×

กทม. ประชุมเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน ห่วงขยะในคลองกีดขวางการระบายน้ำ

โดย THE STANDARD TEAM
11.06.2020
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (10 มิถุนายน) ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี ขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร, ณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย ผู้บริหารสำนักงานเขต 50 เขต และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องชีนิมิตร ชั้น 6 สำนักการระบายน้ำ กทม. 2 เขตดินแดง

 

ในที่ประชุมสำนักการระบายน้ำรายงานการคาดหมายฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2563 ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ฤดูฝนปีนี้ของประเทศไทยเริ่มต้นวันที่ 18 พฤษภาคม สิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม โดยในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนมิถุนายน ฝนตก 40-60% ของพื้นที่ กับมีฝนหนักหลายพื้นที่ ช่วงปลายเดือน มิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนลดลง ช่วงกลางเดือนกรกฎคมถึงกันยายน ฝนตก 60-80% ของพื้นที่ส่วนใหญ่กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ในเดือนตุลาคม ปริมาณฝนจะลดลงและเริ่มมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า และคาดว่าพายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 1-2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน จึงต้องเฝ้าระวังฝนตกชุกหนาแน่น น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในช่วงเวลาดังกล่าว 

 

สำหรับลักษณะอากาศช่วงวันที่ 9-10 มิถุนายน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ด้านตะวันตกของประเทศไทย ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยจะมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง  

 

ส่วนช่วงวันที่ 11-15 มิถุนายน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังอ่อนลง 

 

สำหรับการเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาปัญหาน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตได้ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ รวม 6,464 กิโลเมตร ขุดลอกและจัดเก็บผักตบชวาในคูคลอง ลำราง ลำกระโดง รวม 1,984 คลอง ซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำ เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ชนิดไฟฟ้าและเครื่องยนต์ดีเซล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่เฝ้าระวัง จัดเตรียมหน่วย BEST จำนวน 108 หน่วย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 700 คน จัดเตรียมอุปกรณ์กรณีฉุกเฉิน อาทิ กระสอบทรายและรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และติดตั้งเรือผลักดันน้ำ จำนวน 29 ลำ

 

อย่างไรก็ตาม หากมีฝนตกในปริมาณมาก ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำท่วมขังบนผิวจราจรในบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง หรือจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง กรุงเทพมหานครจะจัดเจ้าหน้าที่หน่วยเบสของสำนักการระบายน้ำ และของสำนักงานเขตพื้นที่เข้าเร่งระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังจำนวน 14 จุด ในพื้นที่ 9 เขต ประกอบด้วย 1. ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงจากคลองประปาถึงคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ 2. ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ เขตจตุจักร 3. ถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าตลาดอมรพันธุ์และแยกเกษตร เขตจตุจักร 4. ถนนประชาราษฎร์สาย 2 บริเวณแยกเตาปูน เขตบางซื่อ 5. ถนนราชวิถี บริเวณหน้าราชภัฏสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธน เขตดุสิต 6. ถนนพญาไท บริเวณหน้ากรมปศุสัตว์ เขตราชเทวี 7. ถนนศรีอยุธยา บริเวณหน้า สน.พญาไท เขตราชเทวี 8. ถนนจันทร์ ช่วงจากซอยบำเพ็ญกุศลถึงที่ทำการไปรษณีย์ยานนาวา เขตสาทร 9. ถนนสวนพลู ช่วงจากถนนสาทรใต้ถึงถนนนางลิ้นจี่ เขตสาทร 10. ถนนสาธุประดิษฐ์ บริเวณแยกถนนจันทร์ เขตสาทร 11. ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงจากคลองสามวาถึงคลองแสนแสบ เขตมีนบุรี 12. ถนนเพชรเกษม ช่วงจากคลองทวีวัฒนาถึงคลองราชมนตรี เขตบางแค 13. ชอยหมู่บ้านเศรษฐกิจ จากถนนเพชรเกษมถึงวงเวียนกาญจนา เขตบางแค และ 14. ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ช่วงจากถนนพระรามที่ 2 ถึงคลองสะแกงาม เขตบางขุนเทียน 

 

ส่วนจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง จำนวน 56 จุด ในพื้นที่ 26 เขต ประกอบด้วย 1. ถนนงามวงศ์วาน ปากซอยชินเขต (บริเวณหน้าตลาดพงษ์เพชร) เขตหลักสี่ 2. ถนนเทศบาลสงเคราะห์ จากคลองประปาถึงคลองเปรมประชากร 3. ถนนกำแพงเพชร บริเวณแยกถนนกำแพงเพชร 1 4. ถนนกำแพงเพชร 2 บริเวณช่วงหน้าหมอชิต 5. ถนนกำแพงเพชร 3 ช่วงจากสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ถึงถนนกำแพงเพชร 6. ถนนงามวงศ์วาน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ 7. ถนนพหลโยริน บริเวณกรมการขนส่งทางบก 8. ถนนรัชดาภิเษก จากแยกรัชโยธินถึงซอยอาภาภิรมย์ เขตจตุจักร 9. ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณวงเวียนหลักสี่ หน้า สน.บางเขน เขตบางเขน 10. ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เขตบางเขน 11. ถนนนครไชยศรี บริเวณหน้าตลาดศรีย่าน เขตดุสิต 12. ถนนศรีอยุธยา บริเวณหน้าพระราชวังดุสิต เขตดุสิต 13. ถนนเพชรบุรี ช่วงจากแยกอโศกถึงแยกมิตรสัมพันธ์ เขตราชเทวี 14. ถนนนิคมมักกะสัน จากถนนราชปรารภถึงซอยจารุรัตน์ เขตราชเทวี 15. ถนนพระราม 6 จากหน้าตลาดประแจจีนถึงแยกศรีอยุธยา เขตราชเทวี 16. ถนนราชปรารภ ช่วงประตูน้ำถึงแยกดินแดง เขตราชเทวี 17. ถนนศรีอยุธยา จากหน้าวังสวนผักกาดถึงแยกพญาไท เขตราชเทวี 18. ถนนประดิพัทธ์ บริเวณแยกสะพานควาย เขตพญาไท 19. ถนนพหลโยธิน ช่วงจากคลองสามเสนถึงคลองบางชื่อ เขตพญาไท 20. ถนนพระราม 6 บริเวณช่วงทางด่วน เขตพญาไท 21. ถนนสุทธิสารวินิจฉัย (ตลอดสาย) เขตพญาไท 22. ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงจากแยกสุทธิสารถึงคลองบางชื่อ เขตพญาไท 23. ถนนเจริญกรุง ช่วงจากถนนแปลงนามถึงแยกหมอมี เขตสัม พันธวงศ์ 24. ถนนเยาวราชฝั่งเหนือ ช่วงจากถนนทรงสวัสดิ์ถึงถนนราชวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ 25. ถนนดินแดง ช่วงชอยสุทธิพร 2 และแยกประชาสงเคราะห์ 26. ถนนประชาสงเคราะห์ จากวงเวียนหอนาฬิกาถึงถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตดินแดง 27. ถนนประชาสุขตลอดสาย เขตดินแดง 28. ถนนรัชดาภิเษก จากแยกพระราม 9 ถึงแยกห้วยขวาง เขตดินแดง 29. ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เขตดินแดง 30. ถนนสนามไชย ช่วงจากซอยเศรษฐการถึง ถนนท้ายวัง และรอบสนามหลวง เขตพระนคร 31. ถนนลาดพร้าว ช่วงจากแยกประดิษฐ์มนูธรรมถึงคลองจั่น เขตวังทองหลาง 32. ถนนเพชรบุรี ช่วงแยกอโศกถึงคลองบางกะปิ เขตห้วยขวาง 33. ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงจากหน้าการไฟฟ้ามีนบุรีถึงแยกราษฎร์อุทิศ เขตมีนบุรี 34. ถนนรามคำแหง ช่วงหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง เขตบางกะปิ 35. ถนนศรีนครินทร์ จากแยกลำสาลี-ถนนกรุงเทพกรีทา เขตบางกะปิ 36. ถนนกรุงเทพกรีทา จากถนนศรีนครินทร์ถึงคลองทับช้างล่าง เขตสะพานสูง 37. ถนนเซนต์หลุยส์ 3 บริเวณแยกถนนจันทน์ เขตสาธร 38. ถนนนางลิ้นจี่ บริเวณแยกตัดถนนจันทน์ เขตสาธร 39. ถนนพระราม 3 บริเวณตลาดฮ่องกงปีนังถึงแยก ณ ระนอง เขตคลองเตย 40. ถนนพระราม 4 ช่วงจากแยกสุขุมวิทถึงแยกถนนเกษมราษฎร์ เขตคลองเตย 41. ถนนสุนทรโกษา ช่วงจากแยกสุนทรโกษาถึงหน้ากรมศุลกากร เขตคลองเตย 42. ถนนศรีนครินทร์ บริเวณหน้าวัดศรีเอี่ยม เขตบางนา 43. ถนนสุขุมวิท ช่วงจากแยกบางนาถึงสุดเขต กทม. เขตบางนา 44. ถนนสุขุมวิท ช่วงจากแยกอโศกถึงสุขุมวิท เขตวัฒนา 71 45. ถนนเอกมัย ช่วงจากปากซอยสุขุมวิท 63 ถึงคลองแสนแสบ เขตวัฒนา 46. ถนนอโศกมนตรี บริเวณหน้าตึกแกรมมี่ เขตวัฒนา 47. ถนนพัฒนาการ ช่วงจากแยกศรีนครินทร์ถึงคลองบ้านป่า เขตสวนหลวง 48. ถนนรามคำแหง ช่วงซอย 1 ถึงซอย 5 เขตสวนหลวง 49. ถนนลาดหญ้า ช่วงจากวงเวียน ใหญ่ถึงหน้าโรบินสัน เขตคลองสาน 50. ถนนจอมทอง บริเวณแยกวุฒากาศ เขตจอมทอง 51. ถนนฉิมพลี ช่วงจากอู่สง่าถึงถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน 52. ถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ฝั่งขาออก บริเวณวงเวียนชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน 53. ถนนอิสรภาพ ช่วงจากตลาดพรานนกถึงคลองมอญ เขตบางกอกน้อย 54. ถนนประชาอุทิศ ช่วงจากคลองรางตรงถึงคลองรางจาก เขตทุ่งครุ 55. ถนนเอกชัย บริเวณปากซอยเอกชัย 56 (หน้าบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง) เขตบางบอน และ 56. ถนนเพชรเกษม ช่วงจากหน้าตลาดบางแคถึงคลองบางหว้า เขตภาษีเจริญ 

 

โดยจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังจำนวน 14 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขังจำนวน 56 จุดดังกล่าว มีสาเหตุจากเป็นพื้นที่ต่ำเป็นแอ่งกระทะ ระบบท่อระบายน้ำเดิมมีขนาดเล็ก อยู่ไกลจากคลองระบายน้ำ พื้นที่รับน้ำน้อยลง ประกอบกับมีการสูบน้ำจากหน่วยงานและอาคารข้างเคียงลงท่อระบายน้ำขณะฝนตก และมีสาธารณูปโภคกีดขวางทางน้ำ เป็นต้น ซึ่งสำนักการระบายน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณดังกล่าว อาทิ เสริมยกผิวจราจร เพิ่มช่องรับน้ำ รางระบายน้ำ ก่อสร้างท่อลำเลียงน้ำขนาดใหญ่ เพิ่มกำลังเครื่องสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ล้างท่อระบายน้ำและเปิดทางน้ำไหล เป็นต้น

 

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการคาดการณ์ฤดูฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาปีนี้ คาดว่าพายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 1-2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือเดือนกันยายน ดังนั้นเพื่อเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตร่วมประชุมเพื่อหารือและซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติงาน โดยมอบหมายสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตสำรวจและจัดหา จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงาน และให้สำนักงานเขตสำรวจคูคลอง รวมทั้งจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขังในพื้นที่ของตนว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากที่สำนักการระบายน้ำรายงานหรือไม่ หากจำนวนเปลี่ยนแปลงจะได้กำหนดแนวทางสำหรับการดำเนินงานต่อไป ส่วนผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคที่กีดขวางระบบระบายน้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการ อาทิ กรมทางหลวง, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้านครหลวง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อเปิดทางน้ำไหล

 

อีกเรื่องที่เป็นห่วงคือ ปัญหาขยะในคูคลอง ได้มอบหมายสำนักการระบายน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเก็บขยะในคลองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้จัดเก็บขยะที่อยู่บนตลิ่ง ซึ่งอาจไหลลงคลองเมื่อฝนตก หรืออาจร่วงหล่นลงคลองเนื่องจากลม และจะส่งผลให้เกิดปัญหาการระบายน้ำ หรือกีดขวางการระบายน้ำได้ พร้อมทั้งให้สำนักงานเขต 50 เขตรณรงค์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมนัดทิ้ง-นัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันการทิ้งขยะลงคลอง ทั้งนี้ได้มอบหมายที่ประชุมเร่งดำเนินการในส่วนที่ได้รับมอบหมายและรายงานผลในการประชุมครั้งต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising