×

3 นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบไวรัสตับอักเสบซี คว้าโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2020

06.10.2020
  • LOADING...
Science Find นักวิทยาศาสตร์

HIGHLIGHTS

  • ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีราว 70 ล้านคน และถูกพรากชีวิตไป 400,000 คน ขั้นตอนแรกสุดของการกำจัดโรคติดต่อร้ายแรงนี้ให้สิ้นซาก คือการค้นหาตัวการก่อโรคให้เจอ ต่อไปนี้คือเรื่องราวการสืบเสาะและพิสูจน์การมีอยู่ของไวรัสตับอักเสบซี

คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล ได้ตัดสินใจมอบรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ประจำปี 2020 แก่ ฮาร์วีย์ เจ อัลเทอร์, ไมเคิล ฮอตัน และชาร์ลส์ เอ็ม ไรซ์ 3 นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C virus)

 

สร้างสารควบคุมการแข็งตัวของเลือด สร้างน้ำดีเพื่อช่วยย่อยไขมันและดูดซึมวิตามิน กำจัดสารพิษ เก็บสะสมสารอาหาร ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ ‘ตับ’ ต้องรับผิดชอบ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าหากอวัยวะชิ้นนี้ทำงานผิดปกติไปจะส่งผลต่อร่างกายของเรามากเพียงใด

 

ภาวะตับอักเสบ (Hepatitis) เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้รับสารพิษ การแพ้ภูมิตัวเอง รวมทั้งการติดเชื้อไวรัส

 

เชื้อไวรัสตับอักเสบมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด ไวรัสตับอักเสบเอ แพร่กระจายผ่านน้ำและอาหารที่ปนเปื้อน ซึ่งไม่ร้ายแรงมากนักเมื่อเทียบกับชนิดบีและซี สองชนิดหลังติดต่อผ่านเลือด และทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง จนนำไปสู่อาการตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด หนทางรักษาหลักเมื่ออาการของโรคดำเนินมาถึงขั้นสุดท้าย คือการปลูกถ่ายตับใหม่เข้าสู่ร่างกาย

 

ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีราว 70 ล้านคน และถูกพรากชีวิตไป 400,000 คน ขั้นตอนแรกสุดของการกำจัดโรคติดต่อร้ายแรงนี้ให้สิ้นซาก คือการค้นหาตัวการก่อโรคให้เจอ ต่อไปนี้คือเรื่องราวการสืบเสาะและพิสูจน์การมีอยู่ของไวรัสตับอักเสบซี

 

ฮาร์วีย์ เจ อัลเทอร์ – “ตับอักเสบที่ไม่ใช่ทั้งเอและบี”

นักวิทยาศาสตร์รู้จักไวรัสตับอักเสบชนิดเอและบีตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1960 และพัฒนาชุดตรวจไวรัสขึ้นมาได้ในเวลาไม่นาน แต่ฮาร์วีย์ซึ่งทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ในธนาคารเลือดของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institue of Health) สหรัฐอเมริกา ณ ขณะนั้น กำลังเป็นกังวลถึงผู้ป่วยจำนวนมากที่แสดงอาการตับอักเสบหลังจากได้รับการถ่ายเลือด แม้ว่าเลือดเหล่านั้นจะตรวจไม่พบไวรัสตับอักเสบเอและบี!

 

ทีมของฮาร์วีย์ได้พิสูจน์ว่าน้ำเลือดของผู้ป่วยตับอักเสบทำให้ชิมแปนซีแสดงอาการตับอักเสบได้เช่นกัน แสดงว่ายังมีเชื้อโรคอีกหนึ่งชนิดนอกเหนือจากไวรัสตับอักเสบเอและบี และนี่คือก้าวแรกที่สำคัญ ภารกิจถัดไปคือการแยกอนุภาคของไวรัสออกมาให้ได้

 

ไมเคิล ฮอตัน – การค้นพบเพียงหนึ่งเดียว

ในปี 1989 ไมเคิล ฮอตัน ทำงานอยู่ในบริษัทยา Chiron Corporation ก็กำลังสนใจเชื้อก่อโรคตัวใหม่นี้ และได้ใช้เทคนิคทางชีววิทยาระดับโมเลกุลกับภูมิคุ้มกันวิทยาจนสามารถสร้างโคลนไวรัสใหม่ขึ้นมาได้สำเร็จ

 

งานของไมเคิลตั้งอยู่บนสมมติฐานสองข้อ ได้แก่ สัตว์ทดลองที่ติดเชื้อไวรัสจะต้องมีสารพันธุกรรมของไวรัสอยู่ในกระแสเลือด และน้ำเลือดของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสจะต้องมีแอนติบอดีต่อไวรัสล่องลอยอยู่

 

แอนติบอดีเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อจับกับเชื้อโรค และมันมีความจำเพาะเจาะจงต่อโครงสร้างของเป้าหมายอย่างมาก ดังนั้นหากเราสามารถสกัดแอนติบอดีต่อไวรัสออกมาได้ เราจะสามารถใช้มันเป็นเบ็ดตกไวรัสได้นั่นเอง

 

ทีมของไมเคิลใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมตัดต่อยีนของไวรัสเข้าไปในเซลล์แบคทีเรียเพื่อให้มันสร้างโปรตีนของไวรัสขึ้นมา แล้วใช้แอนติบอดีช่วยควานหาโปรตีนของไวรัสบนแบคทีเรีย ผลปรากฏว่ามีแบคทีเรียเพียงกลุ่มหนึ่งที่แสดงผลว่ามีโปรตีนของไวรัสอยู่บนเซลล์ของพวกมันจริงๆ

 

นับว่าเป็นโครงการวิจัยที่คุ้มค่า เพราะเมื่อถอดรหัสสารพันธุกรรมออกมาก็พบว่า นี่คือไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จึงได้รับการตั้งชื่อว่า ‘ไวรัสตับอักเสบซี’ จนทำให้นักวิทยาศาสตร์พัฒนาชุดตรวจหาไวรัสตับอักเสบซีได้ในเวลาไม่นาน

 

ชาร์ลส์ เอ็ม ไรซ์ – การพิสูจน์ขั้นสุดท้าย

ยังเหลือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในงานวิจัยชุดนี้ นั่นคือการพิสูจน์ว่าเพียงแค่ชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัสก็สามารถก่อโรคตับอักเสบได้

 

ทีมของชาร์ลส์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington University) สนใจชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัสที่ทำให้มันเพิ่มจำนวนตัวเองขึ้นมาได้ แต่ในช่วงแรกพวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จในการพิสูจน์ความสามารถในการก่อโรค เมื่อถอดรหัสสารพันธุกรรมออกมาก็พบว่า ตัวอย่างที่พวกเขาศึกษามีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของไวรัสได้

 

วิธีแก้คือการถอดรหัสสารพันธุกรรมของไวรัสที่คัดแยกมาได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งแตกต่างกัน แล้วนำมาเปรียบเทียบเพื่อหารหัสสารพันธุกรรมที่สมบูรณ์ จากนั้นนำสารพันธุกรรมที่สังเคราะห์ขึ้นมาได้มาทดสอบความสามารถในการก่อโรค

 

พวกเขาพบว่าชิมแปนซีที่ได้รับสารพันธุกรรมนี้เข้าไปแสดงอาการเหมือนกับโรคตับอักเสบ ทั้งยังค้นพบอนุภาคของไวรัสในเลือดเป็นเวลานานหลังจากได้รับสารพันธุกรรมเข้าไปแล้ว

 

และนี่คือปริศนาชิ้นสุดท้ายที่ไขกระจ่าง ทำให้มนุษยชาติรู้จักและเข้าใจเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมากขึ้น ทำให้การติดเชื้อไวรัสหลังจากได้รับการถ่ายเลือดเข้ามาลดลงไปอย่างมาก ทั้งยังเป็นการกรุยทางไปสู่การพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่โรคนี้สามารถรักษาได้ นับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มวลมนุษชาติอย่างแท้จริง

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising