การที่จะทำให้ผ้าไทยกลับมาได้รับความนิยมในปัจจุบันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมนั้นยังมีมาให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในมรดกของประเทศแล้ว ยังเป็นภูมิปัญญาที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายๆ คน
ไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) ไอคอนสยามได้เปิดพื้นที่เพื่อยกย่องเหล่าศิลปินที่สร้างสรรรค์งานผ้าไทย มรดกแห่งภูมิปัญญา โดยจัดงานนิทรรศการผ้าไทยครั้งยิ่งใหญ่ ‘ICONCRAFT Thai Textile Heroes’ จัดแสดงและจำหน่ายชิ้นงานผ้าไทย รังสรรค์โดยศิลปินครูศิลป์ ผู้ปลุกชีวิตผ้าไทยอย่าง อ.เถ่า-มีชัย แต้สุจริยา ผู้ก่อตั้งบ้านคำปุนและพิพิธภัณฑ์คำปุน จังหวัดอุบลราชธานี ศิลปินผู้ปลุกชีวิตผ้าไทยจากแถบอีสานให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จนครั้งหนึ่งผลงานของเขาอย่างผ้ากาบบัวได้ไปอยู่ในมือราชวงศ์อังกฤษ ด้วยงานฝีมือที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และคุณค่าที่มีต่อมรดกจากครอบครัวและชุมชนของเขาเอง เขาลงทุนลงแรงยกกี่ท่อผ้าและเรื่องราวที่อยากจะเล่ามาไว้ที่งานนิทรรศการ ICONCRAFT Thai Textlie Heroes บนชั้น 4 ของศูนย์การค้า ICONSIAM และเราได้พูดคุยกับเขาถึงการเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่เขาอยากเห็นในวงการผ้าไทย
สถานการณ์ในอุตสาหกรรมการทอผ้าในไทยตอนนี้เป็นอย่างไรในยุคโควิด-19
คิดว่าเหมือนกับวงการอื่น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้ซบเซาไปหมด เราเองก็ไม่ได้จัดงาน หรือมีโอกาสได้มาเจอกัน โอกาสที่เราจะใช้ผ้าก็น้อยลงไปด้วย อย่างเช่น งานแต่งงานหรืองานศพที่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ สำหรับตลาดผ้าเลย เพราะผ้าสีดำจะเก่าเร็วที่สุดในบรรดาทุกสี ถ้าจะให้ดูดีอาจจะต้องตัดชุดดำหลายชุด ถ้าเสื้อหมองจะดูไม่งาม
แต่สำหรับงานหัตถกรรมยังถือว่าพออยู่ได้ เพราะผู้บริโภคในระดับที่เป็นลูกค้าประจำยังไม่เดือดร้อนมาก แต่ถ้าเป็นสินค้าไฮเอนด์อาจจะกระทบ เนื่องจากการนำเข้าและส่งออก และสำหรับของคำปุนเอง เราก็ไม่ได้หยุดการผลิตเลย ช่างทอผ้าก็ไม่ได้มีรายได้ลดลง หรือการปรับตัวเรื่องระยะห่าง กี่ทอผ้าเราก็ตั้งห่างกันอยู่แล้ว เรายังพอปรับตัวได้ ผมเห็นหลายที่หันมาทำหน้ากากผ้ากัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว แต่ว่าของคำปุนไม่ได้ทำเลย เพราะถือว่าเราไม่ได้มีความชำนาญเรื่องนี้
อะไรคือเสน่ห์และความงามของผ้าไทยที่ยังทำให้คุณยังให้คุณค่าของมันอยู่
มันคือเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่อยู่ในนั้น ผ้าของเราคุณภาพไม่แพ้ที่อื่นจริงๆ และยังจะมีความผูกพันกับชุมชนที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มันไม่ใช่แค่ผ้าผืนเดียว แต่มันคือคนที่อยู่เบื้องหลังมัน พ่อแม่ผมที่เป็นชาวนา ชาวอีสานที่ชอบทอผ้าไปถวายวัด ทอผ้าเพื่อเป็นของขวัญงานแต่งงาน ทอผ้าเพื่อใส่ไปงานศพ งานมงคล และผมว่าความงามของไทยที่ที่อื่นไม่มีคือกาลเทศะ ความเหมาะสมกับสถานที่และสังคม
ในยุคดิจิทัลแบบนี้มีแฟชั่นและบิวตี้อินฟลูเอนเซอร์มากมายในโซเชียลมีเดียหันมาให้ความสนใจผ้าไทยมากขึ้น คิดอย่างไรกับกระแสนี้
ผมว่าเป็นกระแสที่น่าสนใจ ผมคิดว่าเทรนด์แบบนี้เราต้องมีผู้นำ เราต้องการคนที่สวย ที่เก๋ ที่งาม ที่หล่อ ที่เป็นคนรุ่นนี้นำร่อง ลองให้ดาราที่ได้รับความนิยมได้แต่งไทยแล้วเอาให้ชิคให้เก๋ ไม่ต้องแต่งเป็นไทยโบราณหรือไทยย้อนยุค งานที่ผมทำก็ไม่ใช่งานที่ย้อนยุค ผมนำเอามรดกและวิธีการมาใช้สร้างให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา ผมก็เคยเป็นเด็กนักเรียนที่ต้องศึกษาค้นคว้าเรื่องผ้า ผมว่าเด็กๆ รุ่นใหม่มีความงาม ความน่าสนใจอยู่ในตัว พวกคุณใช้อะไรก็เก๋นะ ผิวพรรณยังสดใส ใส่ผ้าขี้ริ้วก็งาม
คิดว่างานหัตถกรรมกับแฟชั่นสามารถไปควบคู่กันได้ไหม
สิ่งที่เราทำกับผ้าไหมของเราที่มีความนุ่มและเบาเป็นพิเศษจนตัดเป็นผ้าเฉลียงได้ อย่างเช่น ผ้ากาบบัวไม่จำเป็นต้องนุ่งเป็นผ้าซิ่นหรือตัดเสื้อผู้ชายในแบบที่ข้าราชการเขาใช้กัน เราอาศัยรสนิยมและความสามารถของนักออกแบบทั้งคอสตูมดีไซเนอร์ และแฟชั่นดีไซเนอร์ ทำให้ผ้าที่เป็นงานหัตถกรรมของเราที่เป็นงานคราฟต์มากๆ หรือเป็นบางชิ้นที่เป็นระดับงานศิลปะ พวกเขามีส่วนสำคัญมากในการนำเสนอผ้าไทยของเราในรสนิยมและมุมมองส่วนตัวของพวกเขา สำหรับคำปุน เราเพียงแค่เน้นเรื่องงานหัตถกรรม แต่เรามีการใช้สีแบบใหม่ ทั้งสีพาสเทล สี Earth Tone ในผ้าไทย ที่แต่ก่อนไหมไทยจะต้องเป็นสีเบญจรงค์ แต่สมัยนี้คนเขาไม่ใส่ชุดแดงสดกันแล้ว ดังนั้นคงต้องฝากนักออกแบบที่มีบทบาทในการกำหนดเทรนด์และสังคม
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่ทำให้นับวันงานหัตถศิลป์ผ้าไทยเริ่มจางหาย เราสามารถช่วยอย่างไรได้บ้างในฐานะผู้บริโภค
ถ้าคุณซื้อกระเป๋าหนึ่งใบ คุณไม่ได้เพียงช่วยแต่แบรนด์ แต่คุณกำลังช่วยสร้างงานให้คนบางคน คุณซื้อเนกไทเส้นเดียว เราทำให้แปลงหม่อนได้เติบโตต่อไป ทำให้คนที่สาวไหมอยู่ได้ขายต่อไป ทำให้ช่างทอผ้าได้มีโอกาสที่จะทอผ้าไหมต่อไป นั่นเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เล็กๆ จากงานคราฟต์ แต่มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยสำหรับมรดกของชาติ มรดกของโลก เพราะงานหัตถกรรมนี้เราไม่ได้เป็นเจ้าของเพียงคนเดียว แต่คือคนในสังคมและคนรุ่นต่อๆ ไปที่จะช่วยกันรักษา
ในวันนี้มีการจัดงานที่รวบรวมผ้าไทยมากมายจากหลากหลายภูมิภาค คุณมีเคล็ดลับไหมที่ทำให้เจ้าอื่นๆ เป็นที่รู้จักแบบผ้าจากบ้านคำปุน
ตอนที่เราออกแบบผ้ากาบบัวแสงแรก ผมไม่ได้ออกแบบให้บ้านคำปุน แต่ออกแบบให้ชุมชนบ้านซะซอง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ให้เขามีอัตลักษณ์ผ้าของเขา เป็นชุมชนที่รัฐสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยว เราได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนที่อื่นๆ ในประเทศไทย จึงกลายมาเป็นที่มาของผ้าผืนนี้ และมีโอกาสได้ถวายให้ราชวงศ์อังกฤษ เป็นการโปรโมตผ้าและหมู่บ้านนี้มาก ผมจึงอยากให้ท่านที่มีความสามารถจงดูแลชุมชนตัวเองให้ดี ผ้าแต่ละที่มีตัวตนที่ต่างกัน มีเรื่องราวที่ต่างกัน ซึ่งเราต้องช่วยกันให้เขาอยู่ได้ ทั้งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอ และการสนับสนุนจากภาครัฐ
การที่ทำให้คนทั่วไปได้มาเจอกับผลงานทอผ้าของจริงจากศิลปินจะมีผลดีต่ออุตสาหกรรมการทอผ้าไทยอย่างไร
คนที่มาเดินงานนี้ที่ ICONSIAM อาจจะไม่แต่งไทย ใช้ผ้าไทยทุกคน ในร้อยคนอาจจะมีหนึ่งคนที่ใส่ผ้าไทยจุดประกายให้ความหวังให้กับคนที่กำลังร่วงโรย เราก็มีความหวังว่าเขากลับมาดูแลสิ่งที่จะหลุดลอยไปจากสังคม ยังมีคนที่เห็นประโยชน์ของมัน ตอนที่ผมเปิดบ้านคำปุนมา มีนักเรียนนักศึกษาเข้ามาดูงาน บางปี 70 บางปี 30 คน ปีนี้ผมหวังแค่คนเดียวที่มีความจริงใจ แล้วก็ซาบซึ้งใจจริงๆ มีความสุขจริงๆ ที่จะอยู่กับงานผ้าไทย ผมพอแล้ว ผมไม่เอาเยอะ คนคนนี้สำคัญมาก
เหมือนตอนที่อุบลฯ กำลังจะหมดคนทอผ้า ผมก็ไม่ได้สนใจผ้าเท่าไรตอนนั้น แต่ผมต้องคอยซ่อมเครื่องมือทอผ้าของคุณยาย และเป็นตัวแทนคุณยายเอาผ้ามาส่งที่กรุงเทพฯ จากอุบลฯ จนลูกค้าต้องฝากบอกคุณยายว่าผ้ามีแต่สีเดิม สีน้ำหมาก ผมก็ฮึกเหิม อยากทำให้ผ้าของคุณยายได้การยอมรับให้ได้ ผมยกเอากี่ทอผ้ามาที่นี่ เอาผ้ามาแสดง มาขายที่นี่ ผมก็หวังจะเจอคนคนนั้นที่ยังเห็นคุณค่าของมันอยู่
แล้วอยากให้คนที่เข้ามางานนิทรรศการ ICONCRAFT Thai Textlie Heroes ได้อะไรกลับบ้านไป
ผมอยากแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยเราไม่ทอดทิ้งกัน รวมถึงพวกคุณที่นำข่าวสารไปบอกต่อ นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผม ผมไม่รู้ว่าจะมีคนอ่านกี่คน แต่หนึ่งในนั้นคงจะมีคนที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เรารักษาแทนคนทั้งชาติว่าเรายังมีสิ่งที่เราภูมิใจอยู่ และยังมีคนที่คอยเกื้อกูลกัน เราได้เห็นศูนย์การค้าระดับนี้ให้พื้นที่ทั้งชั้นเพื่องานหัตถศิลป์ เราต้องให้โอกาสกับคนที่ถูกคน ให้โอกาสกับคนที่จะไปช่วยชุมชนและคนอื่นๆ ก็เพราะวันนี้มีโอกาสสำคัญ เราอยากมาเสนอสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น มาจัดแสดง อยากให้ทุกท่านที่มาดูได้ตรงนี้กลับไป ทั้งมรดก ประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ ที่จะสร้างอาชีพและความภาคภูมิใจต่อไปในอนาคต
สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นกับผ้าไทยในวงการแฟชั่นบ้านเรา
ผมไม่อยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาแต่งไทยแบบเต็มหรอก ผมต้องการให้เขานำผ้าไทยไปปรับใช้ ไปแมตช์เอง อย่างสมัยก่อนนิตยสาร พลอยแกมเพชร มาสัมภาษณ์ผมเพราะผมเป็นผู้ชายนุ่งโสร่งอีสาน แต่สมัยนี้เขาอาจจะไม่กล้านุ่งไปไหนกันแล้ว แต่ตอนนี้มีชมรมในมหาวิทยาลัยนุ่งผ้าโสร่ง นุ่งผ้าซิ่นเอง เพราะผมทำมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนี้มันก็ยังไม่สายเกินไป ผมต้องการให้เขาเกิดความรู้สึกเองว่ามันไม่เลวนะ อยากให้มันเป็นเหมือนเสื้อยืดที่ทุกคนใส่ได้ ใส่ง่าย ไม่ต้องไปแต่งชุดไทยบางระจัน เอาแค่สิ่งที่ตัวเองมีในตู้ ไม่ต้องเต็มเครื่องแบบ ให้โอกาสตัวเองได้สร้างสไตล์ของตัวเอง สร้างเอกลักษณ์ตัวเอง บ่มเพาะให้ดี ศึกษาหาความรู้เพื่อให้เรามีสไตล์เป็นของตัวเอง แล้วจะไปได้ไกล ตราบใดที่คนยังใส่เสื้อผ้า ผ้าเราก็ไม่ตายหรอก ผมเชื่ออย่างนั้น
สามารถค้นหาแรงบันดาลใจและสัมผัสมรดกทางวัฒนธรรมที่หาดูได้ยากในงาน ICONCRAFT Thai Textile Heroes นิทรรศการผ้าครั้งยิ่งใหญ่ของเหล่าศิลปินผู้สร้างสรรค์งานผ้าไทย มรดกภูมิปัญญามากมาย ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 สิงหาคม 2563 ณ บริเวณไอคอนคราฟต์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม