×

จับตาหุ้น…โหนกระแสการลงทุนใน Mega Trend หลังโควิด-19

02.12.2020
  • LOADING...
Mega Trend

หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า Mega Trend ซึ่งหมายถึงสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นแล้วมีผลกระทบส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของมนุษย์ให้เป็นไปตามแรงขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะจบหรือสิ้นสุดลงในเวลาสั้นๆ แต่จะต้องใช้เวลานานพอสมควร

ในส่วนของการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นให้ได้ผลตอบแทนที่ดีตามคาดนั้น เป็นที่รู้กันว่าควรจะเป็นการลงทุนในระยะยาวด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและประมาณการความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคตแล้วจึงคัดเลือกลงทุนในหุ้นนั้นๆ แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เรื่อยมาจนถึงบัดนี้ได้สร้างความเสียหายต่อธุรกิจต่างๆ อย่างมากมายเป็นวงกว้าง มีหลายกิจการที่ต้องปิดตัวไป รวมไปถึงวิถีการใช้ชีวิตและแนวคิดของผู้คนก็ได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก

ดังนั้นปัจจัยพื้นฐานและประมาณการที่เราเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าจึงอาจจะไม่เหมาะสม ต้องประเมินกันใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยความท้าทายสำหรับนักลงทุนทุกคนก็คือโลกปกติแบบใหม่ (New Normal) หลังโควิด-19 นั้นจะเป็นอย่างไร และจะเป็นผู้อยู่รอดและสามารถเติบโตได้ดีบนโลกแบบใหม่นี้กันอย่างไร จากสถานการณ์ต่างๆ ทำให้พอจะเห็นแนวทางของ Mega Trend ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งพอยกเป็นตัวอย่างอุตสาหกรรมได้ดังนี้ 

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เกิดพฤติกรรมและความต้องการแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในช่วงสภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่

1. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการป้องกันโรค (Medical Tourism and Wellness) ซึ่งน่าจะมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากโรคระบาดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษานั้นทำให้ผู้คนจำเป็นต้องหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเชิงการป้องกัน ดังนั้นจึงเกิดความต้องการที่จะท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการป้องกันโรคแบบบูรณาการมากขึ้น นอกเหนือจากการเดินทางเพื่อการรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะส่งผลให้การดูแลสุขภาพ การผ่อนคลาย สปา กีฬา และนันทนาการต่างๆ อาหารเพื่อสุขภาพ ไลฟ์โค้ช หรือการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพคาดว่าน่าจะได้รับความนิยมอย่างสูงและต่อเนื่อง

2. การท่องเที่ยวแบบที่ทำงานที่เที่ยวที่เดียวกัน (Staycation) หมายถึงการท่องเที่ยวอยู่ในละแวกบ้านหรือในจังหวัดที่เราอยู่นั่นเอง เดิมทีนั้น Staycation ไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่คนไทยมากนัก เพราะก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้อย่างสบายใจ จนเมื่อเกิดโรคระบาดนี้ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ตามที่ต้องการ จึงหันมาเปลี่ยนบรรยากาศ มองหาสิ่งแปลกตาและพักผ่อนโดยการไปเที่ยวใกล้ๆ บ้านแทน ซึ่งจัดเป็นการท่องเที่ยวที่ประหยัดกว่าการท่องเที่ยวแบบปกติมาก และยังสามารถช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและกระจายรายได้ออกไป ซึ่งคาดว่าแนวโน้ม Staycation นี้จะได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากสามารถให้ประสบการณ์แปลกใหม่ได้ด้วยความสะดวกและประหยัด ใช้เวลาสั้นๆ ไม่ต้องวางแผนมากนัก

ส่วนของผู้ประกอบการนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลลบที่รุนแรงมาก จึงคาดว่าจะเห็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของอุปทานในส่วนนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมรายเล็กๆ จำนวนมากที่ฐานะการเงินไม่แข็งแรงพอที่จะทนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ก็อาจจะต้องปิดตัวไป นอกจากนี้คาดว่าจะเห็นการซื้อและควบรวมกิจการ และด้วยจำนวนผู้เล่นที่ลดลงจะทำให้ผู้ที่อยู่รอดมาได้ทวีความมั่นคงแข็งแรงขึ้นได้หลังจากที่ภาวะการท่องเที่ยวกลับคืนมาเป็นปกติ

อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเวลานี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักคำว่า Work from Home ซึ่งเป็นพฤติกรรมรูปแบบใหม่ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้ เริ่มจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บีบบังคับให้เราต้องปรับที่อยู่อาศัยให้กลายเป็นสถานที่ทำงาน จนมาถึงปัจจุบันพบว่าในหลายๆ ธุรกิจสามารถให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ ดังนั้นจากนี้ไปที่อยู่อาศัยจะต้องคำนึงถึงการจัดสรรพื้นที่ที่ตอบโจทย์ของการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยในแนวราบหรืออาคารชุดก็จะต้องจัดให้มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น หรือเป็นพื้นที่ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ (Multi-function) เพื่อรองรับการใช้ชีวิตแบบการทำงานที่บ้านได้

อุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมนี้ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ เนื่องจากเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างชัดเจน โดยในช่วงที่เกิดโควิด-19 มีการแพร่ระบาดและประเทศไทยเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์นั้น การที่ผู้คนต้อง Work from Home ไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้ดังที่เคยเป็นมา แต่เรายังต้องซื้ออาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับการดำรงชีวิตกันอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดีให้ผู้ประกอบการต่างก็ตื่นตัวขึ้นมาเร่งประกอบธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้นเพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าทดแทนการออกไปซื้อหาด้วยตนเองได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการด้านการขนส่งสินค้าตามมา (Delivery Service) อีกทั้งมีการใช้กลยุทธ์ O2O ที่เชื่อมต่อ Online และ Offline ซึ่งเป็นการผสมจุดแข็งทั้งสองช่องทางเข้าด้วยกัน โดยจุดแข็งของตัวร้านค้าคือการมีสินค้าไว้ให้ลูกค้าได้เห็น สามารถทดลองใช้ ทดลองสัมผัส ในขณะที่การตัดสินใจซื้อและชำระเงินสามารถกระทำผ่านออนไลน์ได้ นอกจากจะเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถเก็บข้อมูลและพฤติกรรมของลูกค้าที่ใช้งานไว้เพื่อประโยชน์ในปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยทั้งหมดนี้ล้วนเป็น New Normal ในการดำเนินธุรกิจค้าปลีกในยุคจากนี้ไปทั้งสิ้น   

จากภาพรวม Mega Trend ของทั้ง 3 อุตสาหกรรมที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คาดว่าแม้โรคระบาดโควิด-19 จะหายไป แต่ Mega Trend เหล่านี้ยังคงอยู่จนกลายเป็น New Normal ไปในที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising