วันนี้ (11 พฤษภาคม) คำรณ โกมลศุภกิจ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2565 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
ในวันนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของสภากรุงเทพมหานครที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 (คงเหลือจำนวน 26 คน)
ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญ จำนวน 6 คณะ ดังนี้
- คณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการบูรณาการและการขับเคลื่อนการปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ แนวทางการบริหารจัดการที่ดีในการแก้ไขสถานการณ์โควิดของกรุงเทพมหานครในภาพรวม ต้องรีบแยกผู้ติดเชื้อโควิด ดำเนินการตรวจเชิงรุก เพื่อหาผู้ติดเชื้อทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์พักคอย (Community Isolation) โรงพยาบาลสนาม จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และทำการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และควรมีการพิจารณาผ่อนคลายการปฏิบัติให้กับสถานที่ หรืออาชีพของภาคเอกชนและประชาชน เพื่อให้สามารถประกอบกิจการได้ ภายใต้การบริหารการจัดการที่ดีด้านสาธารณสุข โดยต้องพิจารณาทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารสถานการณ์โควิดด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม
- คณะกรรมการวิสามัญศึกษาเรื่องการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ควรมีช่องทางในการรับแจ้งข้อขัดข้องของประชาชน กรณีที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ควรเผยแพร่ข่าวสารความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการจัดการเลือกตั้งทุกระดับของกรุงเทพมหานคร ควรใช้ประโยชน์จากป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่ ป้าย LED ป้ายอัจฉริยะ ตอม่อ รถไฟฟ้า BTS รถโดยสารประจำทาง เพื่อใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมการเลือกตั้งเพิ่มขึ้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของบัตรเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งพร้อมกัน และมีบัตร 2 ใบ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้
- คณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ เพื่อศึกษาว่ามีที่ดินบริเวณใดที่เป็นของกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ หรือที่ดินแปลงใดยังไม่มีการพัฒนา กรณีทรัพย์สินที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นกรรมสิทธิ์หรือตกเป็นของกรุงเทพมหานครตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้หน่วยงานดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพื่อนำทรัพย์สินมาใช้ประโยชน์หรือพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร นอกจากทรัพย์สินประเภทที่ดิน กรุงเทพมหานครยังมีทรัพย์สินประเภทอื่น เช่น อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ครุภัณฑ์ ควรมีการศึกษาเพื่อเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินในอนาคตต่อไป
- คณะกรรมการวิสามัญติดตามการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครในโครงการที่ดำเนินการร่วมกับรัฐบาลตามนโยบายรวมทั้งแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ โครงการที่จะขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลหน่วยงานที่ดำเนินการต้องจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนและเรียงลำดับความสำคัญ เพื่อนำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เมื่อ ครม. เห็นชอบให้ดำเนินการ และควรมีการประชาสัมพันธ์โครงการที่ดำเนินการร่วมกับรัฐบาลผ่านจอ LCD ตามสี่แยกหรือจุดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรับทราบ
- คณะกรรมการวิสามัญศึกษาข้อเท็จจริงและกฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและพื้นที่ต่อเนื่องกัน ได้ศึกษาการดูแลแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองเขื่อนที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ผลการศึกษาพบว่า ฝั่งพระนคร แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจนถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้าได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทำให้ขยะน้อยลง ส่วนฝั่งธนบุรี น้ำในคลองกุฎีจีนมีปัญหามาจากการปล่อยน้ำเสียของชุมชน และคลองปรกอรุณ ยังไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาต่อไป เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำต้องมีแผนดำเนินการเพื่อลดปัญหาความเน่าเสียของน้ำ โดยมีแผนงานที่จะต้องแยกน้ำดีและน้ำเสียออกจากกัน เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำให้เกิดความอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งตรวจสอบว่ามีคลองใดที่มีประตูระบายน้ำแล้ว แต่ยังมีปัญหาในการบริหารจัดการ เช่น ชำรุด เสื่อมสภาพในการใช้งาน หรือล้าสมัย เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพต่อไป
- คณะกรรมการวิสามัญศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ เป็นวาระแห่งชาติ สรุปสาระสำคัญ ในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการในการดูแลผู้สูงอายุหลายด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย ด้านสิทธิประโยชน์ ด้านการให้บริการ ด้านส่งเสริมสุขภาพ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2561-2564)
นอกจากนี้ ในการประชุมได้เสนอรายงานผลงานของคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2565 (เดือนมกราคม-เมษายน 2565) ประกอบด้วย คณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย, คณะกรรมการการศึกษา, คณะกรรมการการจราจรและขนส่ง, คณะกรรมการการระบายน้ำ, คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการการตรวจรายงานการประชุม เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครชุดใหม่ต่อไป
คลิกดูรายชื่อ ส.ก.: https://bmc.go.th/member/