เกิดอะไรขึ้น:
โรงพยาบาลเอกชนไทย (BDMS, BH, BCH และ CHG) รายงานรายได้จากบริการที่ไม่เกี่ยวกับโควิด ที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ 4Q64 และต่อเนื่องมาถึง 1Q65 BCH และ CHG โดดเด่นกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ เนื่องจากรายได้จากบริการที่ไม่เกี่ยวกับโควิดใน 1Q65 อยู่ที่ 126% และ 130% ของระดับก่อนเกิดโควิดตามลำดับ
ในขณะที่ BDMS และ BH ปรับตัวดีขึ้นสู่ 93% และ 71% ของระดับก่อนเกิดโควิดตามลำดับ ซึ่งมองว่าฐานผู้ป่วยคนไทยขนาดใหญ่ของ BCH และ CHG เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ยังเชื่อว่าความต้องการรักษาโรคที่ไม่เกี่ยวกับโควิดจะเติบโตต่อเนื่องใน 2H65 สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และความสามารถในการให้บริการที่มีมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้มีการสำรองไว้สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด
ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับบริการที่ไม่เกี่ยวกับโควิดใน 2H65 คือ บริการผู้ป่วยชาวต่างชาติที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะ BDMS และ BH รายได้จากบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติใน 1Q65 สำหรับ BDMS และ BH เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 75% และ 73% ของระดับก่อนเกิดโควิดตามลำดับ โดยได้รับการสนับสนุนจากความต้องการใช้บริการที่แข็งแกร่งจากผู้ป่วยจากกลุ่มประเทศ CLMV และตะวันออกกลาง
โดยมองว่ารายได้จากบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติจะเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางเพื่อให้เดินทางเข้าประเทศง่ายขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยอยู่ที่ 266,000 คนในเดือนเมษายน (เพิ่มขึ้น 26%MoM) และตัวเลขเพิ่มขึ้นสู่ 253,000 คนในระหว่างวันที่ 1-18 พฤษภาคม 2565
ด้านฐานผู้ป่วยจะแข็งแกร่งมากขึ้นหลังโควิดผ่านพ้นไป ซึ่งคาดว่ารายได้จากบริการโควิดจะเริ่มลดลงใน 2Q65 จากฐานสูงในปี 2564 เนื่องจากการฉีดวัคซีนได้ในวงกว้างมากขึ้นจะส่งผลทำให้ความรุนแรงของโรคโควิดลดลง ซึ่งจะทำให้ความต้องการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลปรับลดลง และการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาลจะลดลงเช่นกัน
ในระยะยาวคาดว่าฐานผู้ป่วยที่แข็งแกร่งขึ้นสำหรับโรงพยาบาลเอกชนนับตั้งแต่เกิดโควิด เพราะมีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก จะส่งผลทำให้ความต้องการรักษาภาวะลองโควิด (Long COVID) ปรับตัวเพิ่มขึ้น และน่าจะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราเหมาจ่ายขั้นพื้นฐานรายหัวสำหรับโครงการประกันสุขภาพของรัฐบาล ที่รวมถึงบริการประกันสังคม ทั้งนี้ตามข้อมูลจากกรมควบคุมโรค จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยอยู่ที่ 4,400,000 คน เทียบกับไข้หวัดใหญ่ที่ 213,000 คนต่อปี (ค่าเฉลี่ยในปี 2559-2563)
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มการแพทย์ (SETHELTH) ปรับลดลง 2.08%MoM โดย
ราคาหุ้น BDMS ปรับลดลง 0.9%MoM อยู่ที่ระดับ 26.00 บาท
ราคาหุ้น BH ปรับเพิ่มขึ้น 3.2%MoM สู่ระดับ 173.50 บาท
ราคาหุ้น BCH ปรับลดลง 15.0%MoM อยู่ที่ระดับ 18.60 บาท
ราคาหุ้น CHG ปรับลดลง 11.5% MoM อยู่ที่ระดับ 3.54 บาท
มุมมองต่อผู้ประกอบการ:
SCBS พบว่าความต้องการรักษาโรคที่ไม่เกี่ยวกับโควิด และบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติเติบโตเพิ่มขึ้นใน 1Q65 และคาดว่าโมเมนตัมจะแข็งแกร่งต่อเนื่องใน 2H65 โดยได้รับการสนับสนุนจากภาพรวมที่เป็นบวกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและการเปิดประเทศ
SETHELTH ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16%YTD ดีกว่า SET ที่ลดลง 2% สะท้อนถึงความชื่นชอบที่ตลาดมีต่อหุ้นกลุ่มการแพทย์ในฐานะหุ้นปลอดภัย อย่างไรก็ดี SCBS เลือก BDMS เป็นหุ้นเด่น โดยคาดว่าปี 2565 กำไรมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 39% สู่ 1.06 หมื่นล้านบาท สูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด โดยรายได้จะเติบโต 12% และคาด EBITDA Margin จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 24.7% ซึ่งเชื่อว่า BDMS มีความสามารถในการส่งผ่านต้นทุน เพราะโดยปกติแล้วผู้ประกอบการในธุรกิจการแพทย์มีอำนาจในการกำหนดราคาสูง
ทั้งนี้ราคาหุ้น BDMS เทรดที่ P/E ปี 2565 ระดับ 40 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีตในปี 2558-2562 ที่ 41 เท่า และมองเป็นหุ้น Laggard Play เนื่องจากราคาหุ้นเทรดสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ 4% ยังปรับขึ้นช้ากว่าหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มการแพทย์
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP