแต่อยู่เกรด 7 “ฉันเคยถูกคุณครูที่โรงเรียนบอกให้ฉันกากบาทลงในช่อง ‘Caucasian’ เพียงเพราะว่าฉัน ‘ดูเหมือน’ คนขาว สุดท้ายฉันก็ปล่อยช่องนั้นว่างไว้ ไม่ตอบคำถาม และฉันก็รู้สึกไม่เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น”
หรือบางความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องสีผิว เช่นกรณีของ จัสมิน กิลลอรี (Jasmine Guillory) นักเขียนเจ้าของผลงาน ‘The Wedding Date’ ที่เธอรู้สึกปลาบปลื้มยินดีกับเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนมาตั้งแต่ประกาศหมั้นหมายกันเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว กิลลอรีให้ความคิดเห็นว่า งานเสกสมรสในครั้งนี้จะเป็นเสมือนแสงสว่างที่กำลังเจิดจ้าขึ้นปลายอุโมงค์ ในมุมมองของการที่ราชวงศ์สามารถมีสมาชิกเป็นคนธรรมดาสักคน ทั้งยังผิวสี “หากคุณติดตามข่าวของโลกทุกวันนี้ มองมันด้วยสายตาแบบผู้หญิงผิวสีในอเมริกา คุณจะรู้สึกหดหู่ท้อแท้ไปหมด แต่สำหรับงานแต่งงานครั้งนี้จะมีอะไรให้ชื่นชมไปกว่าการที่ผู้หญิงซึ่งไม่ใช่คนผิวขาวจะมีความสุขได้บ้าง” กิลลอรีกล่าว
ภาพของเจ้าหญิงไดอานาในชุดแต่งงาน
Photo: E!
หนึ่งเหตุผลที่ผู้คนต่างให้ความสนใจกับงานเสกสมรสของราชวงศ์อังกฤษอย่างมากนั่นก็เพราะ ‘ราชวงศ์อังกฤษนั้นพิเศษและค่อนข้างเอิกเกริก’ จากคำพูดของ เซเล ออตเนสต์ (Cele Otnes) ศาสตราจารย์ด้านการบริหารธุรกิจจาก University of Illinois Urbana-Champaign ได้ให้ความเห็นย้อนกลับไปถึงตอนงานเสกสมรสของเจ้าหญิงไดอานาและเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในปี ค.ศ. 1981 เขาบอกว่างานเสกสมรสของราชวงศ์อังกฤษกลายเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมงานแต่งงานต้องจับตามอง คุณลองกลับไปนึกถึง ‘เมอแรงก์’ ชุดแต่งงานสีขาวฟูฟ่องของเจ้าหญิงไดอานาดูสิว่ามันมีอิทธิพลกับงานแต่งงานในยุคหลังขนาดไหน เพราะมันกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสวยงาม เป็นภาพแทนของการเป็นเจ้าหญิง และแน่นอนว่าชุดแต่งงานสีขาวฟูฟ่องนั้นจึงกลายเป็นสิ่งคลาสสิกที่สาวๆ ต่างฝันถึง หรือตัวอย่างความเอิกเกริกในงานเสกสมรสของ เคท มิดเดิลตัน และเจ้าชายวิลเลียม-ชาร์ลส์ เมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา มีอเมริกันชนติดตามชมงานถ่ายทอดสดมากกว่า 22 ล้านคนใน 18.6 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากอย่างน่าแปลกใจ
เมแกนและเด็กๆ ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศรวันดา
Photo: Her Hudson Bay
นอกเหนือจากการเป็นงานเสกสมรสที่ผู้คนทั่วโลกต่างพร้อมกันแสดงความยินดีกับคู่รักคู่นี้ เหตุการณ์นี้ก็เหมือนกับการส่องสปอตไลต์ดวงโตให้กับตัวเจ้าของงานเองทั้งในฐานะเจ้าของงานแต่ง และในฐานะทางการเมือง ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการดึงดูดความสนใจจากสื่อทั่วโลกให้จดจ้องไปยังสหราชอาณาจักร ดังเช่นการที่เมแกนถูกให้ความสนใจในสถานะอื่นๆ นอกเหนือจากการเป็นเจ้าหญิงคนใหม่ของราชวงศ์อังกฤษ นั่นคือการที่สื่อและสาธารณชนได้รับรู้ถึงการดำเนินงานเรื่องชุมชนและผู้ด้อยโอกาสของเธอ สิ่งนี้จะต่อยอดภาพลักษณ์ของเธอต่อไปในอนาคตหลังจากที่เธอก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งเจ้าหญิงอย่างสมบูรณ์
อ้างอิง: