เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ภัยพิบัติที่เกิดในที่เปลี่ยวร้างไร้ผู้คนนั้น ไม่นับว่าเป็นภัยพิบัติ และไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยกับคำพูดนี้หรือไม่ เมื่อเดือนกันยายน 2023 หรือก็คือครบรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เคยมีคลื่นสึนามิที่มีความสูงของยอดคลื่นสูงถึง 200 เมตร เกิดขึ้นมาจริงๆ บนโลกใบนี้ โดยไม่มีใครทราบเรื่องขณะเกิดเหตุเลย
ปกติแล้วคลื่นสึนามิจะเกิดจากการแทนที่น้ำทะเลปริมาณมากตามแนวตั้ง เช่น การดีดตัวของแผ่นดินไหวมุมย้อนชนิดตื้น (Shallow angle thrust faults) ตามแนวมุดตัวของเปลือกโลก ซึ่งจะสร้างคลื่นไหวสะเทือนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะให้เราตรวจจับได้ล่วงหน้า ทำให้เรารู้ตัวว่ากำลังจะเกิดสึนามิ
แต่เหตุการณ์ในวันที่ 16 กันยายนปีที่แล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น วันนั้นไม่มีแผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาดใหญ่ในระดับที่จะก่อให้เกิดสึนามิได้ แต่เครื่องมือของนักแผ่นดินไหววิทยาทั่วโลกกลับได้รับสัญญาณไหวสะเทือนแปลกๆ และที่สำคัญสัญญาณดังกล่าวเกิดอยู่นานถึง 9 วัน
ทีมงานจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน นำโดย คริสเตียน สเวนเนวิก และ สตีเฟน ฮิกส์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในครั้งแรกพวกเขาคิดว่าเป็นความบกพร่องของเครื่องมือ แต่เมื่อสังเกตไปสักพักก็พบว่าคาบของคลื่นค่อนข้างคงที่ จึงช่วยกันตรวจสอบสัญญาณโดยละเอียดจนพบว่ามีต้นทางมาจากทางตะวันออกของกรีนแลนด์ แต่ยังระบุจุดกำเนิดที่ชัดเจนไม่ได้
ทีมงานจึงติดต่อไปยังเพื่อนนักแผ่นดินไหววิทยาในเดนมาร์กเพื่อยืนยันเรื่องราวนี้ ก็ได้รับคำตอบว่าตรวจพบสัญญาณนี้เช่นเดียวกัน และยังสามารถระบุได้ด้วยว่ามีศูนย์กลางอยู่บริเวณหน้าผาที่เรียกว่า ‘ฟยอร์ดดิกสัน’
นับจากนั้นทีมงานจึงขอความร่วมมือไปยังนักแผ่นดินไหววิทยา 68 คนจาก 15 ประเทศให้เข้ามาร่วมติดตามเรื่องนี้ โดยใช้เครื่องมือและวิธีการต่างๆ เช่น ชุดข้อมูลสำรวจแผ่นดินไหวจากทั้งดาวเทียมและภาคพื้นดิน รวมถึงการทำแบบจำลองคลื่นสึนามิ เพื่อไขปริศนาคลื่นสัญญาณลึกลับโดยใช้เวลาหาคำตอบนี้นานเกือบปี
ภาพซ้ายคือหน้าผาก่อนถล่ม ถ่ายเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2023 ภาพขวาคือหลังถล่ม ถ่ายเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2023
ในที่สุดทีมงานก็เปิดเผยผลการศึกษาผ่านทางงานวิจัยที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับลงวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมาว่า สัญญาณไหวสะเทือนนาน 9 วันดังกล่าว เริ่มต้นจากการละลายของธารน้ำแข็ง จนทำให้หน้าผาหินขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรถึง 25 ล้านลูกบาศก์เมตรถล่มลงในฟยอร์ดแคบๆ จนเกิดคลื่นสึนามิสูงถึง 200 เมตร คลื่นนี้ซัดกลับไปกลับมาทุกๆ 90 วินาที นานถึง 1 สัปดาห์
ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘เซช’ (Seiche) หมายถึงการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะของคลื่นในพื้นที่ปิด คล้ายกับน้ำในอ่างที่โยกไปมาเมื่อเราจับอ่างเอียงซ้ายทีขวาที ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกในโลกที่ค้นพบ ‘เซช’ ที่เกิดยาวนานถึง 9 วัน
แม้สึนามิรอบนี้จะไม่มีใครบาดเจ็บล้มตาย แต่นี่คือสิ่งที่ธรรมชาติกำลังเตือนเรา คริสเตียน สเวนเนวิก ฝากข้อคิดว่า “ปัญหาวิกฤตโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายอย่างรวดเร็ว พื้นที่บริเวณนี้มีภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นเร็วกว่าบริเวณอื่นของโลกถึง 4 เท่า และในวันหนึ่งข้างหน้า การถล่มของหน้าผาก็อาจเกิดบ่อยขึ้น” และแน่นอนว่าหากการถล่มของหน้าผาไปเกิดในด้านที่หันออกสู่ทะเลเปิด ก็จะก่อให้เกิดสึนามิที่ร้ายแรงและอันตรายต่อผู้คนขึ้นมาได้
ทีมงานตีพิมพ์ผลงานศึกษาครั้งนี้ลงในวารสาร https://www.science.org/doi/10.1126/science.adm9247
อ้างอิง: