×

สธ. ยืนยันปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ เพิ่มทางเลือกดูแลสุขภาพ ย้ำไม่สนับสนุนให้ใช้เพื่อความบันเทิง-สันทนาการ

โดย THE STANDARD TEAM
09.06.2022
  • LOADING...
กัญชาเพื่อการแพทย์

วานนี้ (8 มิถุนายน) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ปลัด สธ.) กล่าวว่า หลังปลดล็อกกัญชาในวันที่ 9 มิถุนายน สิ่งที่อยากทำความเข้าใจคือ ไม่มีผูกขาด ประชาชนปลูกได้เพื่อดูแลสุขภาพในครัวเรือน ลดรายจ่ายการรักษา เพิ่มทางเลือกดูแลสุขภาพ โดยสามารถแสดงตนด้วยการจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน ‘ปลูกกัญ’ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนการทำธุรกิจในเชิงพาณิชย์ให้ดำเนินภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ของ อย. เช่นกัน

 

นอกจากนี้ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สธ. เตรียมพร้อมรองรับผลกระทบกรณีหากนำไปใช้ไม่เหมาะสม เช่น เสพ สูบ โดยออกประกาศระบุกลิ่นและควันกัญชาเป็นเหตุรำคาญ จะมีโทษตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งตนจะลงนามต่อไป หรือห้ามจำหน่ายและใช้ในสตรีมีครรภ์ ให้นมบุตร และในผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

 

“จะเห็นว่าเราไม่ได้ให้ใช้ครอบคลุมถึงเรื่องบันเทิง สันทนาการ โดยตอนนี้ สธ. ตั้งคณะกรรมการติดตามการใช้กัญชา เพราะเมื่อปลดล็อกคงมีการใช้มากกว่าที่คิด ใช้ในรูปแบบต่างๆ หรือใช้ไม่เหมาะสม เช่น มากเกินไป เกิดการเร่งปฏิกิริยา หรือมีสารสกัดใดๆ มาผสม อาจมีปัญหาสุขภาพได้ ก็จะเข้ามาในระบบติดตามการเจ็บป่วย ทั้งด้านจิตใจ ภาวะมึนเมา รวมถึงอุบัติเหตุว่ามากขึ้นหรือไม่ เพื่อกำหนดวิธีการแก้ไขต่อไป และจะเร่งนัดประชุมให้ข้อมูลผู้เกี่ยวข้องไปป้องปราม เพื่อไม่ให้นำไปใช้ในทางไม่เหมาะสม” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

 

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตอบคำถามที่ว่าปลดล็อกแล้วจะปลูกได้เลยหรือไม่ ปลูกได้เท่าไรนั้น โดยกล่าวว่า การปลูกไม่ต้องขออนุญาต แต่ให้จดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน ‘ปลูกกัญ’ และบนเว็บไซต์ ซึ่งการจดแจ้งมีขั้นตอนง่ายๆ เหมือนลงทะเบียนทั่วไปคือ ชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ จะให้ลง OTP และรายละเอียดวัตถุประสงค์ว่าปลูกเพื่ออะไร เช่น ดูแลสุขภาพตัวเอง ใช้ดูแลผู้ป่วยในการแพทย์แผนไทย หรือใช้ในอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อจะทำให้ติดตามคนที่ปลูกได้ เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลได้ และอนาคตเมื่อ พ.ร.บ.กัญชาฯ ออกมาแล้ว ก็เอาข้อมูลตรงนี้กลับมาอยู่ในระบบ พ.ร.บ. ได้โดยตรง จะรู้ได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน หากไม่แจ้งอาจจะลำบากเมื่อ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้แล้ว

 

“สารสกัดที่มี THC มากกว่า 0.2% เท่านั้นที่เป็นสารเสพติด ดังนั้นการทำสารสกัดต้องขออนุญาต ซึ่งทำกันมาอยู่แล้วภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ส่วน THC น้อยกว่า 0.2% จะไม่ถูกจัดให้เป็นยาเสพติด ส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ที่จะผสมกัญชา-กัญชง จะมีกฎหมายผลิตภัณฑ์นั้นๆ ควบคุม ทั้งยา อาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ สำหรับการทำเชิงอุตสาหกรรมพาณิชย์จะทราบว่ามีสเปกอย่างไร ใส่สารสกัดได้ขนาดไหน

 

“ทั้งนี้ ยังห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีส่วนผสมกัญชา-กัญชง เพื่อสร้างนวัตกรรมผู้ผลิตในประเทศ ส่วนส่งออกทำได้ แต่ต้องดูกฎกติกาประเทศคู่ค้าปลายทาง หากเป็นไปตามมาตรฐานเขาก็ไม่มีปัญหา ขณะที่ตัวพืชกัญชาและกัญชงยังห้ามนำเข้า แต่ถ้าเป็นตัวเมล็ดสามารถนำเข้าได้ตาม พ.ร.บ.กักพืช” นพ.ไพศาลกล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าผลิตภัณฑ์อาหารมีข้อกำหนดการใส่สารสกัดอย่างไร นพ.ไพศาลกล่าวว่า สำหรับร้านอาหารที่ปรุงจำหน่ายโดยตรง ทางกรมอนามัยจะออกคำแนะนำว่าเมนูไหนใส่อย่างไร ในปริมาณเท่าไร ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารอย่างเครื่องดื่มจะมีสเปกอยู่ว่าใส่ไปแล้วต้องไปวิเคราะห์สาร THC ซึ่งการไม่เป็นยาเสพติดคือไม่เกิน 0.2% แต่จริงๆ แล้ว ที่ใส่ในเครื่องดื่มจะน้อยกว่านั้น คืออยู่ที่ประมาณ 0.032% ต่อแพ็กเกจ ซึ่งมาจากการคำนวณค่าความปลอดภัยที่คำนึงถึงอายุและกรณีเลวร้ายที่สุดด้วย

 

ขณะที่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. กล่าวว่า หลังจากนี้ต้องช่วยกันสื่อสารให้ทราบว่ากัญชาไม่ได้ใช้เพื่อสันทนาการ การนำเข้ามาเพื่อสูบในที่สาธารณะยังผิดกฎหมายจากเหตุรำคาญ มาตรา 25 (4) มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

ส่วนเรื่องการโฆษณา ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะหารือกันเพื่อห้ามโฆษณากัญชาด้านสันทนาการการสูบ ส่วนการมึนเมา การขับรถ มี พ.ร.บ.จราจร กำหนดไว้แล้วสำหรับผู้เสพของมึนเมาผิดกฎหมาย ส่วนการมึนเมาในที่สาธารณะ กฎหมายอาญากำหนดผู้มีสภาพมึนเมาก็ผิดอาญาอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องนี้เป็นแนวทางที่ สธ. ต้องประสานกับผู้ที่มีกฎหมายต่างๆ สามารถเข้ามาบังคับใช้ได้ในช่วงนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X